ซับน้ำตาชาวนาไทย ไขข้อข้องใจทำไม "ข้าวไทยราคาตกต่ำ"

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ซับน้ำตาชาวนาไทย ไขข้อข้องใจทำไม "ข้าวไทยราคาตกต่ำ"

Date Time: 9 พ.ย. 2564 12:49 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ไขข้อข้องใจทำไม "ข้าวไทยราคาตกต่ำ" เพราะค่าเงินบาทลดลง ผลผลิตในปี 64 นี้มากกว่าที่คาด และความชื้นสูง

Latest


  • 3 สาเหตุที่ทำให้ข้าวไทยในปี 2564 ราคาถูก
  • เรื่องข้าวต้องยกให้อินเดีย เมื่อเวียดนามไม่ใช่คู่แข่งของไทยอีกต่อไป
  • ชาวนาอาชีพ VS ชาวนามือถือ กับวาทกรรมชาวนาไทยยากจน
  • มาเลเซียแซงหน้าไทยรายได้เกษตรกรใกล้เคียงกับแรงงานนอกเกษตร

กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะเป็นชาติกสิกรรม...เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอคุ้นเคยกับประโยคขึ้นต้นของเนื้อเพลงรําวงกสิกรไทย ของวงสุนทราภรณ์ 

หลายสิบปีผ่านไปกับมีคำถามที่ว่า ประเทศไทยยังคงเรืองอำนาจเพราะเป็นชาติกสิกรรมอยู่หรือไม่ เพราะมาวันนี้ผลผลิตของพี่น้องชาวนา ชาวสวน และชาวไร่ ราคาตกต่ำอย่างน่าใจหาย

ตั้งแต่ต้นปี 64 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด และราคาตกต่ำเรื่อยมา หากเรายังจำกันได้ไม่ว่าจะเป็น เงาะ มังคุด หรือลำไย รวมถึงพืชผักต่างๆ ไล่เรียงจนมาถึง "ข้าว" โดยเฉพาะ 1 เดือนที่ผ่านมาเราจะได้เห็นข่าว ชาวนาไทย แทบถอดใจ ขายวัว ขายเครื่องมือทางการเกษตร เอามาจ่ายหนี้จ่ายสิน เพราะข้าวราคาถูกจนน่าใจหาย เรียกได้ว่า ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังแพงกว่าข้าว เสียอีก 

3 สาเหตุที่ทำให้ข้าวไทยในปี 2564 ราคาถูก

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า ถ้าถามว่าปี 2564 ทำไมข้าวไทยราคาถูก มาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 

1. ค่าเงินบาทลดลง ราคาข้าวที่จะส่งออก ลดลงตันละ 3-4 เหรียญ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ราคาร่วงตาม

2. ผลผลิตในปี 64 นี้มากกว่าที่คาด ปี 63 ที่ผ่านมาฝนฟ้าดี ซึ่งเราจะรู้ได้ว่าผลผลิตดีหรือไม่ก็อยู่ที่ตอนเริ่มเก็บเกี่ยว พอเริ่มรู้ว่าผลผลิตมากไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาสำคัญ คือ เราขายข้าวไม่ค่อยได้ โดยปี 64 นี้เราขายข้าวได้น้อยเป็นประวัติการณ์ ซึ่ง 10 เดือนแรก ณ สิ้นก.ย. 64 เราขายข้าวได้ทั้งสิ้น 3.8 ล้านตัน

ส่วนหนึ่งมาจากข้าวของเราแพง เพราะต้นทุนเราสูงกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิต รวมไปถึงต้นทุนการขนส่ง โดยปีนี้ทั้งปีคาดว่าเราจะขายข้าวได้  5 ล้านตัน เพราะค่าเงินบาทเริ่มลดลง การส่งออกก็น่าจะขึ้น หากเทียบกับปี 63 เราขายข้าวได้ 7.6 ล้านตัน เมื่อผลผลิตมากกว่าที่คาด ราคาก็ต้องตกเป็นธรรมดา

3. ความชื้นสูง เนื่องจากช่วงปลายเดือนก.ย.ถึงต้น พ.ย.64 เราจะเห็นได้ว่าพายุมาหลายลูกมาก นาหลายแห่งถูกน้ำท่วม และพายุฝนมาในช่วงเวลาที่ชาวนากำลังจะเก็บเกี่ยว ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่มีความชื้นสูงอยู่แล้ว ก็ทำให้เกิดปัญหาซ้ำเข้าไปอีก   

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีกลไกเข้าช่วยเหลือเกษตรแล้ว เช่น 1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2. การช่วยเหลือโครงการประกันรายได้ โครงการลดต้นทุนเพื่อการผลิตไร่ละ 500 บาท และการช่วยเหลือโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 500 บาท แต่ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายล่าช้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าความล่าช้าที่ว่าเกิดจากตรงไหน จึงทำให้ชาวนาได้รับผลกระทบ 

เรื่องข้าวต้องยกให้อินเดีย เมื่อเวียดนามไม่ใช่คู่แข่งของไทยอีกต่อไป 

ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาราคาข้าวไทยตกต่ำนั้นในช่วงระยะกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะประเด็น ทำไมเราถึงขายข้าวแพงกว่าคู่แข่ง มีดังนี้ 1. ผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำ สาเหตุเพราะเดี๋ยวนี้ เป็นชาวนามือถือ ไม่มีเวลาดูแลไร่นาเหมือนแต่ก่อน 

2. น้ำ เรามีนาชลประทาน 20-22% ของการเพาะปลูกหากเทียบกับเวียดนามมีถึง 70% ที่สำคัญเขามีเวลาและมีแรงงานดูแลนาข้าว ซึ่งการปลูกข้าวนั้นต้องการแรงงานที่มีความชำนาญสูง เพราะการดูแลข้าวต้องมีความพิถีพิถัน แต่ในขณะที่ชาวนาไทยต้องออกมาหารายได้เสริม

3. งานวิจัยในกรมการข้าว ไม่สนองตอบกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่ไทยละเลยมาพอสมควร หากเทียบกับเวียดนาม และอินเดีย เราจะเห็นได้ว่าเขาให้ความสำคัญกับการวิจัยต่างๆ เพราะเขารู้ว่าจะต้องแย่งกับตลาดไทย 

สมัยก่อนเวียดนามปลูกข้าวเพื่อบริโภคในประเทศ เพราะช่วงที่ปิดประเทศไปต้องเจอกับภาวะข้าวยากหมากแพง เพราะผลผลิตเขาล้มเหลว แต่หลังจากเปิดประเทศเขาก็พัฒนาตัวเองมาโดยตลอด จนสามารถผลิตข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จากนั้นก็เริ่มส่งออก

เวียดนามไม่ได้แข่งกับเราในแอฟริกา แต่เขาแข่งกับเราในเอเชียที่ซื้อข้าวในราคาสูง ประเทศที่เวียดนามชนะไทยได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ที่สำคัญตลาดใหญ่ที่สุดอย่างประเทศจีน เวียดนามก็ชนะ ซึ่งในจีนเองเป็นตลาดโควตาทางการเมือง ในส่วนของไทยนั้นก็พึ่งโควตาคอสโก้อยู่

อย่างที่เรารู้ๆ กัน จีนจะให้บริษัทเอกชนของจีนเข้ามารับซื้อ หรือทำสัญญาในลักษณะ G2G ซึ่งจีทูจีนี่หินมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ และราคากว่าจะได้สัญญาแต่ละฉบับค่อนข้างยาก แต่ประเด็นที่สำคัญคือ เวียดนามรู้ว่าจีนต้องการข้าวพื้นนุ่ม เขาจึงลงมือทำวิจัยมา 20 ปีจึงประสบความสำเร็จ

ในขณะที่ไทยเองงานวิจัยข้าวที่ผ่านมาไม่ได้สนองตอบต่อตลาด แต่จะเน้นแก้ปัญหาที่เกษตรแทน ผ่านไปหลายปีไทยเพิ่งมีจะพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ซึ่งผลผลิตน้อยที่ได้นั้นน้อยมาก ที่สำคัญมาช้ากว่าอินเดีย และเวียดนาม 

ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญในการทำงานวิจัย คือ งบประมาณ และแรงจูงใจ อยากจะบอกว่า งานวิจัยเกษตรไม่ได้สบายเหมือนงานวิจัยอื่นๆ เพราะต้องลงพื้นที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่งบประมาณการทำวิจัยข้าวก็ไม่ได้มาก จึงไม่สามารถดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน ขณะที่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญกับงบประมาณส่งเสริมการเกษตรที่ฉาบฉวย และไม่ได้แก้ปัญหาหรือพัฒนาให้ยั่งยืนได้ 

นอกจากนี้ หากประเทศพม่าไม่มีปัญหาเรื่องการเมือง พม่าจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 หรือ 2 ของโลกเพราะที่ดินลุ่มอิรวดีของพม่าสมบูรณ์ที่สุด แต่เพราะปัญหาการเมืองจึงทำให้พม่าล้าหลัง และพังในหลายเรื่อง

ส่วนอินเดียนั้นแต่เดิมเขาไม่มีข้าวส่งออก แต่รัฐบาลเขาปรับนโยบายใหม่ เพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรเพิ่มผลผลิต รวมถึงวิจัยพันธุ์ข้าวลูกผสม ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่สูงมาก และคุณภาพข้าวก็ได้มาตรฐาน

ถ้าถามว่าอินเดียประสบความสำเร็จได้อย่างไรนั้น เพราะเขาให้ความสำคัญกับงานวิจัย และการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตในจำนวนมากที่ได้มาตรฐาน ในขณะที่ไทยเองไทยไม่มีงานวิจัย เรื่องพันธุ์ข้าวลูกผสมที่จะต้องช่วยเพิ่มผลผลิตให้ได้ 1 ตัน หรือ 1.5 ตันต่อไร่ ซึ่งไทยไม่เก่งเรื่องนี้เลย แต่เราเก่งเรื่องปรับปรุงพันธุ์ เช่น ยีนข้าว แต่ตรงนี้กลับไม่ได้เพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร 

"ในอนาคตเกษตรกรไทยรายเล็กจะลำบาก ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยพัฒนาศักยภาพพวกเขา เช่น ถ้านาน้ำฝน ก็ต้องมาคิดว่าจะทำให้ผลผลิตออกมาได้อย่างไร เช่น ให้ได้ข้าว 600 กก.ต่อไร่ นี่ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว เพราะพืชแต่ละพันธุ์มีขีดจำกัด"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกษตรบางรายก็ปรับตัว นำเทคโนโลยีไปใช้ เช่น ทำนาหว่านให้ถูกต้อง ใช้ปุ๋ยถูกต้อง ปลูกถูกฤดู ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรหันมาทดลองในลักษณะนี้ เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลต้องเปลี่ยนระบบเสียใหม่ไม่ใช่ให้เงิน แต่รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ มีความเข้าใจ และนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อเพิ่มผลผลิต 

ปัจจุบัน เราจะเห็นภาคเอกชน หรือโรงสีข้าวหลายแห่ง ทำโครงการต่างๆ ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ อันนี้ต้องชื่นชมเพราะเขามาแล้วทำจริง มาดูผลลัพธ์ว่าเกษตรกรได้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างไร นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของชาวนาก็ดีขึ้นด้วย 

แต่เป้าหมายของรัฐในการทำโครงการ คือ อยากให้เกษตรเข้าร่วมเยอะๆ แต่ไม่เคยวัดผลเลยว่า เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นไหม เวลาที่ผมทำงานเรื่องนี้ ผมเห็นเอกชนเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคล เช่น เกษตรกรที่เขารวมกลุ่ม ทำข้าวอินทรีย์ขายในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป

พวกเขาสามารถขายข้าวอินทรีย์ในราคาสูง ซึ่งขายในแฟร์เทรดสูงกว่า 20% แม้จะผลิตน้อยเป็นสินค้า Niche หรือสินค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ได้รับความนิยม ประเด็นนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญ เช่นให้เกษตรกรรวมกันมา ทำข้อเสนอมาที่รัฐบาลมา กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่คัดเลือก แล้วให้ทุนพร้อมประเมินผล ซึ่งจะเพิ่มทั้งรายได้ และความรู้ โดยเฉพาะในอนาคตเรื่องเทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาท เกษตรกรไทยก็ต้องปรับ

"เราไม่จำเป็นต้องผลิตข้าวเพื่อส่งออกเยอะๆ เพราะข้าวเป็นตลาดพิเศษกว่าธัญพืชชนิดอื่นๆ สาเหตุเพราะรัฐบาลทุกประเทศมีนโยบายปกป้องเกษตรกรตัวเอง เช่น ฟิลิปปินส์เลิกปลูกข้าว และหันมาซื้อข้าวจากไทยกับอินเดียถูกกว่า แต่เขาก็ปลูกและตั้งกำแพงสูงๆ ซึ่งปีไหนมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ 1-2 แสนตัน แค่นี้ราคาข้าวก็กระเพื่อมเลย ซึ่งทำให้เรารู้ว่าอย่าไปผลิตมากขึ้นเลย หันไปปลูกพืชอื่น หรือปรับตัวเป็น ให้ข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น 

ที่สำคัญผมอยากให้ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งเรื่องงานวิจัยทางด้านข้าว และเราก็จะขายงานวิจัย ขายนวัตกรรมขายพันธุ์ ขายเครื่องจักร ขายความรู้ เหมือกับหลายๆ ประเทศ หรือเช่นญี่ปุ่นที่ขายเครื่องจักรที่ช่วยดำนา ไถนา หว่านเมล็ด แบบนี้เป็นต้น

"เราควรกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ พอความเจริญกระจุกตัวเป็นหย่อมๆ ห่วงอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เราก็ไม่เข้าใจว่าท้องถิ่นว่าเขามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน แม้จะอยู่ชนบทแต่ก็ทำงานนอกเกษตร ควบคู่ไปกับการทำเกษตรด้วย เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องแก้ไข พัฒนาคนให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่แก้ปัญหาแค่ระยะสั้นๆ ด้วยการแจกเงิน แต่อยากให้ทำแบบระยะยาว สร้างรายได้ภาคเกษตรให้ใกล้เคียงกับแรงงานนอกเกษตร"

ชาวนาอาชีพ VS ชาวนามือถือ กับวาทกรรมชาวนาไทยยากจน

ดร.นิพนธ์ บอกอีกว่า ชาวนายากจนมีจริง ที่ไม่ยากจนก็มี ก็ไม่อยากให้เหมาโหล ล่าสุด ผมเพิ่งคุยกับ ชาวนาคนหนึ่งทำนาที่นครปฐม ทำนาประมาณ 400 ไร่ กำไรสุทธิประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยกำไร 300,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเขาก็มองว่า กำไรที่ได้น่าจะไม่เพียงพอ เขาก็หันมาปลูกเมล่อนอีก 40 ไร่ เขาได้กำไรมากกว่าปลูกข้าว 400 ไร่อีก แต่คนนี้เก่งมากเขาสามารถผลิตข้าวได้ไร่ละ 1 ตัน ส่วนชาวนาคนที่ 2 ปลูกข้าวจำนวน 800 ไร่ ก็ลองคูณกันไปว่าเขาได้กำไรสุทธิเฉลี่ย 2.5 เท่า

"พวกเขาเป็นชาวนาอาชีพ เขามีความรู้ว่า เช่น จะต้องทำนาแค่ปีละ 2 รอบ ไม่ฝืนธรรมชาติ มีเวลาอยู่กับนาของตัวเอง จัดการหญ้าได้ดี แม้เขาจะต้องเสียเงินค่าสูบน้ำเข้าไร่นาเอง จัดการแมลงต่างๆ แตกต่างจากชาวนาอีกลักษณะหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ชาวนามือถือ เช่าพื้นที่ทำนา และจ้างทำเป็นส่วนใหญ่ เขาจะทำนาปีละ 3 รอบ พอปลูกผิดฤดูก็ทำให้ผลผลิตตกต่ำ พวกเขาไม่ได้ดูแลไร่นาของตัวเองแบบจริงจัง เพราะเอาเวลามาทำงานในเมืองแทน เช่น ขับแท็กซี่ มารับจ้างในเมือง แม้เขาจะมีรายได้เสริม หรือจนไม่จริง แต่คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ยังต้องปากกัดตีนถีบเหมือนเดิม"

ถ้ามองภาพใหญ่ รายได้ครัวเรือนของชาวนาที่ได้มาจากการทำนาจริงๆ 20% อีก 80% มาจากรายได้นอกจากเกษตร ซึ่งนาแปลงเล็กๆ ถึงแม้จะมีกำไรนะ แต่เงินก็น้อย ยกตัวอย่างเช่น นายเอ ทำนา 1 ไร่ ได้ผลผลิต 1 ตัน โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 บาทต่อไร่ และมีกำไรสุทธิ 5,000 บาทต่อไร่ โดยนายเอ ปลูกข้าวจำนวน 30 ไร่ เมื่อนำมาคำนวณแล้วจะได้กำไรที่ 150,000 บาท ซึ่งนายเอ ปลูกข้าว 2 รุ่น

สรุปกำไรที่นายเอจะได้ คือ 300,000 บาทต่อปี หากเทียบกับการทำงานทั่วไป เช่น ราชการแล้ว รายได้ของนายเอ จะเทียบเท่ากับคนชนชั้นกลางที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ถามว่าอยู่ได้ไหมก็พอได้ แต่ถ้ามีลูกนายเอก็อาจจะไม่พอ 2 หมื่นพอได้ แต่ถ้านายเอมี 300 ไร่ เท่ากับนายเอมีกำไรสุทธิต่อปีอยู่ที่ 3 ล้านบาท ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า ที่จนเพราะทำน้อย

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะผลิตข้าวที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity ต้องทำเยอะถึงมีฐานะการเงินที่ดี เพราะถ้าทำน้อย ทำอย่างไรก็ไม่พอกิน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่พอรู้ว่าเงินที่ได้น่าจะไม่พอ เขาจึงไปทำอาชีพเสริมอื่นๆ พอทำอย่างอื่นก็ไม่มีเวลาดูแลหญ้า จัดการสิ่งต่างๆ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เช่นต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท หรือผลผลิตที่คาดว่าจะได้ไร่ละ 1 ตันก็ลดลง ที่สำคัญคุณภาพข้าวก็จะไม่ได้ตามมาตรฐาน

มาเลเซียแซงหน้าไทยรายได้เกษตรกรใกล้เคียงกับแรงงานนอกเกษตร

ปัญหาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องแก้ไข เราไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากมองระยะยาวประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างใหญ่ โดยเฉพาะการปรับให้เกษตรกรต้องมีรายได้เท่ากับแรงงานนอกเกษตร นี่คือเป้าหมายสำคัญ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ใช้เวลา 100 ปีถึงปรับตัวสำเร็จ

เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย ที่ใช้เวลาประมาณ 50-60 ปี และวันนี้มาเลเซียเข้าใกล้ความสำเร็จแล้ว ปัจจุบันรายได้แรงงานนอกเกษตรกรสูงกว่าเกษตรกร 1.5 เท่าตัว เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งเริ่มปรับโครงสร้างพร้อมๆ กับมาเลเซีย แต่ของไทยรายได้แรงงานนอกเกษตรกรสูงกว่าเกษตรกร 4 เท่าตัว

เราเริ่มต้นพัฒนาเหมือนกับมาเลเซียเลย เราปรับตัวได้เร็วมาก แต่ช่วง 15 ปีหลัง เราไม่ปรับตัวแล้ว ภาคอุตสาหกรรมเสื่อมถอย ภาคบริการเราก็คุณภาพต่ำ ทำให้รายได้ต่ำ สาเหตุที่ทำให้เหลื่อมล้ำขนาดนี้ ภาคเกษตรมีรายได้ 10% ต่อ GDP แต่เรามีคนในภาคเกษตร 30% ถ้าเรามีรายได้ภาคเกษตร 10% เราต้องมีคนในภาคเกษตร 10% เพราะถ้ามีรายได้ 10% คุณมีคน 10% ที่เหลือ 90% เป็นรายได้นอกภาคเกษตร รายได้ก็จะเท่ากัน ตัวหัวจะเท่ากัน นี่คือเป้าหมาย

แต่เราดันลืมเป้าหมาย เอะอะ อะไรก็บอกให้คนกลับบ้านทำการเกษตร แบบนี้ก็จนสิ เพราะที่ดินก็มีเท่าเดิม เราจะเห็นได้ว่าที่ดินเป็นตัวสำคัญมาก แต่การที่คุณจะให้คนในภาคเกษตรมีจำนวน 30% ที่มีที่ดินมากๆ ไม่ได้ เพราะที่ดินประเทศไทยมีจำกัด การแก้ปัญหาการปฏิรูปที่ดินซอยที่ดินให้เล็กลงก็ยิ่งทำให้จนไปใหญ่ แนวคิดนี้สำคัญเมื่อ 40-50 ปี แต่มาวันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว

"มาวันนี้นโยบายต้องปรับได้แล้ว เพราะเราเน้นนโยบายแจกๆ ซึ่งได้ผลแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น หากดูจริงๆ เราจะพบว่าชาวนาได้ 3 เด้ง 1. ประกันรายได้ 2. การช่วยเหลือต้นทุนการผลิต 1 พันบาทต่อไร่ และ 3. ใช้น้ำฟรี เขตชลประทานใช้น้ำฟรี จึงมีการปลูกข้าวถึง 3 รอบ พอหน้าแล้งน้ำก็ไม่พอ ทำให้ผลผลิตก็ไม่ได้คุณภาพ เพราะปลูกผิดฤดูกาล"

ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ