เศรษฐกิจบนวิกฤติโควิด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจบนวิกฤติโควิด

Date Time: 29 ธ.ค. 2564 06:58 น.

Summary

  • นพ.แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาด้านโรคระบาดใหญ่ระดับสูงของสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีปัญหาบางประการ ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

นพ.แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาด้านโรคระบาดใหญ่ระดับสูงของสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีปัญหาบางประการ ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในขณะที่ตัวกลายพันธุ์ โอมิครอน ทำให้การรับมือขององค์กรสาธารณสุขทั่วโลกเกิดความตึงเครียด จากค่าเฉลี่ยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในสหรัฐฯค่าเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 175,000 คน นอกจากนี้ยังทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวบินในสหรัฐฯ เพราะความพร้อมในการรับมือตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ และการยกระดับการฉีดวัคซีน ไม่ทันกับการแพร่ระบาดของ โอมิครอนที่แพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วมาก

ซีดีซี หรือ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ ยืนยันว่ามีเรือกว่า 60 ลำ เป็นเรื่อสำราญที่พบผู้ติดเชื้อ โอมิครอน ท่ามกลางทรัพยากรทางการแพทย์ที่เริ่มจำกัด

ปัญหาที่ตามมาคือการตรวจหาเชื้อ โอมิครอน ที่สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่าเชื้อชนิดอื่น แม้แต่การตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ยังมีความคลาดเคลื่อน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องเจอกับผู้ป่วยเป็นด่านแรก

ฝรั่งเศส พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 รายต่อวัน แม้ว่าประชากรในฝรั่งเศสกว่าร้อยละ 76.5 ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว แต่ การฉีดบูสต์เตอร์ ยังไม่มากเท่าที่ควร ฝรั่งเศสเตรียมออกกฎหมายเร่งด่วน กำหนดให้ ผู้ที่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์แล้วเท่านั้น จึงจะถือว่าได้บัตรผ่านโควิด-19

บ้านเราพบผู้ติดเชื้อ โอมิครอน ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่จากนั้นมีการติดเชื้อในประเทศจำนวนหลายร้อยคน มาตรการเข้าประเทศถูกนำกลับมาทบทวน หลังจากที่เกิดการแพร่นะบาดของ โอมิครอน แล้ว เข้าใจว่ารัฐเองก็ต้องการ นักท่องเที่ยว เข้าประเทศให้ได้ตามเป้า โดยลืมคิดไปว่า ในยามที่ โอมิครอน ระบาดหนักขึ้น จะได้คุ้มเสียหรือไม่ จำนวนนักท่องเที่ยว ไม่ได้ตามเป้าแน่นอน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อ โอมิครอน เกินเป้าระหว่างรายรับจากนักท่องเที่ยวกับรายจ่ายที่ต้องใช้สำหรับบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ มูลค่าทางสังคม สุขภาพอนามัยของประชาชน ต้องนำมาคำนวณด้วย

งบประมาณ ที่เราต้องใช้จ่ายในการรับมือกับโควิด-19 รวมทั้งการ ฟื้นฟูเยียวยา ในที่สุดแล้วเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คงไม่พอแน่นอน ยังต้องกู้มาใช้ในระบบงบประมาณ ขาดดุล อีกไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้าน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ยังต้องบวกงบประมาณในการรับมือกับโควิดอีกบานตะไท

ปี 2566 คาด รัฐจัดเก็บรายได้ ที่ 2.49 ล้านล้านบาท รายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ปี 2567 จัดเก็บรายได้ 2.56 ล้านล้านบาท รายจ่าย 3.27 ล้านล้านบาทขาดดุล ที่ 7.1 แสนล้านบาท ปี 2568 จัดเก็บรายได้ 2.72 ล้านล้านบาท รายจ่าย 3.36 ล้านล้านบาท ขาดดุล ที่ 7.23 แสนล้านบาท ปี 2569 จัดเก็บรายได้ 2.72 ล้านล้านบาท รายจ่าย 3.456 ล้านล้านบาท ขาดดุล ที่ 7.36 แสนล้านบาท ขาดดุล มากขึ้นทุกปี

ความผันผวนทางเศรษฐกิจ บนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศ ทิศทางของเศรษฐกิจที่กำหนดปลายทางไม่ได้ ปีหน้าไม่รู้เผาหลอกหรือเผาจริง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ