ระเบิดเวลาอีกลูกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวขาดแคลนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานจาก 3 ประเทศ (เมียนมา-ลาว-กัมพูชา)
แรงงานต่างด้าวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพลิกฟื้น ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานในภาคการผลิตและการบริการบางประเภท ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธ
ย้อนกลับไปในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประเมินว่าปริมาณความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวมีอยู่ประมาณ 424,703 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 256,029 คน กัมพูชา 130,138 คน และลาว 38,536 คน และล่าสุดภาคเอกชนประเมินว่าประเทศ ไทยจะเกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงานต่างด้าวสูงถึง 800,000 คน
โดยประเภทกิจการที่ต้องการจ้างแรงงานมากที่สุด คือเกษตรและปศุสัตว์ ตามมาด้วยก่อสร้าง การเกษตร การผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดคือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ จันทบุรี สมุทรสาคร และระยอง
ในภาวะที่การเปิดประเทศกำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ฟันเฟืองเศรษฐกิจเริ่มกลับมาทำงานได้เกือบสมบูรณ์อีกครั้ง ภาคการผลิตที่กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน จะกลายเป็นระเบิดเวลาทำลายล้างการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปหรือไม่ นี่คือนานาทัศนะจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้...
โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทยอยเดินทางกลับประเทศ จนหลังการแพร่ระบาดเริ่มลดลง ภาคการผลิตและการบริการเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมได้มากขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้
เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเข้าเมืองและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการตรวจร่างกายที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการเข้าเมืองมีความยุ่งยาก ลักษณะงานบางประเภทที่แรงงานไทยไม่ยอมทำ หรือมีการแข่งขันดึงแรงงานต่างด้าว เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ให้ค่าจ้างที่สูงกว่า ส่งผลให้สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานต่างชาติมีความรุนแรงต่อเนื่อง
ทำให้ในปัจจุบันภาคธุรกิจยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน มากกว่า 500,000 คน โดยส่วนใหญ่อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาการขาดแคลน จะมีการใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อาหาร ก่อสร้าง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด -19 กับประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มปริมาณแรงงานต่างด้าวให้กับภาคเอกชน ด้วยกลไกการควบคุมโรคตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงก่อนเข้าโรงงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน
“สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2565 ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น ตลาดต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวที่ทำให้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่ดี จะส่งผลให้มาตรการต่างๆที่เป็นข้อจำกัดต่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมีโอกาสลดลง ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ดียิ่งขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา”
ส.อ.ท. เห็นว่าแนวทางการจัดการแรงงานต่างด้าว ถ้าพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ที่เน้นการอำนวยความสะดวกขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าว การหาสถานที่กักตัวให้เพียงพอ และผลักดันมาตรการลดต้นทุนเกี่ยวกับมาตรการคัดกรองโควิด-19 ให้กับผู้ประกอบการแล้ว
การแก้ปัญหาในระยะยาวยิ่งมีความจำเป็น โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทยให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของโลก ทั้งในมิติอุตสาหกรรม 4.0 หรือการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมใหม่ (S-Curve) ที่ยังมีปริมาณความต้องการแรงงานทักษะสูงกว่า 475,888 อัตรา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์แห่งอนาคต และการแพทย์ครบวงจร ที่ต้องมีการพัฒนาแรงงานให้เกิดการพัฒนาทักษะ ทั้งระบบ และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต เพื่อบรรเทาสถานการณ์ความ ต้องการแรงงาน
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงขณะนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย ที่เห็นแรงงานต่างชาติในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่ลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย
“ณ เดือน ธ.ค. จากการสำรวจของ ส.อ.ท.สมุทรสาคร พบว่าโรงงานที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. ยังต้องการจ้างแรงงาน 35,000 คน และยังไม่รวมกับโรงงานที่เข้าไม่ถึงการสำรวจคาดว่าจะขาดแคลนอีก 12,000 คน รวมแล้วเกือบ 50,000 คน”
ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งการทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) นำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมายให้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ หากล่าช้าไปเพียงวันเดียว ก็จะทำให้ศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกถดถอยลงทุกวัน เพราะการขาดแคลนแรงงานบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จึงเกิดความ
ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต
“ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ หากโรงงานแห่งหนึ่งต้องการจ้างแรงงาน 500 คน แต่จ้างได้เพียง 400 คน ก็ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลังการผลิต ทำให้สูญเสียรายได้ไปโดยไม่ควรที่จะสูญเสีย”
ภาคเอกชนขอเสนอให้กระทรวงแรงงานเปิดเสรีนำเข้าแรงงานต่างชาติให้เข้ามาโดยผ่านการกักตัวตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขได้แล้ว เพราะขณะนี้มีการเปิดประเทศ และควรลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนลง รวมทั้งให้ลดค่าธรรมเนียมจากการนำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมายที่ขณะนี้ 1 คน นายจ้างต้องมีค่าใช้จ่าย 20,000-50,000 บาทต่อคน
“อย่าวิตกไปเกินเหตุว่าเจ้าของโรงงานจะไม่ให้ความร่วมมือในการกักตัวแรงงานหากปล่อยให้นำเข้า เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดอยู่แล้ว เจ้าของโรงงานก็มีครอบครัว ญาติพี่น้องกลัวความตายจากโควิด-19 เหมือนกับคนทั่วๆไป หากปล่อยให้เกิดติดโควิด-19 ก็หมายถึงการปิดกิจการ เชื่อว่าเจ้าของโรงงานทุกคนไม่กล้าปล่อยปละละเลยแน่”
และหาก 6 เดือนแรกของปี 2565 ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานนำเข้าที่ถูกกฎหมาย ขอยืนยันว่าประเทศไทยก็จะเจอวิกฤติการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อนมาตามแนวชายแดนที่ยากต่อการตรวจสอบทั้งจำนวนหรือการตรวจคัดกรอง เพราะต้องยอมรับว่าขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน มีผลประโยชน์มหาศาลปราบปรามยาก ซึ่ง ส.อ.ท.สมุทรสาครก็ได้พยายามชี้แจงให้เจ้าของโรงงานในพื้นที่อย่านำเข้าแรงงานเถื่อน แต่ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
“ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในจังหวัดสมุทรสาคร ต่อปัญหาที่ยังขาดแคลนแรงงาน คาดว่ามีผลให้ประเทศไทยขาดโอกาสร้างรายได้เดือนละหลายพันล้านบาท จาก 10 ธุรกิจหลักๆของจังหวัด อาทิ อาหารทะเล อาหารสัตว์ สิ่งทอ อาหารกระป๋อง ยางรถยนต์ กระดาษและสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละเดือนโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเดือนละ 10,000- 15,000 ล้านบาท โดยล่าสุด ณ เดือน ธ.ค. 2564 จังหวัดสมุทรสาครมีการจ้างแรงงานต่างด้าวรวม 350,000 คน และแรงงานไทย 300,000 คน
ตั้งแต่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อนุญาตให้กลับมาเปิดกิจการร้านอาหารได้ จนถึงตอนนี้นับว่าสถานการณ์ของร้านอาหารดีขึ้นมาก ยอดขายกลับมาในระดับ 70-80% ของช่วงปกติ ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ บรรดาแรงงานที่เป็นคนด่างด้าวก็แห่กันกลับประเทศ ยังไม่ได้กลับเข้ามา และต่อมาเมื่อร้านอาหารถูกคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว บรรดาลูกจ้างแรงงานไทยก็กลับบ้านในต่างจังหวัด และเมื่อกลับไปแล้วก็ไปมีอาชีพอื่น
“เมื่อดูจากภาพรวมทั้งประเทศ คาดว่าตอนนี้แรงงานสำหรับกิจการร้านอาหาร น่าจะขาดแคลนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เช่น บางร้านเคยมีลูกจ้าง 50 คน ตอนนี้เหลืออยู่ 30 คน และยังไม่รวมร้านเล็กๆ เช่น ร้านอาหารแถวเยาวราช ที่เคยมีลูกจ้าง 1-2 คนและเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่ได้จ้างใครกลับมา เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ร้านอาหารจะขาดแคลนแรงงาน แต่การจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นก็มีปัญหาอีก จากความไม่แน่นอนในอนาคต เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดขายแอลกอฮอล์ได้เหมือนช่วงปกติในทุกจังหวัดของประเทศไทยเมื่อใด โดยที่ผ่านมาจะอนุญาตเป็นขั้นๆ จากให้ขายแอลกอฮอล์ได้ถึง 21.00 น. ก็ขยับมาเป็น 23.00 น. แต่ก็ไม่ใช่ทุกร้านอาหารทั่วทั้งประเทศ มีการกำหนดอีกว่าบางจังหวัดขายได้ บางจังหวัดยังขายไม่ได้ ซึ่งสับสนมาก ขนาดที่บางร้านคิดว่าตัวเองขายได้ แต่พอขายแล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับก็มี ตรงจุดนี้ถือว่ารัฐอ่อนประชาสัมพันธ์มาก
ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงานจะเปิดอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ก็จะมีต้นทุนในการขออนุญาตทำงานใหม่ทั้งหมด 30,000-40,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน ถ้าจ้างคนต่างด้าวใหม่ 2-3 คน ก็ต้องใช้เงินเป็นแสนบาท หรือบางร้านที่ต้องจ้างกลับมา 20 คน ก็ต้องใช้เงิน 600,000-800,000 บาท ซึ่งในภาวะเช่นนี้ไม่มีใครที่มีกระแสเงินสด ทำให้ร้านอาหารค่อนข้างลำบากมาก
นอกจากนั้น ร้านอาหารยังไม่มั่นใจสถานการณ์และไม่แน่ใจว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะรุนแรงระดับไหน จะทำให้ร้านอาหารต้องถูกคำสั่งอะไรจากรัฐบาลเช่นในอดีตอีกหรือเปล่า ก็เป็นอีกสาเหตุที่ยังไม่กล้าจ้างแรงงานกลับมาด้วย
สมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน มีสมาชิกกว่า 100 บริษัทที่จัดหาแรงงานพร้อมกับการบริหารแรงงานโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 600,000 คนให้กับโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย ในภาพรวมแล้วขาดแคลนแรงงานประมาณ 100,000 คน หลังจากแรงงานซึ่งเป็นคนไทยกลับบ้านและไปกักตัวในช่วงการแพร่ระบาดในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แรงงานคนไทยเริ่มกลับมาทำงานกันแล้ว และคาดว่าหลังเทศกาลปีใหม่จะเข้าสู่ปกติ ไม่ได้มีขาดแคลนเพราะเป็นแรงงานไทย ที่บริษัทบริหารแรงงานให้กับโรงงานผลิตสินค้าระดับเทียร์วัน (Tier 1) และเทียร์ทู (Tier 2) ในอุตสาหกรรมรถยนต์, อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคบริโภค ล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, ฮาน่า และเดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานระดับเทียร์โฟร์ (Tier 4) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก และโรงงานที่อยู่สแตนด์อะโลน ที่จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแต่ละโรงงานต้องการแรงงานมากน้อยแค่ไหน หากสู้ค่าแรงได้ ก็จะไม่ประสบปัญหาการขาดแคลน
ส่วนนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติของกระทรวงแรงงานที่ให้นำเข้าจาก 3 ประเทศจำนวน 400,000 คนที่เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค.นั้น ไม่แน่ใจว่าเริ่มนำเข้ากันมาหรือยัง หากเริ่มดำเนินการแล้วน่าจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนได้บ้าง
แต่ปัญหาใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จากประเทศจีนและไต้หวัน ซึ่งทำให้โรงงานผลิตในประเทศไทยมีปัญหาขาดวัตถุดิบซัพพลายเชน แม้จะมีคำสั่งซื้อหรือออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่สามารถผลิตได้เพียง 70% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องดำรงการจ้างแรงงานไว้ โดยอาจจะจ่ายค่าแรงเพียง 75% เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงงานไว้ตลอดเวลา
การขาดแคลนดังกล่าวมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์จำนวนมาก รถยนต์แต่ละคันต้องการใช้จำนวน 80-300 ชิ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (อีวี) มาเร็วเกินคาดหมาย ทำให้กำลังการผลิตที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
เพื่อรับมือกับเทรนด์ดังกล่าว รัฐบาลควรเน้นส่งเสริมการศึกษาด้านช่างเทคนิคเพราะตลาดมีความต้องการมากและจ่ายค่าแรงได้ดี หลายๆสาขาได้ค่าตอบแทนดีกว่าระดับปริญญาตรีด้วยซ้ำ อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับมัธยมให้เลือกศึกษาช่างเทคนิคเฉพาะทางไปเลย และเป็นการแก้ปัญหานักศึกษาจบระดับปริญญาตรีแล้วออกมาตกงานเป็นจำนวนมากด้วย.
******************
ทั้งหมดทั้งมวลคือเสียงสะท้อนจากตัวแทนภาคอุตสาหกรรมในฐานะนายจ้าง ที่รัฐบาลต้องเปิดใจรับฟังและควรยกระดับความสำคัญสู่วาระแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทีมเศรษฐกิจ