ไทยแลนด์ Growth Story (3)

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยแลนด์ Growth Story (3)

Date Time: 24 พ.ย. 2564 05:33 น.

Summary

  • Growth Story ของไทยด้านการส่งออก ต้องเน้นการยกระดับการผลิต และ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้เป็นพรีเมียมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน

Latest

กำไรไม่พอจ่ายดอกเบี้ย เอสเอ็มอีอ่อนแอ! เสี่ยงเป็นบริษัทซอมบี้

เมื่อวานนี้ผมทิ้งท้ายปาฐกถาของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในโอกาสครบรอบ “40 ปีวารสารการเงินธนาคาร” ว่า Growth Story ข้างหน้าของไทยจะเป็นอย่างไร วันนี้ไปฟังกันต่อครับ

“ตัวอย่างแรกคือ ภาคเกษตรและอาหาร ที่เราเป็นฐานผลิตสำคัญและถูกยกให้เป็นครัวของโลก ซึ่งถือเป็นทุนที่ดีในการต่อยอด แต่การส่งออกในหมวดนี้เป็นสินค้าเกษตรพื้นฐาน หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้ต่ำมาโดยตลอด รวมถึงภาคเกษตรยังใช้ทรัพยากรสูง และมีการใช้สารเคมี ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม

Growth Story ของไทยด้านนี้ จึงต้องเน้นการยกระดับการผลิต และ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้เป็นพรีเมียมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่ การทำเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เพื่อช่วยลดต้นทุน การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และการใช้ Biopesticides จนถึงการมี แพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมเกษตรกรกับผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง และใช้ digital marketing ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ตลอดจนการผลิต Future Food ที่ใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

อีกตัวอย่างคือ ภาคการท่องเที่ยว ที่รายได้เติบโตจากปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ โดย 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพียง 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จนกลายเป็นปัญหา Over-tourism ไทยจึงต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ในการเพิ่มรายได้นี้ไทยควรต่อยอดจากจุดแข็งด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม และ Hospitality รวมไปถึงการสร้าง high value man–made attraction และประสบการณ์ต่างๆด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กลุ่ม Health and Wellness ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 80,000-120,000 บาท

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม Green หรือ Community-based Tourism ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วย “สร้างและกระจายรายได้” สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุน เพื่อรองรับโมเดลใหม่นี้ อาทิ การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การลงทุนในระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์กระแส Contactless รวมถึง การยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและนำข้อมูลมาวิเคราะห์และต่อยอดให้ภาคการท่องเที่ยวทั้ง Value Chain เช่น แพลตฟอร์ม TagThai ที่กำลังดำเนินการอยู่

และสุดท้าย ทำอย่างไรให้ Growth Story ที่จะเน้นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มบนจุดแข็งที่ได้กล่าวมาแล้ว เกิดขึ้นได้จริง ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคส่วนที่จะต้องเร่งทำบทบาทของตัวเอง และการร่วมมือกับคนอื่นๆในการผลักดันปรับโครงสร้าง ให้สามารถรองรับความท้าทายได้ดีขึ้นในอนาคต...”

ก็ชัดเจนนะครับ สตอรีการเติบโตของประเทศไทย (Growth Story) จะต้องทำอย่างไร ความจริงเนื้อหาในปาฐกถายังไม่จบ แต่ผมขอจบแค่นี้ ใครสนใจไปหาอ่านได้ใน เว็บไซต์การเงินธนาคาร หรือชมจาก money and banking channel ใน YouTube

นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง กำลังเป็นที่หมายปองของทุกประเทศทั่วโลก ผมเขียนไปสัปดาห์ที่แล้วใน “Wellness Tourism ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย” เป็น Mega Trends ของโลก ปี 2019 ท่ามกลางโควิดระบาด ยังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ 148 ล้านล้านบาท วันนี้โลกกำลังฟื้นไข้จากโควิด มูลค่า Wellness Economy จะเพิ่มขึ้นมหาศาลขนาดไหน เป็นห่วงก็แต่ “วิสัยทัศน์ผู้นำไทยจะไปถึงหรือไม่” เท่านั้นแหละ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ