วงการสตาร์ทอัพไทย ปัจจุบันมี Unicorn หรือ ยูนิคอร์น เกิดใหม่ถึง 3 รายด้วยกัน ได้แก่ Flash Express, Ascend Money และตามมาด้วย Bitkub ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนยูนิคอร์นกว่า 800 ตัวทั่วโลก
จากรายงานล่าสุดของ CB Insights การลงทุนในระดับ Global Venture Funding ทำให้เกิดจำนวนยูนิคอร์นใหม่เพิ่มขึ้น 127 บริษัท จากทั้งหมด 848 บริษัท ซึ่งเป็นยูนิคอร์นจากเอเชีย 30 บริษัท ทำให้เห็นเงินทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 95% YoY สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,200 ล้านดอลลาร์ และมีส่วนแบ่งจากตลาดเงินทุนโลกเติบโตจาก 26% ในไตรมาส 2 เป็น 32% ในไตรมาส 3 ของปีนี้
เส้นทางยูนิคอร์นของธุรกิจไทย
การลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำมาเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจรอบด้านของภาคเอกชน โดยปัจจุบันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของ GDP และคาดว่าจะสามารถเติบโตเป็นมากกว่า 25% ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า (อ้างอิง BOI)
ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทะยานถึง 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเกือบ 3 เท่าภายในปี 2025 (อ้างอิงจากรายงาน e-Conomy 2020 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company)
ทั้งนี้ สถานภาพของประเทศไทยจึงมีความโดดเด่นในฐานะประเทศหลักของกลุ่มอาเซียน อีกทั้งแนวโน้มดังกล่าวได้กระตุ้นบริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมต่างๆ เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างบริการรองรับความต้องการ และจัดการเส้นทางประสบการณ์ (Digital Journey) ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น
ในอีกมุมหนึ่งก็หมายถึงโอกาสของสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ธุรกิจที่จะได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งในแง่การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อก้าวกระโดดเป็นยูนิคอร์น เพื่อตอบรับการเติบโตดังกล่าว
เส้นทางระบบนิเวศของ FinTech สู่ความสำเร็จบริการดิจิทัล
เมื่อภูมิทัศน์ของตลาด การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเร่ง จะเห็นได้ว่าผู้เล่นจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้ก้าวข้ามเซกเมนต์ตลาดมาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจเดิม อาทิ การลงทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ การจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารหรือบริษัทประกันภัย หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกับผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อนำนวัตกรรมฟินเทค หรือภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เปิดรับสกุลเงินคริปโตเพื่อสร้างสีสันในตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นแนวโน้มการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีและบริการทางการเงินไปสู่ยุคใหม่
การศึกษา Fintech Adoption 2021 จัดทำโดย App Annie และ EY วิเคราะห์ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่าผู้ประกอบการที่เติบโตเร็วที่สุดหลายรายใช้กลยุทธ์การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการทางการเงินที่สร้างโอกาสสมประโยชน์ (Win-Win) กับทั้งสองฝ่าย
โดยการเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่าง Financial และ Non-Financial ทำให้ต้องร่วมกันพิจารณาโอกาส ความเสี่ยงและผลตอบแทนของการทำงานร่วมกันอย่างถี่ถ้วน และช่วยให้การกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น อาทิ ป้องกันตำแหน่งทางธุรกิจอย่างไร จะแข่งขันอย่างไร หรือแม้แต่การพิจารณาขยายขอบเขตการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการกลุ่มอื่นๆ
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
1. ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ ในอาเซียนกำลังขยายบริการ TechFin ไปพร้อมกับมองหาพันธมิตรในกลุ่มฟินเทคเพื่อผสานความแข็งแกร่งระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและอีวอลเล็ต เพื่อขยายฐานผู้ใช้ร่วมกัน และผสานความสามารถในการนำดาต้ามาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ในแบบ Win-Win ตลอดทั่วทั้งระบบนิเวศ
2. ผู้ให้บริการฟินเทค เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญกับในการเพิ่มมูลค่าบริการของสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการ และตอบรับความต้องการของผู้คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินรูปแบบเดิมๆ (Underserved) ให้สามารถได้ประโยชน์จากบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบในแอปเดียวนอกเหนือไปจากการจ่ายและโอน เช่น การฝากเงิน หรือการซื้อประกัน หรือการลงทุนในกองทุนต่างๆ หรือการซื้อหุ้น เป็นต้น
3. ฟินเทค สามารถเข้ามาช่วยมอบบริการที่มีความยืดหยุ่นกว่า ด้วยความได้เปรียบจากการมีเทคโนโลยีที่ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในอดีต ซึ่งสามารถทำให้เกิดการรีโมเดลธุรกิจ เพื่อลดกระบวนการดำเนินงาน การให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากขึ้น เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่ปรับรูปแบบให้สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันแทนการไปยื่นเอกสารที่ออฟฟิศ หรือสินเชื่อที่แค่วิเคราะห์ข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้จ่ายสินค้าและบริการ
4. หลายผู้ให้บริการกำลังมองหาและขยายการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง (deep tech) อาทิ Artificial Intelligence, Blockchain, Big Data, Quantum Computing ฯลฯ เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการที่ตอบสนองดิจิทัลไลฟสไตล์ และต้องตอบโจทย์ประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเงินให้กับผู้บริโภคที่มาเลือกใช้สินค้าและบริการ หรือเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน และสร้างความปลอดภัยทางการเงินในระบบนิเวศขององค์กรเอง
อย่างไรก็ ตามสถานะยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพในไทย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เม็ดเงินที่ได้รับจากผู้ลงทุนเท่านั้น แต่เป็นสัญญาณตัวชี้วัดที่แสดงถึงศักยภาพของธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็ว กล้าคิด กล้าสร้างโอกาสและความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเปิดรับความร่วมมือต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงศักยภาพในการเติบโตในต่างประเทศด้วย และในอีกมุมหนึ่งก็ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมาสู่ประเทศ
ทั้งนี้เพื่อจะก้าวไปสู่มิติของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และทุกคนในสังคม ทั้งลูกค้า คนทำงาน ผู้ประกอบการ และผู้กำหนดและใช้นโยบายจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ.