ยื่นภาษีปี 2564 คนมีรายได้ต้องรู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแบบไหนได้บ้าง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ยื่นภาษีปี 2564 คนมีรายได้ต้องรู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแบบไหนได้บ้าง

Date Time: 6 ม.ค. 2565 08:36 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • วิธีการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564 และการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

Latest


ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีจริงๆ แล้วคนไทยที่มีรายได้ทุกคนควรยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีก็ตาม โดยกฎหมายระบุไว้ว่า 

 - คนไทยทุกคนกรณีที่โสด มีรายได้  และได้เงินเกิน 120,000 บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายเดือนละ 10,000 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี

- คนไทยทุกคนกรณีที่สมรส มีรายได้ และได้เงินเกิน 220,000 บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายเดือนละ 18,333 บาท ต้องมีหน้าที่ยื่นเสียภาษี 

สำหรับการยื่นเสียภาษีในปี 2564 ที่จะยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร จะต้องยื่นภายในวันที่ 1 ม.ค.65 - 8 เม.ย. 65 ซึ่งสรรพากรเองมีการปรับปรุงเว็บไซต์ใหม่เรียกได้ว่ายื่นเสียภาษีได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญมีการป้องกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดมีการส่งรหัส OTP ผ่านมือถืออีกด้วย ส่วนผู้ที่จะยื่นเอกสารเสียภาษีแบบกระดาษจะสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.65 เท่านั้น

ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด. 91 ต่างกันอย่างไร

หลายคนยังสงสัยว่า เราจะยื่นภาษีเงินได้นั้นควรกรอกข้อมูลผ่าน ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ดี โดยข้อแตกต่างมีดังนี้

ภ.ง.ด.90 : รายได้ที่รับจากการจ้างงาน รวมถึงรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุน ค่าเช่าบ้าน เงินปันผล หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีรายได้จากช่องทางอื่น นอกเหนือจากเงินเดือน

ภ.ง.ด.91 : รายได้ที่ได้จากการจ้างงานเพียงอย่างเดียว เช่น เงินเดือน โบนัส เบี้ยประชุม เป็นต้น

สำหรับการลดหย่อนภาษีปี 2564 นั้นมี 4 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (คู่สมรสต้องไม่มีรายได้)

- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาทต่อคน

- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง

- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเอง และของคู่สมรส สูงสุดไม่เกิน 4 คน โดยลดหย่อนได้ 30,000 บาท หรือสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท

- ค่าอุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาทต่อคน โดยผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

2. ค่าลดหย่อนภาษีประกัน การลงทุน และเงินออม

- ประกันสังคมลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,100 บาท

- ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

- ประกันสุขภาพของบิดามารดาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป

- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท

- กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท

- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

- กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท

***กลุ่มการลงทุนนั้นรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท****

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มบริจาค

- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น

- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนภาษีที่อยู่อาศัย

- ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ยื่นแบบภาษีคริปโตเคอร์เรนซี

สำหรับประเด็นการยื่นแบบภาษีคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลนั้น นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปี 2565 นี้ กรมได้ปรับแบบฟอร์มการกรอกเสียภาษีใหม่ให้ชัดเจนขึ้น ในส่วนของช่องรายได้อื่นๆ จากเดิมไม่ได้ระบุว่ารายได้จากแหล่งใด แต่ให้ผู้เสียภาษีเป็นผู้กรอกข้อมูลเอง

เช่น รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก รายได้จากเงินปันผลหุ้น และอื่นๆ แต่ปีนี้ที่ปรับเพิ่มคือ รายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล เพื่อให้ชัดเจน เนื่องจากขณะนี้มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการซื้อขายคริบโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นด้วย การปรับแบบฟอร์มจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีรายได้ทุกคน

"จริงๆ แล้วเรื่องการเสียภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 กำหนดไว้แล้วว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมให้คลิกช่องอื่นๆ ซึ่งก็อธิบายไว้ชัดเจนว่ารายได้จากแหล่งใด เพียงแต่ปีนี้มีการปรับแบบฟอร์มให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีผู้ที่มีรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นจำนวนมากแล้ว"

อย่างไรก็ตาม การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา หากยื่นเอกสารกระดาษจะยื่นได้ถึงวันที่ 31 มี.ค.ของทุกปี ส่วนยื่นแบบเสียภาษีทางออนไลน์ จะยื่นได้ภายในวันที่ 8 เม.ย.ของทุกปี ส่วนจะขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีออกไปหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายว่าจะให้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.ออกไป ดังนั้น ผู้มีรายได้ทุกคนก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีตามวันเวลาที่กำหนดไว้.

ข้อมูลจาก กรมสรรพากร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ