ยกเครื่องเศรษฐกิจไทยรับเทรนด์หลังโควิด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกเครื่องเศรษฐกิจไทยรับเทรนด์หลังโควิด

Date Time: 4 ธ.ค. 2564 07:15 น.

Summary

  • หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบต่างก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัว มองหาเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับไทยเองหลายภาคส่วนเริ่มพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

การระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอนทำให้ทั่วโลกเริ่มกลับมากังวลกับสถานการณ์การระบาดมากขึ้นอีกครั้ง แต่เมื่อหากโควิดคลี่คลาย หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบต่างก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัว มองหาเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับไทยเองหลายภาคส่วนเริ่มพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเครื่องยนต์แบบเดิม อาจไม่เพียงพอในระยะยาว บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ

รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกที่เปลี่ยนไปจากวิกฤติโควิด ทำให้เทรนด์สำคัญๆในอนาคตเกิดจากพฤติกรรมและทัศนคติในการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยี บริการดิจิทัล และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย รวมถึงคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ next normal ที่จะขยายตัวในวงกว้าง พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตและระบบเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่” และ “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” เพื่อให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาว จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งต่างแสดงความเห็นคิดในเรื่องนี้ แต่มี 2 สิ่งที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

สิ่งแรกคือ การส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio Circular Green Economy ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือผลผลิตทางการเกษตรมาต่อยอดสร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์โลกที่มีมาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วต่างต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่นับวันมีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการวางมาตรฐานต่างๆที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนเพิ่มขึ้น และในระยะข้างหน้าการบังคับใช้มีโอกาสเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งไทยเองต้องเร่งปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้แข่งขันได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ถัดมาคือ การปรับตัวรับเทรนด์ดิจิทัล (Digitalization) เพราะการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด ดิจิทัลจึงมีบทบาทในการดำเนินชีวิตในยุค next normal มากขึ้น ทำให้เกิด “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลบนโลกออนไลน์ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ทั้งการผลิต การขนส่ง การขายและการบริการ ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานการวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน โดย Google, Temasek and Bain & Company มองว่าโอกาสเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยและอาเซียนมีอยู่มาก เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียนคิดเป็นเพียง 3-5% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด เทียบกับจีนที่สูงถึง 30% รวมถึงโอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์นี้จะมีมากใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ การบริการทางการเงินดิจิทัล (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมมากขึ้นก็จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าเช่นกัน เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่บนระยะยาวให้กับไทยได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าหน้าตาของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็คงคงต้องยึดการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนและการบริโภคไม่มากก็น้อย เพียงแต่จะต้องยกระดับอย่างไรเพื่อให้สร้างประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันการจะสร้างเครื่องยนต์ใหม่ๆต้องอาศัยเวลา และต้องการงบประมาณและการผลักดันจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคตค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ