Wellness Tourism ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

Wellness Tourism ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย

Date Time: 20 พ.ย. 2564 06:07 น.

Summary

  • อนาคตและโอกาสอันสดใสในธุรกิจ Wellness & Healthcare ที่จะนำรายได้เข้าประเทศได้มหาศาลเลยทีเดียว และช่วยปรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวไทยไปสู่นักท่องเที่ยวคุณภาพ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่อง “ยูนิคอร์นใหม่เศรษฐกิจไทย” กันนะครับ ช่วงนี้ผมไปเรียน หลักสูตร Wellness & Healthcare Business Opportunities Program for Executives รุ่น 1 (WHB 1) จัดโดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีเจ้าของกิจการและผู้บริหารธุรกิจ Wellness & Healthcare ไปเรียนกันมากมาย ได้เห็นอนาคตและโอกาสอันสดใสในธุรกิจ Wellness & Healthcare ที่จะนำรายได้เข้าประเทศได้มหาศาลเลยทีเดียว และช่วยปรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวไทยไปสู่นักท่องเที่ยวคุณภาพมีการใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้นมาก

มูลค่าธุรกิจ Wellness & Healthcare ในตลาดโลกแซงหน้า Medical Care ไปแล้ว

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก นักศึกษาหลักสูตร WHB 1 ผมขอเรียกว่า “หมอแอมป์” ก็แล้วกันนะครับ ได้พูดในเวทีเสวนาสมาคมโรงแรมไทยว่า “Wellness Tourism คือ Unicorn ใหม่ของภาคการท่องเที่ยวไทย” ทั้งในยุคโควิดและหลังจากนี้ ไทยมีศักยภาพ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” Medical Tourism มานานแล้ว แต่การขับเคลื่อนด้วยฝั่งการแพทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอ

คุณหมอแอมป์ บอกว่า ลูกค้ากลุ่ม Wellness Tourism คือ คนไม่ป่วย เขาต้องการไปเที่ยวมากกว่ากลุ่มคนป่วย ออกไปกิน ไปเที่ยว ไปออกกำลังกาย ใช้บริการสปา นวดไทย มีทั้งแบบ มาเที่ยวเพื่อตั้งใจดูแลสุขภาพ หรือ ไปเที่ยวด้วยได้ดูแลสุขภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การเช็กอัปร่างกาย บริการต่างๆที่ช่วยลดความเครียด ปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพ เป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุก (Proactive) ไม่ต้องรอป่วย

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2562 ตลาด Medical Tourism มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 3.6 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยว 41,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 9 พันคน แต่ Wellness Tourism มีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาไทย 12.5 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ การท่องเที่ยวกว่า 4 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 5.3 แสนคน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดการดูแลสุขภาพมาแรงก็คือ ปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลกป่วยเป็นโรค NCDs กลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังกันมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 41 ล้านคน เช่น ประเทศไทยก่อนโควิด มีผู้เสียชีวิต 351,880 รายต่อปี เฉลี่ย 44 คนต่อชั่วโมง อันดับ 1 คือ โรคหลอดเลือดสมอง ประกอบกับโลกกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” Aging Society โดยเฉพาะประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุปีนี้ถึง 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทำให้กลุ่ม Silver Age อายุเกิน 50 ปีขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน เริ่มนำเงินเก็บมาดูแลสุขภาพตัวเองและท่องเที่ยว

คุณหมอแอมป์ บอกว่า โควิดเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น ทำให้ร่างกายเจอทั้งศึกนอกศึกใน ทำให้คนทั่วโลกรักตัวกลัวตายกันมากขึ้น ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เจอเชื้อโรคเข้าไปอาจม้วนเดียวจบ ภาพรวมเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) ปี 2562 มีมูลค่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ 158 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.4% จากปี 2560 อันดับ 1 กลุ่มการดูแลตัวเอง ความสวยความงาม และการชะลอวัย มีมูลค่า 1.08 ล้านล้านดอลลาร์ อันดับ 2 กลุ่มกิจกรรมออกกำลังกาย 828,000 ล้านดอลลาร์ อันดับ 3 กลุ่มการกินเพื่อสุขภาพโภชนาการ และการลดนํ้าหนัก 702,000 ล้านดอลลาร์ อันดับ 4 Wellness Tourism 639,000 ล้านดอลลาร์ คาดว่าปี 2573 จะพุ่งขึ้นเป็น 1.59 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโต 7.2% ต่อปี

นี่คือ “ยูนิคอร์นเศรษฐกิจไทยตัวใหม่” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานหลายล้านคน ผมก็เก็บมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อส่งต่อไปยัง รัฐบาล และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อ ปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวไทย จากตลาดล่างขึ้นสู่ตลาดบน โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ