เหตุใดวิกฤติโลกร้อนจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที?

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เหตุใดวิกฤติโลกร้อนจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที?

Date Time: 27 พ.ย. 2564 07:22 น.

Summary

  • รู้ทั้งรู้ว่าโลกกำลังเข้าสู่วิกฤติที่แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นมหันตภัยที่มีผลกระทบต่อทุกคน ทุกประเทศในที่สุด แต่เหตุใดทุกประเทศจึงยังไม่พร้อมใจกันแก้ไขวิกฤตินี้อย่างจริงจังเสียที?

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.64 เป็นการปิดฉากการประชุม COP26 ของผู้นำโลกทั้งหลาย ซึ่งมาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่และทวีความรุนแรงกว่าปัญหาใดๆทั้งปวงในโลก นั่นคือวิกฤติโลกร้อน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของการประชุมมีการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยในนาทีสุดท้าย จีนและอินเดียได้ขอให้แก้ไขถ้อยคำในข้อตกลงว่าด้วยการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุด จากเดิมคือคำว่า “ยุติการใช้” มาเป็น “ลดการใช้” พลังงานถ่านหิน ทำให้ประธานการประชุมกล่าวแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า รู้ทั้งรู้ว่าโลกกำลังเข้าสู่วิกฤติที่แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นมหันตภัยที่มีผลกระทบต่อทุกคน ทุกประเทศในที่สุด แต่เหตุใดทุกประเทศจึงยังไม่พร้อมใจกันแก้ไขวิกฤตินี้อย่างจริงจังเสียที?

คำถามนี้ส่วนหนึ่งสามารถตอบได้ด้วยคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) อันหมายถึง สินค้าที่เมื่อมีการบริโภคแล้ว ไม่กระทบต่อการบริโภคของคนอื่นๆ (non-rival) และไม่สามารถกีดกันคนอื่นๆ ไม่ให้เข้าถึงสินค้านั้นได้ (non-excludable) โดยในกรณีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนนี้ถือเป็นสินค้าสาธารณะ เนื่องจากทุกคนในโลกต่างได้รับประโยชน์จากการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าคนผู้นั้นจะจ่ายเงินหรือยอมเสียประโยชน์ของตนเพื่อแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ ซึ่งสถานการณ์นี้ย่อมทำให้เกิดผู้ที่ยินดีจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไข โดยไม่ลงมือลงแรงทำอะไรสักอย่าง (free rider) โดยสามารถอธิบายได้กับทั้งในระดับประเทศหรือปัจเจกบุคคล เช่น คนที่เห็นว่าเพื่อนบ้านเลิกใช้ถุงพลาสติกก็รู้สึกชื่นชมยินดี แต่ตนเองกลับยังคงซื้อถุงพลาสติกใบใหม่ทุกครั้งเวลาไปซื้อของ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังอาจอธิบายได้โดยใช้ “ทฤษฎีเกม (Game Theory)” (เป็นการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่แสดงรูปแบบการตัดสินใจและผลประโยชน์ที่ได้รับ) กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนระดับนานาชาติมีลักษณะเป็นเหมือนกรณี “ความลำบากใจของนักโทษ (Prisoner’s Dilemma)” อธิบายได้ว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนคือ เกมระหว่าง 2 ฝ่าย สมมติว่าเป็นกลุ่มประเทศ ก และกลุ่มประเทศ ข โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีกลยุทธ์ให้เลือกคือ 1) การร่วมมือในข้อตกลง ซึ่งมีต้นทุนเกิดขึ้น เช่น ต้องลงทุนในเทคโนโลยีกำจัดก๊าซ และ 2) การไม่ร่วมมือในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งไม่มีต้นทุนเกิดขึ้น ผลปรากฏว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเลือก “การไม่ร่วมมือในข้อตกลง” ซึ่งกลายเป็นจุดดุลยภาพ เพราะการร่วมมือในข้อตกลงจะเสียประโยชน์เพราะต้องลงทุนกำจัดก๊าซ ขณะที่การเลือกไม่ร่วมมือจะได้ประโยชน์มากขึ้น โดยไม่ต้องทำอะไร หากอีกฝ่ายเลือกลงทุนลดก๊าซที่จะเป็นผลดีต่อทั้งคู่

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อผลประโยชน์ของทั้งสองไม่สามารถอยู่ในจุดดุลยภาพที่ร่วมมือกันได้? ศาสตราจารย์วิลเลียม นอร์ดโฮส เสนอไว้ว่า จำเป็นต้องปรับโครงสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้จุดดุลยภาพมาอยู่ที่การร่วมมือกัน โดยออกแบบให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นลักษณะสโมสร (คลับ) ซึ่งผู้เป็นสมาชิกจะได้สิทธิพิเศษจากการทำตามข้อตกลง ขณะเดียวกัน ต้องมีบทลงโทษสำหรับสมาชิกผู้ไม่ทำตามข้อตกลง แต่ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดได้จริงในทางปฏิบัติ ส่วนหนึ่งจากกลุ่มที่ยังได้ประโยชน์จากการไม่ลดโลกร้อน และข้อเสียเปรียบของประเทศกำลังพัฒนา เช่น การไม่ได้รับเงินชดเชยหรือช่วยเหลือ หากเปลี่ยนผ่านเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขวิกฤติโลกร้อนให้ได้ผล นอกจากแก้ไขที่จิตสำนึกให้เกิดความตระหนักรู้ วางแผนและลงมือทำทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจ และรัฐแล้ว ยังต้องเร่งแก้ไขที่โครงสร้างแรงจูงใจในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงการชดเชยความได้หรือเสียเปรียบที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมได้จริงด้วยครับ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ