การประกาศควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวครึกโครมปลุกกระแสความคึกคักกลับคืนสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอีกครั้ง สิ่งที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และประธานกรรมการทรู กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา คือ เสียงสะท้อนความเป็นจริงของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
เขาบอกว่า ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในยุคหลัง มีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ จนมีคำเปรียบเปรยว่าเป็น Dump Pipe หรือท่อส่งข้อมูลโง่ๆ กลายเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มมูลค่าได้น้อยมาก สวนทางกับการลงทุนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม มีคุณภาพ ซึ่งในแต่ละปีต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ให้บริการแขวนอยู่บนโครงข่ายมือถือ กลับสามารถสร้างการเติบโตในโลกยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบรรดาแพลตฟอร์ม แอปพลิเคชันต่างๆ
การควบรวมในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายที่ทั้ง 2 บริษัทจะจับมือกันก้าวไปสู่การเติบโตใหม่ๆ ในฐานะ “เทคคัมปะนี” (Tech Company) ขยายขอบเขตไปสู่บริการดิจิทัล ที่มองไกลไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) ขณะที่บริการโครงสร้างพื้นฐานในฐานะโครงข่ายมือถือจะกลายเป็น 1 ในธุรกิจหลากหลายในเครือ
กระนั้น...อีกด้านของเป้าหมายอันสวยหรู การควบรวมกิจการในครั้งนี้ อาจทำให้สังเวียนการแข่งขันระหว่าง 3 ค่ายมือถือที่ดำเนินยาวนานมากว่า 3 ทศวรรษสิ้นสุดลง ความกังวลเรื่องการแข่งขันด้านราคาจากจำนวนผู้เล่นที่น้อยลง จึงเป็นประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และเป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่งต่อการเดินหน้าสู่ความสำเร็จ
ย้อนหลังไปหลายปีก่อน ข่าวลือเรื่องการเข้าซื้อกิจการระหว่างบริษัทโทรคมนาคมในประเทศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีตั้งแต่ข่าวทรูจะซื้อดีแทค ไปจนถึงซื้อบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บางช่วงจะมีชื่อของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เข้ามาเอี่ยว โดยเป็นข่าวการเข้าซื้อจัสมินของทั้งเอไอเอส ทรู และดีแทค สลับวนเวียนกันไปเช่นนี้ทุกครั้งที่มีข่าว ราคาหุ้นของบริษัทที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะฝั่งที่จะถูกซื้อมักดีดตัวขึ้นเป็นพิเศษเสมอ
ข่าวลือหลายข่าวจางหายไปตามกาลเวลา แต่ไม่ใช่สำหรับข่าวทรูเข้าซื้อกิจการดีแทค ซึ่งยังคงเป็นกระแสต่อเนื่อง ที่ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนคือเมื่อเดือน พ.ย.2559 ครั้งนั้น ศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งซีอีโอทรู ออกมาปฏิเสธข่าวแข็งขัน เมื่อข่าวลือนั้นระบุวันที่จะมีการเข้าซื้อกิจการชัดเจน
เขาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เคยมีแต่ตัวกลางหรือ Investment Bank เข้ามาสอบถามว่าสนใจซื้อดีแทคหรือไม่ แต่ยังไม่เคยมีการสานต่อ ไม่เคยมีการเจรจาแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ศุภชัยแย้มว่า “ยอมรับในฐานะธุรกิจ เรามีความสนใจดีแทค แต่ไม่ได้หมายความว่าสนใจแล้วจะต้องเข้าไปซื้อเลย”
เพราะ “สนใจดีแทค” ในช่วง 2 ปีหลัง ข่าวทรูซื้อดีแทคจึงยิ่งกระฉ่อน เฉพาะปีนี้ลือต่อเนื่องหลายรอบ สอดคล้องกับที่ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ตรวจสอบพบว่ามีการเจรจาระหว่าง 2 ค่ายต่อเนื่อง และทรูต้องการซื้อดีแทคจริง แต่ทางเทเลนอร์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค) ไม่มีนโยบายขาย เพราะตลาดประเทศไทยสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูง จนในที่สุดสรุปจบด้วยการประกาศควบรวมกิจการระหว่างกัน
จากเอกสารที่ทรูและดีแทคแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. มีสาระสำคัญคือ คณะกรรมการ (บอร์ด) ของทรู (TRUE) และดีแทค (DTAC) มีมติอนุมัติศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการตามขั้นตอนการควบรวมบริษัท โดยทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (MOU)
ทั้ง 2 บริษัท ได้กำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ดังนี้ 1 หุ้นเดิมของ DTAC จะได้รับการจัดสรรหรือแลกเป็นหุ้นในบริษัทใหม่ 24.53775 หุ้น ขณะที่ 1 หุ้นเดิมของ TRUE จะแลกเป็นหุ้นในบริษัทใหม่ได้ 2.40072 หุ้น โดยภายหลังการควบบริษัททั้ง 2 แล้ว บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด จำนวน 138,208.40 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท)
นักวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้นว่า หากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัทมีการแลกหุ้นเดิมมาเป็นหุ้นของบริษัทใหม่ทั้งหมดจะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUE เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ 57.96% และผู้ถือหุ้น DTAC เข้ามาถือหุ้นในบริษัทใหม่ 42.03%
อย่างไรก็ตาม สำหรับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่นั้น สำนักสื่อสารองค์กร ดีแทค ได้ส่งเอกสารชี้แจงต่อ “ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ระบุ ซีพี (ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TRUE) และกลุ่มเทเลนอร์จะถือหุ้นเท่ากันในสัดส่วนรายละ 1 ใน 3 ของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการควบรวม นั่นคือ การสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership)
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดทั้ง 2 บริษัท ยังรับทราบกรณีบริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด (Citrine Global) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture Company) ระหว่างซีพีและเทเลนอร์ มีความประสงค์ที่จะทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือตั้งโต๊ะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ รับซื้อหุ้นทั้งหมดของ 2 บริษัทโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข
โดยกำหนดราคาเสนอซื้อหุ้น DTAC อยู่ที่หุ้นละ 47.76 บาท และราคาเสนอซื้อหุ้น TRUE อยู่ที่หุ้นละ 5.09 บาท เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 2 บริษัท ที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สามารถขายหุ้นในการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจได้
หลังแจ้งตลาดฯเสร็จสิ้นในช่วงเช้า บ่ายของวันที่ 22 พ.ย. ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารซีพี และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ ก็ได้ร่วมกันแถลงข่าวสนับสนุนให้ทรูและดีแทคปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือเทคคัมปะนี ที่สามารถอยู่รอดและแข่งขันในโลกธุรกิจอีก 20 ปีข้างหน้าได้ต่อไป
โดยการควบรวมดังกล่าวนำไปสู่การมีรายได้รวมกัน 217,000 ล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 83,000 ล้านบาท และบริษัทใหม่จะมีส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้อยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับเอไอเอส ผู้นำตลาดในปัจจุบัน
หลังประกาศความร่วมมือ ทั้งคู่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ หรือ Due Diligence ใช้เวลาครอบคลุมไตรมาสแรกของปี 2565 ก่อนเริ่มต้นลงนามในข้อตกลงและเงื่อนไขทางธุรกิจ รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ คาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวมภายในครึ่งหลังของปี 2565
ระหว่างงานแถลงข่าวออนไลน์ที่ส่งสัญญาณมาจาก True Sphere Leadership Club บนอาคาร Magnolias Ratchadamri Boulevard ทั้งศุภชัยและซิคเว่เน้นย้ำความต้องการขยับสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี มีเป้าหมายขยายสู่ธุรกิจ AI (ปัญญาประดิษฐ์), แพลตฟอร์มดิจิทัลมีเดีย, IoT (Internet of Things), คลาวด์ และยังมีแผนศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) ด้วย
นอกจากเป้าหมายระยะยาวที่สุดวิลิศมาหรา ระยะสั้นการควบรวมกันระหว่างทรูและดีแทค ยังเป็นการตอบโจทย์การลดต้นทุนแบบวิน-วินด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเอามารวมกัน ทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด หรือ Economy of Scale ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสได้เปรียบมาโดยตลอด
เช่นเดียวกัน ในแง่ของการลงทุน แต่ละปี 3 ค่ายมือถือต้องจัดสรรงบลงทุนอัปเกรดโครงข่าย ขยายเสาสัญญาณในระดับหมื่นล้านบาท รองรับความคลั่งไคล้บริโภคมือถือของคนไทยที่ปัจจุบันเสพอินเตอร์เน็ตวันละเกิน 11 ชั่วโมง อัตราคนใช้มือถือต่อประชากร (Penetration rate) ทะลุ 171% หมายถึงคนไทยส่วนใหญ่มีมือถือเกิน 1 เครื่อง
สำหรับค่ายคนรวยอย่างเอไอเอสงบลงทุนโครงข่ายแต่ละปีอยู่ในระดับ 15,000-20,000 ล้านบาท ขณะที่ทรูซึ่งต้องการตีคู่แข่งขันได้เท่าเทียม ก็จำเป็นจะต้องลงทุนเสริมกำลังเครือข่าย แม้ฐานะการเงินจะไม่คล่องตัวเท่า ขณะที่ดีแทคระยะหลังใช้กลยุทธ์ทิ้งตัว ไม่ประกาศงบลงทุนเพราะตัดเหี้ยน เน้นจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ภายใต้วัฒนธรรมที่เน้นแข่งขันเอาเป็นเอาตาย แข่งกันลงทุน ปักเสาสัญญาณซ้ำซ้อนทั่วประเทศ การแชร์ใช้โครงข่ายซึ่งจะช่วยลดการลงทุน ลดการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งเป็นการซื้อจากต่างประเทศ ขนเงินตราออกนอกประเทศเกือบทั้งหมด จึงแทบจะไม่เคยเกิดขึ้น
เมื่อควบรวมกันเสียได้ ทรูและดีแทคจะสามารถแชร์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าขึ้น เช่นเดียวกับช่วยลดต้นทุนการประมูลคลื่นความถี่ของไทยที่มีมูลค่าสูงติดระดับโลก และต้นทุนทั้งหมดที่เกินจริง มักจะถูกสะท้อนกลับมาเป็นค่าบริการที่ประชาชนต้องควักจ่ายทั้งสิ้น
มุมสดใสจากการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ยังน่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายยิบรายย่อยแบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ซึ่งไม่มีโครงข่ายของตัวเอง แต่เช่าใช้โครงข่ายรายใหญ่เพื่อให้บริการ มีโอกาสแข่งขันมากขึ้นจากจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ที่ลดลง หากบรรยากาศเอื้อต่อการอยู่รอดของผู้เล่นรายเล็ก ผู้บริโภคจะมีทางเลือกด้านราคาที่หลากหลายมากขึ้น
กระนั้นในฐานะสื่อมวลชน “ทีมเศรษฐกิจ” ไม่สามารถมองแต่มิติในเชิงธุรกิจและประโยชน์ในแง่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเท่านั้น แน่นอนในมุมผู้บริโภค การลดลงของผู้ให้บริการหลักจาก 3 เหลือ 2 ย่อมกระทบต่อการแข่งขันด้านราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่น่า “ใจเสีย” ไปกว่านั้น ดูเหมือนว่าทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ตลอดจนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะยังคงถนอมปากถนอมคำในเรื่องดังกล่าว เบื้องต้น สำนักงาน กสทช.เปิดเผยว่า กำลังศึกษาข้อกฎหมายที่ครอบคลุมอำนาจในการกำกับดูแล ซึ่งมีขอบข่ายเฉพาะกับกิจการที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ขณะที่ กขค.ชิงปฏิเสธการมีส่วนร่วม โดยระบุ เป็นกิจการที่มี กสทช.กำกับดูแลอยู่แล้ว
ในกรณีนี้ การควบรวมยังอยู่ในระดับของทรูและดีแทค ซึ่งไม่ได้เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเป็นบริษัทลูกในนาม TUC และ DNT ตามลำดับ การตรวจสอบซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการควบรวมกันอยู่นั้น จึงน่าจะอยู่ในบทบาทที่ กขค.พึงกระทำได้ทันที กระนั้นไม่ว่าการควบรวมจะอยู่ในระดับไหน ขั้นตอนใด หากทรูและดีแทคควบรวมกิจการกันสำเร็จ ก็ย่อมต้องรวมกิจการของ TUC และ DNT ซึ่งอยู่ในอำนาจกำกับดูแลของ กสทช.ด้วย
สอดคล้องกับที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยืนยันว่า กสทช. และ กขค.มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้กฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 ไม่ให้ผู้รับอนุญาตกระทำการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน เช่น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตลอดจนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มาตรา 4 ซึ่งระบุชัดเจนว่า กขค.มีอำนาจแม้ในธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล
อย่างน้อยที่สุด หากตรวจสอบแล้ว การควบรวมกิจการในครั้งนี้ ไม่ได้ขัดต่อตัวบทกฎหมายไทยที่มักมีช่องโหว่ ให้หลุดรอดได้เสมอ เชื่อว่า คนไทยคงปรารถนาจะเห็นความพยายามของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. และ กขค. ในการขยับดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนบ้าง แม้เพียงน้อยนิด.
ทีมเศรษฐกิจ