ปลุกเศรษฐกิจไทยให้ลุกขึ้นจากการเป็น "คนป่วยแห่งเอเชีย" หลังต่างชาติเมินไม่มอง ทั้งการลงทุนทางตรง และการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เราได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จาก 0.4% เป็น 1.1% และปี 2565 จาก 3.2% เป็น 3.8% รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามที่ดีกว่าคาด จากปัญหาอุปทานชะงักงันในโรงงานที่ไม่รุนแรงและกำลังคลี่คลาย และการควบคุมการระบาดโควิดในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมืองและเปิดรับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ นับจากปี 2563 เป็นต้นมา ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก เศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะถดถอย โตช้า ซึมยาว โดยในปี 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะเติบโตต่ำสุดในอาเซียน เหนือเพียงประเทศเมียนมาที่มีปัญหาการเมืองที่รุนแรง ขณะที่ต่างประเทศเริ่มมองประเทศไทยเป็น "คนป่วยแห่งเอเชีย" ที่ต่างชาติเมินการลงทุน ทั้งการลงทุนทางตรง (FDI) พิจารณาได้จากยอดการออกบัตรส่งเสริมฯ ที่มีเงินลงทุน 227,720 ล้านบาท จำนวน 936 โครงการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลง 31% และ 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ รวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 63,399 ล้านบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปี
แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพ เพียงแต่รอปัจจัยที่เอื้ออำนวยและมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ เราจึงเปรียบเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าเสมือนเสือโคร่งที่ซุ่มหมอบรอจังหวะพุ่งกระโจน ไม่ใช่เสือป่วยนอนหลับนิ่งอย่างที่ใครคิดกัน แต่ขณะเดียวกันต้องระวังให้ดี เพราะมีเสือร้ายอีกตัวคอยดักซุ่มขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565
ปัจจัยรับเสือหมอบ : ส่งออก ท่องเที่ยว กำลังซื้อกลาง - บน
ปัจจัยแรก คือการส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมี และกลุ่มอาหารแปรรูป ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ หลังจากที่พลเมืองในหลายประเทศได้รับการฉีดวัคซีน มีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเร่งขึ้นอีกครั้ง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ
คาดว่าหลายประเทศในปีหน้าจะจำกัดการเคลื่อนย้ายคนเฉพาะกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือมีปัญหาสุขภาพ แทนการล็อกดาวน์ ส่วนภาคการผลิตของไทยไม่ได้มีปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันรุนแรง สามารถบริหารจัดการแรงงานที่ติดเชื้อโควิดและคัดแยกแรงงานกลุ่มเสี่ยงไม่ให้กระทบแรงงานส่วนใหญ่ได้ดี กำลังการผลิตเร่งขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งภาคอุปสงค์และอุปทานด้านการส่งออกของไทยในปีหน้า
ปัจจัยที่สอง คือการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.1 ล้านคน นับว่าฟื้นตัวดีขึ้นหลังการเปิดประเทศและลดข้อจำกัดด้านการกักตัวของนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน เพื่อลดความยุ่งยากหากนักท่องเที่ยวต้องกักตัวหลังเดินทางกลับจากไทย ประเทศเหล่านี้ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และกลุ่มยุโรปอื่นๆ กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน ยกเว้น จีน ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยก่อนโควิดในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดจะยังไม่กลับเข้ามาไทยมากนัก เราคาดว่าจะมีคนจีนเพียง 9% ของจำนวนนักท่องเที่ยว 5.1 ล้านคน
เนื่องจากทางการจีนกังวลการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ จึงยังไม่น่าจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากนัก การท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวได้ดีช่วงครึ่งปีหลัง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจรอให้พลเมืองไทยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงมากกว่านี้ ดังนั้น การเข้ามาของนักท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังจะเร่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนและกระจายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ กลุ่มแรงงานด้านบริการ และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยที่สาม คือกำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง การที่ไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง แต่คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของงาน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น กลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรมและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ โดยกลุ่มที่ฟื้นได้เร็วจะอยู่ในกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถลดค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการภาครัฐ ที่คาดว่าจะยังคงมีต่อเนื่อง
เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และเราเที่ยวด้วยกัน และเมื่อความเชื่อมั่นฟื้นได้ดีขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง การได้รับวัคซีนเข็ม 3 มีมากขึ้น คนจะกล้าซื้อของกลุ่มที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ แม้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะขับเคลื่อนด้วยการบริโภคจากกลุ่มกำลังซื้อกลาง-บนเป็นหลัก แต่เราเชื่อว่าหลังมีการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มมากขึ้น กำลังซื้อระดับกลาง-ล่างจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปีหน้ายังอยู่ระดับสูงและปริมาณน้ำที่มากกว่าปีนี้น่าจะสนับสนุนผลผลิตให้มากขึ้น และทำให้รายได้ภาคเกษตรสูงขึ้นปีหน้า
ระวังภัยเสือร้าย : โควิดรอบใหม่ สงครามการค้า และปัญหาเงินเฟ้อ
ปัจจัยแรก คือการระบาดของโควิดรอบใหม่ ทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออกและการท่องเที่ยว แม้ไทยและอีกหลายประเทศจะไม่ล็อกดาวน์ แต่จะกระทบความเชื่อมั่น การบริโภค และกระทบห่วงโซ่อุปทานให้ภาคการผลิตหยุดชะงักได้
ปัจจัยที่สอง คือสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 ถ้าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลก รวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต แม้ไทยจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้ดี แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยการส่งออกที่ลดลงในภูมิภาคได้
ปัจจัยที่สาม คือปัญหาเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ แม้เงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.9% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากเกิดปัญหาอุปทานชะงักงันในภาคการผลิตในจีน หรือราคาวัตถุดิบอื่นๆ พุ่งขึ้นเร็ว อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจเร่งขึ้นได้อีก ซึ่งราคาสินค้าที่สูงจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง เพราะคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคต่อรายได้สูง แปลว่ามีเงินเท่าใดก็ต้องนำไปใช้จ่ายแทบทั้งหมด
เมื่อรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นหรือคนจะต้องยิ่งประหยัดหรือลดการบริโภคลง และขาดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่มาตรการทางการคลังด้วยการลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่น่าจะเป็นการหว่านแหด้วยการลดราคาสินค้าหรือใช้เงินรัฐในการอุดหนุนทุกอย่าง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้น กำลังซื้อคนระดับกลาง-บนดีขึ้น รัฐบาลน่าจะสามารถเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นได้
แนวโน้มค่าเงินและดอกเบี้ย
เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า จากปัจจัยด้านทุนเคลื่อนย้าย โดยเรามองว่าปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐยังมีต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีหน้า มีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ สิ้นสุดมาตรการ QE ในช่วงกลางปีก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการสื่อสารที่ชัดเจน ไม่น่าจะมีผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนโลกผันผวนแรง
แต่เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ อาจดึงเงินให้ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยบ้าง แม้ต่างชาติยังน่าจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทยเพื่อหวังผลตอบแทนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจากการเปิดประเทศ ที่น่าจะมีผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกมาเกินดุลในช่วงครึ่งปีหลังจากที่ขาดดุลสูงในปีนี้ เราคาดการณ์เงินบาทปลายปี 2564 ไว้ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปลายปี 2565 ไว้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนดอกเบี้ยนโยบาย เรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปีหน้า และน่าจะใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าหรือส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนที่ขาดรายได้ เพิ่มความยืดหยุ่นในการชำระหนี้ แต่จากเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ทาง กนง.อาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังระดับขนาดเศรษฐกิจไทยยืนได้เหนือปี 2562 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และมีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2566
ใจดีสู้เสือ รับศึกเลือกตั้ง
สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เป็นปีเสือหมอบรอกระโจน แต่ให้ระวังเสือร้ายหรือปัจจัยเสี่ยงทำเศรษฐกิจสะดุด นอกจากนี้ ปี 2565 เราอยากให้นักลงทุนทำใจดีสู้เสือเพื่อรับศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าในสหรัฐฯ
อาจมีความพยายามจากทั้งสองพรรคใหญ่ในการดึงคะแนนนิยมจากประชาชนด้วยการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ตลอดจนมาตรการที่จีนจะใช้ตอบโต้สหรัฐฯ และจัดระเบียบเศรษฐกิจในประเทศ อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนได้ อย่างไรก็ดี แม้มีปัญหาใดๆ ก็แล้วแต่ นักลงทุนจะย้อนกลับมามองที่ว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือยังคงเสริมสภาพคล่องต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดทุนได้
ทั้งนี้ เรายังแนะนำนักลงทุนให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง และการเปิดเมืองรับการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น รวมทั้งประเทศที่จะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เพราะต่างสามารถควบคุมราคาสินค้าในประเทศได้ดี และธนาคารกลางมีความอดทนสูงต่อเงินเฟ้อ ซึ่งไม่น่าจะรีบดูดซับสภาพคล่อง อันเป็นผลดีต่อตลาดทุน
รวมทั้งตลาดทุนไทยที่จะกลับมาเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้งหลังแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นหลังเปิดเมือง และค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท (REIT) น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการพื้นที่ค้าปลีกและแหล่งกระจายสินค้า รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้น