เข้าสู่วันที่ 5 ของปีใหม่ 2565 ปีที่เชื่อว่า “คนไทย” เริ่มมีความหวังมากขึ้น และกำลังพยายามอย่างสุดกำลัง เพื่อที่จะพลิกฟื้นสถานะทางการเงิน ธุรกิจ และภาพรวมเศรษฐกิจของไทยให้เข้าสู่การฟื้นตัวเต็มกำลังอีกครั้ง
โดยหวังว่าจาก “ปีวัว” ที่เคยบาดเจ็บหนักจากวิกฤติโควิด-19 ตลอดปีที่ผ่านมา “เสือ” ตัวนี้จะสามารถเร่งสะสมพละกำลังเพื่อกระโจนไปข้างหน้าได้อย่างสวยงามอีกครั้ง
ขณะที่ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ที่สั่งสมมาจากมูลค่ารายได้ที่ลดลงกว่า 2 ล้านล้านบาท หนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้น จำนวนคนว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันในการฟื้นตัว รวมทั้งประสิทธิภาพในการแข่งขันที่ลดลง ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข
รวมทั้งปัญหาจากต่างประเทศ ทั้ง “ต้นทุน” การผลิตและดำรงชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ผลกระทบจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า หรือแม้แต่เทรนด์ใหม่ๆของโลกอย่างเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม การควบคุมดูแลด้านสาธารณสุข และการใช้มาตรการภาครัฐที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน หรือสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปีหน้านี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุด ว่า เราจะสามารถ “เปิดประตู” สู่การฟื้นตัวหรือกลับไป “ล็อกดาวน์” เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
เรามีโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินไปสู่ “แสงสว่าง” ครั้งใหม่ในปีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ความเสี่ยงที่ต้องรับมือ จุดตายที่สำคัญอยู่ตรงจุดไหน “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ 3 กูรู ในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565
“สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นั้น จะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด–19 เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีทั้งปัจจัยบวกและลบเกิดขึ้น”
โดย “ปัจจัยบวก” ที่จะเข้ามาหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน นโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลไทยจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนั้น การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนในอัตราสูง ผู้คนปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดมากขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้
อย่างไรก็ตาม มี “ปัจจัยลบ” ที่ต้องจับตาเช่นกัน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาว่า จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกัน อาจจะมีผลกระทบจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย และนาโต
“การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ เนื่องจากประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งงบประมาณประจำปี และงบประมาณพิเศษต่างๆ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในปีหน้า รวมทั้งยังจะได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ การเพิ่มขึ้นของการส่งออก และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว”
ส่วนความเสี่ยงสำคัญที่รัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนจะต้องจับตาและเตรียมพร้อมรับมือในปีนี้นั้นจะมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในอัตราสูงถึง 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และสูงติดอันดับที่ 17 ของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมอย่างรัดกุม
“และที่สำคัญที่สุด คือความชะล่าใจของประชาชนจากภาวะการชะลอตัวของผู้ติดเชื้อโควิด–19 ในช่วงนี้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม หากเกิดการระบาดรุนแรง และการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด–19”
มร.โทชิอากิ ยังได้ให้แนวโน้มตลาดรถยนต์ของไทยในปี 2565 ด้วย โดยยอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมของประเทศไทยใน 11 เดือนแรกของปี 2564 ที่ผ่านมา ลดลงประมาณ 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ “อีซูซุ” สามารถทำยอดจำหน่ายได้สูงกว่าปีก่อนหน้านั้นถึง 4.5% และเราคาดว่ายอดจำหน่ายรถรวมทุกประเภทตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 770,000 คัน
สำหรับปี 2565 ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ ยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก และไม่แน่นอนว่าจะคลี่คลายลงเมื่อใด ดังนั้นแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2564 ทำให้ความต้องการรถยนต์ในประเทศสูงขึ้นแต่ความสามารถในการผลิตรถอาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจึงคิดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมของประเทศไทยในปี 2565 จะอยู่ในระดับ 840,000 คัน
มาต่อกันที่ความเห็นภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จาก “กูรู” ฝั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยกันบ้าง โดยให้มุมมองที่น่าสนใจไม่แพ้กันว่า “ผมมองว่าในขณะนี้ เราอย่าไปตื่นตระหนกมากเกินไปกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าปีนี้ประเทศไทยสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเรื่องวัคซีน กระจายให้กับประชาชน ได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็วกว่าปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นก็จะดีกว่า และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่องได้”
โดยแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจหลักของปี 2565 ที่สำคัญที่สุด คือนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ต้องสร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งในมุมของเศรษฐกิจและสังคม เพราะสองเรื่องเชื่อมโยงกัน
ขณะเดียวกัน ต้องเตรียมเม็ดเงินให้พอใส่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินเพิ่ม เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะยังเหลืออยู่เพียงพอที่จะกู้ได้อีกเป็นหลายแสนล้านหรือล้านล้านบาท ในขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่เยอะมากกว่า 8 ล้านล้านบาท เป็นการรับประกันว่าสถานะการเงินของประเทศเราแข็งแกร่ง
นอกจากนั้น ต้องดูแลกฎหมายกฎเกณฑ์ต่างๆที่ไม่เอื้อต่อการกินรวบ รวมทั้งดูแลกลไกต่างๆที่จะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพร้อมส่งเสริมความเท่าเทียมในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่บนยอดปิรามิดรู้สึกมีความหวังมีแรงในการเดินหน้าสู้ต่อ
ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา และเตรียมพร้อมรับมือในปีนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่อง “ปัญหาเงินเฟ้อ” ที่เกิดจากต้นทุนและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน จากการขาดสินค้าวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน โดยมาตรการทางการเงินอย่าง “การขึ้นดอกเบี้ย” ถูกนำมาใช้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณมาแล้วว่า “ปีนี้ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน” ก็จะเกิดแรงกดดันให้ต้นทุนทางการเงินของไทยสูงขึ้นด้วย
“อีกเรื่องก็สำคัญมาก คือ การสร้างโอกาสและการเข้าถึงโอกาสทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ถ้าความหวังและแรงบันดาลใจไม่มี โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ ถ้าเขาไม่รู้ว่าจบออกมาแล้วจะมีงานทำไหม งานที่ทำอยู่จะมั่นคงแค่ไหน รัฐบาลพร้อมที่จะช่วยเขาลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมไหม สิ่งแวดล้อมในอนาคตสำหรับพวกเขาจะแย่ลงไปอีกแค่ไหน อันนี้ ผมว่าสำคัญที่จะเป็นตัวกระตุ้นความเสี่ยงทางด้านความขัดแย้งในสังคมที่จะลุกลามไปเรื่อยๆ”
ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 นั้น มองว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะพยายามปรับธุรกิจตัวเองให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการปรับรูปแบบรับรู้รายได้จากการขายอย่างเดียวไปเป็นการทำธุรกิจให้บริการที่ทำรายได้ต่อเนื่อง (recurring) มากขึ้น
เช่น อพาร์ตเมนต์ โรงแรม อาคารสำนักงาน
ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัย โครงการแนวราบที่เน้นความต้องการแท้จริง (real demand) จะเป็นตัวนำ ตลาดกลุ่มกลาง-กลางบน ระดับราคา 7-10 ล้านจะเป็นหัวหอกของหลายๆผู้ประกอบการ
สำหรับผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ จะเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจที่เพิ่มขึ้นมาที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ
“คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ผลจากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและมีการกระจายฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในหลายโครงการช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาคึกคัก สร้างความมั่นใจให้กับเอกชน นักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงประชาชน ส่งสัญญาณบวกว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่เริ่มจะดีขึ้น และแม้ยังคงมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะโตมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการดูแลระบบสาธารณสุขที่แม้จะมีความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้ามาของโควิดสายพันธุ์ใหม่ เช่น โอมิครอน รัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ มีมาตรการป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้อง “การ์ดไม่ตก”
“ภาครัฐต้องอัดฉีดให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้นอีก ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้ครอบคลุมและกระจายในทุกธุรกิจอย่างทั่วถึง ผลักดันให้ภาคการค้าและบริการกลับมาเติบโตและแข็งแรงได้อีกครั้ง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีอยู่ถึง 2.6 ล้านราย มีการจ้างงานมากที่สุด 12 ล้านราย รัฐบาลควรเร่งให้ความช่วยเหลือให้กลุ่มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยด่วนและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยตัดสินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วหรือช้า”
ถ้าเอสเอ็มอีประกอบธุรกิจต่อไปได้ ลูกจ้าง 12 ล้านคนก็จะมีงานทำ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ในปีนี้เรายังไม่สามารถพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จึงควรกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ
“เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะฟื้นตัวได้ แต่ไม่มาก 3-5% และปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีความเปราะบาง มีปัจจัยกระทบทั้งภายในและภายนอก เราต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ก้าวต่อไป โดยใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย หรือ Living with Covid”
ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังจะเป็นการใช้จ่ายในประเทศต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำให้ต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายภายในประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งกระตุ้นให้มีการจ้างงาน และที่สำคัญที่สุด คือช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวก
“สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้ คือ ถ้าประเทศไทยไม่สามารถพ้นวิกฤติและกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จะทำให้เราเจอกับ “ดับเบิลวิกฤติ” ที่ส่งผลกระทบมาจากประเทศอื่นที่ได้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปแล้ว เช่น ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 20 บาท เป็น 30 บาทภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ดอกเบี้ยที่มีสัญญาณขาขึ้น ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินในกระเป๋าที่มีน้อยอยู่แล้วมีมูลค่าต่ำลงไปกว่าเดิม”
ถ้าประเทศไทยยังฟื้นตัวได้ช้า การฟื้นตัวของโลกจะกระทบโดยตรงและทางอ้อมกับเรา ทั้งต้นทุนการผลิต และการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ผลกระทบสงครามทางการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน และอเมริกา ยังอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั้งโลก รวมถึง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนโยบายที่ใช้แก้ปัญหา
ดังนั้น การรับมือของเอกชนในปีนี้ มองว่า ต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปรับองค์กรให้ยืดหยุ่นคล่องตัว เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ เซ็นทรัลรีเทล ที่ปรับองค์กรโดยเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานเป็นแบบ Digital First ในทุกมิติ
เริ่มตั้งแต่การติดอาวุธให้กับพนักงานทุกคนให้มีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลมากขึ้นทั้ง Reskill และ Upskill ทำให้เราสามารถทรานส์ฟอร์มองค์กรเป็น Digital Retail ได้สำเร็จ นอกจากนั้น เรายังดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายขององค์กรในการเป็น Central to Life หรือศูนย์กลางชีวิตของผู้คน ยึดลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาองค์กร ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตร่วมกับพันธมิตรอย่างยั่งยืน
ส่งท้ายด้วย “มุมมองในการดำรงชีวิตของประชาชนในปี 2565 ซึ่งยังจะต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด มีการวางแผนการเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งจะต้องปรับตัว และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างโอกาสฟื้นตัวไปพร้อมกัน.
ทีมเศรษฐกิจ