สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 3/64 ติดลบ 0.3% น้อยกว่าที่คิด เพราะใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจ เผยมีเม็ดเงินจากมาตรการรัฐอัดลงไป 2.1 แสนล้านบาท มั่นใจปี 64 จีดีพีไม่ติดลบ คาดขยายตัว 1.2% ส่วนปี 65 คาดขยายตัว 3.5–4.5%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3/64 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64-65 ว่า ไตรมาส 3/64 จีดีพีติดลบ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 และลดลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 7.6% ในไตรมาส 2/64 ขณะที่รวม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปีนี้ ขยายตัว 1.3% มั่นใจว่าถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนไปจากตอนนี้อย่างมีนัยสำคัญ ตลอดทั้งปีนี้จะไม่เห็นจีดีพีติดลบ เพราะมีแรงส่งจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าจีดีพีปี 64 จะขยายตัวได้ 1.2% ตามกรอบบนของการประมาณการเศรษฐกิจของ สศช.ในการแถลงเมื่อเดือน ส.ค.64 ที่มองว่าจะขยายตัวได้ 0.7-1.2%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 3/64 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจ จนส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง 3.2% การใช้จ่ายสินค้าหมวดคงทนลดลง 14.1% แต่จากการที่รัฐบาลออกมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับกระทบในกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 และโครงการลดค่าครองชีพของประชาชน เช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 210,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวมากนักในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกมูลค่า 67,249 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15.7%
“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 จะฟื้นตัวได้จากไตรมาส 3/64 ที่เป็นจุดที่มีปัญหามาก โดยตลอดปีที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.2% จะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 200,000 คน และจากที่มีมาตรการเยียวยา ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการติดลบ 6.1% ในปี 63 ส่วนเงินเฟ้อปีนี้คาดอยู่ที่ 1.2% และบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.5% ต่อจีดีพี ส่วนข้อเสนอของเอกชนให้นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้อีกครั้งเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อนั้น รัฐรับข้อเสนอไว้แล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะทำในลักษณะใด รูปแบบใด และจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดแรงส่งเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 65 คาดขยายตัว 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิต ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลาย การฟื้นตัวอย่างช้าๆของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศ คาดจะมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 440,000 ล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน ขณะที่การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค ภาคเอกชน คาดขยายตัว 4.3% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐ คาดขยายตัว 0.3% การลงทุนรวม คาดขยายตัว 4.3% การลงทุนภาคเอกชน คาดขยายตัว 4.2% การลงทุนภาครัฐ คาดขยายตัว 4.6% การส่งออก ขยายตัว 4.9%
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน มั่นใจว่า เศรษฐกิจปี 64 จะขยายตัวที่ 1% และปี 65 ขยายตัวได้ถึง 4% สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 65 คือ 1.การส่งออกที่ยังขยายตัวได้ 2.เม็ดเงินภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.7 ล้านล้านบาท ได้แก่ งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้าน งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะกู้ในปี 65 ประมาณ 300,000 ล้านบาท และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 300,000 ล้านบาท 3.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง พลังงานทดแทน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล “ปี 65 เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าควบคู่กับมาตรการดูแลโควิด-19 ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ให้ เกิดการระบาดอีกรอบ ไม่เช่นนั้นเราจะมีต้นทุน ด้านเศรษฐกิจที่มากขึ้นอีก”.