ธปท.ยันใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เน้นกู้ชีพเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อพุ่ง ชี้ถ้า “โอมิครอน” ระบาดแค่ครึ่งปีแรก รัฐไม่ล็อกดาวน์ กระทบเศรษฐกิจไม่มาก ลุ้นอย่ายืดเยื้อไปครึ่งปีหลัง พร้อมเกาะติดกำลังซื้อคนไทย หลังมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย สิ้นสุดไตรมาส 2 ปีนี้ ขณะที่หนี้ครัวเรือน–หนี้ธุรกิจ ยังพุ่งตามหลอน
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ ครั้งที่ 4/64 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 64 คาดจะขยายตัว 3.4% แต่ยังมีความเสี่ยงที่สะสมอยู่ โดยต้องจับตาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และการฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละภาคธุรกิจ เพื่อประเมินภาพในการใช้นโยบายและการออกมาตรการแก้ไข อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญๆในประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก รวมทั้งไทย
“จากการติดตามเงินเฟ้อของไทย พบว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% แม้ช่วงนี้ราคาอาหารสดบางประเภทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมองว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ไม่ได้หมายความว่า ธปท.นิ่งนอนใจกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ”
สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก อาจกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมากกว่าอัตราดอกเบี้ย โดยปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่า และบางครั้งอ่อนค่ามากกว่าภูมิภาค ซึ่งช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจ และค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับเข้ามาจากโอมิครอน ซึ่ง ธปท. พร้อมดูแลหากค่าเงินบาทผันผวนจนสร้างภาระกับระบบเศรษฐกิจมากเกินไป
นอกจากนี้ หากพิจารณาต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ พบว่า ต้นทุนหลักยังเป็นการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนมีไม่มาก จึงอาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของต่างประเทศไม่มาก แต่ ธปท.ยังคงเน้นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อดูแลเศรษฐกิจ และพร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มขึ้นหากจำเป็น รวมทั้งจะใช้มาตรการทางการเงินให้ตรงจุดมากขึ้น ยอมรับว่า แม้ ธปท.ออกมาตรการสินเชื่อใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว แต่ยังมีบางภาคธุรกิจที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคกล่าวว่า คาดว่า ผลกระทบของโอมิครอนต่อเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นหลัก ซึ่งจะกระทบทั้งการใช้จ่ายของประชาชน การส่งออก และการท่องเที่ยว ทำให้ธปท.ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีลงจาก 6 ล้านคน เหลือ 5.6 ล้านคน ภายใต้รัฐบาลไม่ล็อกดาวน์ และจะปิดรับการเข้าประเทศในระบบ Test&Go ไปจนสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ แต่ถ้าโอมิครอนยืดเยื้อ กระทบการท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง อาจทำให้ประมาณการเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ ลดลงได้
ขณะที่ปี 66 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.6% เพราะพบว่า หลายธุรกิจจะกลับมาขยายตัว และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าช่วงก่อนโควิดในปี 62 ยกเว้นในบางธุรกิจในภาคบริการ การท่องเที่ยว และโรงแรมที่การฟื้นตัวยังล่าช้า ขณะเดียวกัน ต้นทุนสินค้า และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ยังไม่เห็นผลชัดเจนจนทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น เพราะกำลังซื้อในประเทศซบเซา แต่ต้องติดตามการใช้จ่ายของประชาชนหลังมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศสิ้นสุดลงในไตรมาส 2 ของปีนี้ รวมทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจได้
ด้านนายสุรัช แทน บุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยลดทอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม.