คริปโตคึกคะนอง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คริปโตคึกคะนอง

Date Time: 7 ธ.ค. 2564 06:27 น.

Summary

  • สัปดาห์ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี นับว่ามีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

สัปดาห์ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี นับว่ามีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ที่ครึกโครมมากพิเศษเป็นการเปิดตัวบริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท บิทคับ แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งกับเดอะมอลล์กรุ๊ป ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของยักษ์ค้าปลีกอนุรักษนิยมอย่างเดอะมอลล์สู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยเดอะมอลล์ยังประเดิมรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน 7 สกุลคริปโตเคอร์เรนซี ได้แก่ BITCOIN, TETHER, ETHEREUM, STELLAR, XRP, BITKUB COIN และ JFIN COIN โดยสามารถแลกเป็นสินค้าหรือบัตรกำนัลได้ เริ่มต้นไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา

ไล่เลี่ยกับที่กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี ไอคอนสยาม และสยามพรีเมียม เอาต์เล็ต กรุงเทพฯ ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ศึกษาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งในอนาคตจะเข้ามาเติมเต็มและส่งเสริมระบบ Ecosystem ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ให้แข็งแกร่งและสมบูรณ์แบบ

การขยับตัวของยักษ์ค้าปลีกเมืองไทยสู่แวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเงินดิจิทัล ซึ่งรวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซี ขยับเข้าใกล้ผู้บริโภคในวงกว้างขึ้นทุกขณะ

อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกลางทั่วโลกนั้น แม้ว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” จะถือกำเนิดมาแล้วนานถึง 12 ปี นับตั้งแต่การถือกำเนิดของ “บิทคอยน์” ในปี 2552 แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลก ยังไม่รับรองว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” เป็นเงินตามกฎหมาย โดยมีบางธนาคารกลางเท่านั้น ที่ยอมให้ใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็น “สกุลเงิน”

ส่วนในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธปท. เป็นหนึ่งในธนาคารกลางของโลกที่ออกมายืนยันต่อเนื่องว่า ไม่รับรอง “คริปโตเคอร์เรนซี” ในฐานะสกุลเงิน หรือเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา ธปท.จะหลีกเลี่ยงให้ความสนใจหรือกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี ปล่อยให้เป็นหน้าที่หลักของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงของการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีเป็นระยะๆ ทั้งความเสี่ยงในการถือครอง ความผันผวนที่สูงมากของราคาวันนี้ราคาอาจจะขึ้นไปสูงมาก และดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วงสั้นๆ รวมทั้งโอกาสที่จะถูกโจรกรรมจากโลกไซเบอร์ทำให้เสียทรัพย์สิน หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน คนที่เกี่ยวข้องหรือเข้าไปลงทุน ต้องศึกษาหาความรู้ให้ครอบคลุม หากเข้าไปลงทุนแล้วเสียหาย ก็เป็นเรื่องยากที่จะช่วยเหลือ หรือจับมือใครดม เพราะไม่มีตัวกลางในการดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว

และล่าสุดเมื่อพบว่า เริ่มมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปนั้น

สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. จึงได้ออกแถลงการณ์ ย้ำว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ และหากในระยะต่อไป มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลายมากขึ้น อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพการเงินของประเทศ

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่า กระแสของ “เงินดิจิทัล” เป็นอีกหนึ่งกระแสที่จะต้องเกิดขึ้นและเติบโตในโลกการเงินอนาคต เนื่องจากการใช้ “เงินดิจิทัล” จะช่วยลดต้นทุนของการมีตัวกลางในการทำธุรกรรมการเงินประเภทต่างๆ และก่อกำเนิดนวัตกรรมทางการเงิน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ไฮเทคทางการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มากกว่าในปัจจุบัน และจะต้องมีสินค้าอีกจำนวนมากที่เข้าสู่การรับชำระด้วยคริปโตเคอร์เรนซีหรือเงินดิจิทัล

โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้พยายามสร้าง “เงินดิจิทัล” ของ ธปท. และอาจจะใช้ชื่อ “ไทยบาทดิจิทัล” ในรูปแบบ Stable Coin หรือ “เงินดิจิทัลที่มีสินทรัพย์หนุนหลังเท่ากับจำนวนมูลค่า” ซึ่งแตกต่างกับคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ สามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม “ไทยบาทดิจิทัล” ยังอยู่ในขั้นต้นๆ ของการทดลอง

แม้จะดูไม่เท่าทันกับความนิยมแบบก้าวกระโดดของสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กระนั้น ธปท.ก็กำลังร่วมมือกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้การนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประชาชนคนไทยไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ.

ประอร นพคุณ
ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ