ประณัย พรประภา ผู้บริหารสยาม เอสเตท แอนด์ โคในเครือสยามกลการ เตรียมใช้ KOL ในกลุ่มกีฬากอล์ฟ ดึง New Gen สู่สนาม "สยามคันทรีคลับ แบงคอก"
ณัย ประณัย พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยาม เอสเตท แอนด์ โค จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจที่ผมดูแลอยู่ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมสยามแอทสยาม (Siam@Siam) โรงแรม เมอเวนพิค สยาม โฮเทล นาจอมเทียน พัทยา (Mövenpick Siam Hotel Na Jomtien Pattaya) และล่าสุดคือ สยามคันทรีคลับ แบงคอก (Siam Country Club Bangkok)
แน่นอนว่าธุรกิจที่อยู่ในมือส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาเกือบจะ 2 ปี รวมถึงธุรกิจส่วนตัวที่ เช่น ฟิตเนส ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังมีบริษัท IT อย่าง บริษัท โคเดียม จำกัด และธุรกิจ Cloud Business ที่ทำกับกลุ่มเบญจจินดา ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงในช่วงการระบาดของโควิด
สำหรับธุรกิจสนามกอล์ฟใน เครือสยามกลการ ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่งได้แก่ สยามคันทรีคลับ โอลด์ คอร์ส, สยามคันทรีคลับ แพลนเทชั่น, สยามคันทรีคลับ วอเตอร์ไซด์, สยามคันทรีคลับ โรลลิ่ง ฮิลส์ ซึ่งทั้ง 4 ที่กล่าวมานั้นอยู่ที่พัทยาทั้งหมด ส่วนสยามคันทรีคลับ แบงคอก ที่เราเปิดตัวใหม่นี้เป็นสนามแรกที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ
เจาะตลาดนักกอล์ฟหน้าใหม่ด้วยกลยุทธ์ KOL
ที่ผ่านมา สนามกอล์ฟหลายแห่งของเราต้องปิดตามมาตรการของรัฐบาล แต่หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศก็มีลูกค้าจำนวนมากบุกกิ้งมาที่สนามของเรา จริงๆ แล้วแบรนด์สยามคันทรีคลับ ค่อนข้างแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น รวมถึงชาวเกาหลีใต้ด้วย ซึ่ง 2 ข้อนี้ถือเป็นมาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดของเรา ลูกค้าบางคนบินมาวันศุกร์เพื่อมาตีกอล์ฟ และกลับอีกทีในเย็นวันอาทิตย์ แน่นอนว่าช่วงล็อกดาวน์โควิด ลูกค้าที่เป็นมาร์เก็ตใหญ่ของเราก็หายไป
ปัจจุบัน ลูกค้าของสยามคันทรีคลับ จะแบ่งเป็นกลุ่มต่างชาติ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้หายไป ที่สำคัญเราก็เห็นตัวเลขการเติบโตขึ้นพอสมควร โดยการเติบโตที่ว่านี้ น่าจะเป็นกลุ่มนักกอล์ฟรุ่นใหม่ ซึ่งก็ตรงกับรีพอร์ตในต่างประเทศหลายๆ แห่ง
ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดผู้คนส่วนใหญ่หันมาตีกอล์ฟมากขึ้น ที่สหรัฐฯ เองมีอัตราการเติบโตถึง 20% และเป็นคนรุ่นใหม่เกือบทั้งสิ้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจมาเปิดสยามคันทรีคลับ แบงคอก ที่บางนา ใกล้กับกรุงเทพฯ และสนามบินสุวรรณภูมิ โดยกลุ่มนี้น่าจะมาแทนที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะต้องเดินทางมา สัดส่วนตรงนี้หายไปราว 20-30%
"หากย้อนไปดูสถิติการขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟ ในปี 63 ที่ผ่านมาถือว่ามีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ที่สำคัญเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างยืนยันว่ามีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ทำให้เราสามารถโฟกัสตลาดกลุ่มนี้ได้ ซึ่งแต่ก่อนก็จะเป็นผู้เล่นกลุ่มเดิมๆ โดยแผนการตลาดต่อจากนี้ ผมจะให้ความสำคัญกับกลุ่มนิวเจน อายุไม่เกิน 30 ปี ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยหลายๆ แห่งว่า กลุ่มคน 15-40 ปี เริ่มหันมาสนใจกอล์ฟมากขึ้น และใช้ Key Opinion Leader หรือ KOL ในกลุ่มคนชอบกีฬากอล์ฟ รวมถึงใช้ Social Media Marketing ให้เห็นว่ากีฬากอล์ฟ ไม่ใช่กีฬาของผู้ใหญ่อีกต่อไป ที่สำคัญการทำการตลาดในแนวนี้ ผมยังไม่เคยเห็นใครทำในกลุ่มกีฬากอล์ฟมาก่อน"
สำหรับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของหลักของ สยามคันทรีคลับ แบงคอก จะเป็นสมาชิก 70% และเปิดให้บริการสำหรับนักกอล์ฟทั่วไป 30% โดยเราขายสมาชิกทั้งแบบรายปี และราย 5 ปี ปัจจุบันสมาชิกแบบระยะสั้น มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และยืดหยุ่น เข้าถึงนักกอล์ฟได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักกอล์ฟชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย มีความสนใจสมาชิกค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ รองลงมาเป็นนักกอล์ฟชาวไทย
บริหารโรงแรมช่วงโควิดไม่ใช่เรื่องง่าย
ประณัย บอกว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา แน่นอนว่าธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่ผ่านมาเราก็ปรับแผนกันทุกอาทิตย์ เพราะเราวางแผนในแง่ลบมากไปไม่ได้ หรือจะวางแผนในแง่ดีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสถานการณ์หลายอย่างคอนโทรลไม่ได้ เช่น แต่เดิมเราทำร้านอาหารในโรงแรมก็จะเน้นแต่คนต่างชาติอย่างเดียว
แต่ปัจจุบัน เราก็พยายามทำ F&B ให้บูมขึ้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งของทุกๆ ธุรกิจที่เรามี เช่น สนามกอล์ฟ เราก็เอาเชฟฝรั่งเศส เชฟไทย เชฟญี่ปุ่น ที่ได้รางวัลต่างๆ มาดูแลในสนามกอล์ฟ ส่วนโรงแรมนั้น F&B แต่เดิมเรามีรายได้ประมาณ 20% แต่ก็อยากพุชไปถึง 50% ก็อัปเกรดในส่วนต่างๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย
อย่างเช่นที่สนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับ แบงคอก ที่มีเราทำห้องอาหาร The Old Course ให้เชฟมนเทพ จากธาน หรือ TAAN เชฟ มร.แอนโทนี จากโรงแรมสยามแอทสยาม และเชฟญี่ปุ่น มร.คาซูอะกิ คิตะฮาร่า มาดูแลเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดเลี้ยง ประชุม สัมมนา หรือกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย
"สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เป็นบทเรียนสำคัญให้กับเราว่าจะพึ่งพาแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยด้วย"
ที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมเราพึ่งพาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน แม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่จีนก็ยังไม่มีนโยบายเปิดประเทศ หากย้อนไปดูตัวเลขจะเห็นได้ว่าโรงแรมในประเทศจีน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจีนเติบโตสูงมาก
โดยแผนสำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น นอกจากจะดึงนักท่องเที่ยวในประเทศแล้ว เรายังศึกษาเพิ่มเติมโดยพบว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่เหมือนเดิม เช่น จะพักโรงแรมยาวนานขึ้น มาแบบ 2-3 อาทิตย์ แทนนักท่องเที่ยวที่มาแค่ 1-2 วัน ฉะนั้นแผนการตลาดก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยน เช่น เน้นการสร้างประสบการณ์มากขึ้น หรือมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ รวมถึงเน้นกลุ่มยุโรป อังกฤษ อิสราเอล และรัสเซียมากขึ้น
ประณัย ทิ้งท้ายว่า ผมคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาจริงๆ และเริ่มเดินทางกันอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ของปี 65 ช่วงนี้ก็มีนักท่องเที่ยวหลายๆ ประเทศบุกกิ้งมาเหมือนกัน แม้จะมีโอมิครอนก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มเรียนรู้และเข้าใจโควิดมากขึ้น
ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun