การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอน หรือ Omicron ได้ส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากหากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับชะลอลงอย่างมีนัย
การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัว อาจยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางที่ให้ความสำคัญต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเลื่อนการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวออกไป
แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มทำให้ปัญหาการหยุดชะงักของอุปทาน (supply chain disruption) ทั้งในภาคการผลิตและภาคขนส่งทั่วโลกรุนแรงขึ้น และกดดันให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ในภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีแล้ว จนอาจสร้างคาดการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นไปมากจากเดิม และธุรกิจต่างๆ แห่ปรับราคา อาจทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเร็วขึ้น
เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ที่ได้ดำเนินการปรับลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หรือ QE Tapering ในอัตราที่เร็วขึ้น ทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินอาจปรับลดลงเร็วกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ภาวะการเงินปรับตึงตัวขึ้นเร็ว อีกทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดขนาดงบดุลในปีนี้ ก็อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกอย่างไร?
ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และอัตราแลกเปลี่ยน ดังนี้
• ผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอาจผันผวนและปรับลดลงได้ตามความต้องการเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนในช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ อาจปรับลดลงตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นในบางช่วงได้
ทั้งนี้ หลังมีการเปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC minutes ของ Fed เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งตัวอายุสั้นและตัวอายุยาว ก็ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในระยะต่อไปหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทยอยคลี่คลายตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีก ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ตึงตัว และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการสื่อสารถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของ Fed
• ผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย ทิศทางค่าเงินในปี 2565 ของประเทศต่างๆ จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงอาจเผชิญกับการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนมาก
เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวน้อย นอกจากนี้ประเทศที่ภาครัฐควบคุมการแพร่ระบาดได้ไม่ดีก็อาจเผชิญกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวนและมีแนวโน้มไหลออกมากกว่าตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับลดลงเร็ว ค่าเงินจึงอ่อนค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศที่บริหารจัดการได้ดีกว่า
ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่มากขึ้น และตามสภาพคล่องที่คาดว่าจะลดลงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed โดยการแพร่ระบาดของโอมิครอนส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้น
โดยเฉพาะในระยะสั้นที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับลดลงในช่วงที่การแพร่ระบาดรุนแรง นักลงทุนจะหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพเศรษฐกิจเปราะบางกว่า นอกจากนี้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นในปีนี้ด้วย
ตลาดการเงินไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยมีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ดังนั้นอัตราผลตอบแทนฯ ของไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น โดยในบางช่วงของการแพร่ระบาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอาจปรับลดลงได้ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ที่อาจลดลง
อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.2-2.3% ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยที่คาดว่าจะมีออกมามากขึ้นตามความต้องการระดมทุนของภาครัฐไทย
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีของไทยมีแนวโน้มทรงตัวตามแนวโน้มการคงดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง จึงทำให้เส้นอัตราผลตอบแทน หรือ Yield Curve ของไทยมีแนวโน้มปรับชันขึ้นในปี 2565 หรือ Yield Curve Steepening
ในระยะสั้น เงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังมีความผันผวนและค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าในบางช่วง แต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้น คาดว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง โดยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศรุนแรง และมีรายงานข่าวการติดเชื้อในประเทศ เงินทุนเคลื่อนย้ายได้ไหลออกจากตลาดทุนไทย อย่างไรก็ดี คาดว่าปริมาณเงินที่ไหลออกจะไม่รุนแรงนักเนื่องจากไทยยังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
ดังนั้น จึงคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศอาจปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเป็นปัจจัยกดดันให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากไทยในระยะสั้นได้
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่จะชัดเจนขึ้นและดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะขาดดุลลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
โดยสรุป การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้ภาวะการเงินโลกปรับตึงตัวขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ดีนักอ่อนค่าลง โดยบางธนาคารกลางที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีแล้วอาจเร่งดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว อาจปรับลดลงในบางช่วงตามความต้องการเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่การแพร่ระบาดมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้น อัตราผลตอบแทนดังกล่าวมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปี 2565 ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยและการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ขณะที่ค่าเงินของประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ดีมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ด้านเงินบาทอาจอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศค่อนข้างมาก แต่คาดว่าเงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่จะปรับดีขึ้น และเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น.
บทความโดย ณิชนันท์ โลกวิทูล
นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com