คะแนนความสุข "คนไทย" ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี สวนทางคนส่วนใหญ่ทั่วโลก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คะแนนความสุข "คนไทย" ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี สวนทางคนส่วนใหญ่ทั่วโลก

Date Time: 26 ต.ค. 2564 11:23 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • คะแนนความสุขของคนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี

Latest


จากข้อมูลของรายงานของ World Happiness Report (WHR) ที่ได้วัดคะแนนความสุข (Happiness score) และจัดอันดับในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,000 รายต่อประเทศต่อปี ว่ามีความสุขมากน้อยเพียงใด (Subjective well-being) ซึ่งคะแนนเต็ม 10 หมายถึงมีความสุขมากที่สุด และ 0 หมายถึงมีความสุขน้อยที่สุด และนำค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมาเป็นตัวแทนคะแนนความสุขของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้หากใช้คะแนนความสุขเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังปี 2561-2563 ที่ผ่านมา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ จะเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ในขณะที่อัฟกานิสถาน ซิมบับเว และรวันดา เป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในโลก

โดยหากพิจารณาถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน (ยกเว้นบรูไนที่ไม่มีข้อมูล) พบว่า สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุด (อันดับที่ 32) ตามมาด้วยไทย (อันดับที่ 54) และฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 61) ในขณะที่กัมพูชา (อันดับที่ 114) และเมียนมา (อันดับที่ 127) เป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นอันดับและคะแนนที่จัดก่อนเกิดการรัฐประหารในเมียนมา

ถึงแม้ว่าอันดับที่ 54 จาก 149 ประเทศ ของไทยนั้นจะเป็นอันดับที่อยู่ในระดับกลางๆ แต่หากพิจารณาข้อมูลในอดีตจะพบว่าเป็นอันดับที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากอันดับที่ 32 จาก 155 ประเทศ ในปี 2559 มาอยู่ที่อันดับ 54 ในปี 2563 (รูปที่ 1 ซ้ายมือ) สอดคล้องกับคะแนนความสุขของไทยที่ลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี (2553-2563)

โดยลดลงจากค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2552-2554 ที่ 6.12 คะแนน เหลือเพียง 5.97 ในช่วงปี 2561-2563 ขณะที่คะแนนความสุขเฉลี่ยของคนทั่วโลกพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.46 คะแนน (เฉลี่ยปี 2552-2554) เป็น 5.64 คะแนน (เฉลี่ยปี 2561-2563)


WHR ได้ทำการศึกษาและสรุปไว้ว่ามีปัจจัยหลัก 6 อย่าง ที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของคะแนนความสุขได้ดี ประกอบด้วย รายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) การได้รับการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งหมายถึงการมีบุคคลที่สามารถพึ่งพาได้ในยามลำบาก โดยเฉพาะญาติหรือเพื่อนสนิท (Social support) อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ณ แรกเกิด (Healthy life expectancy at birth) เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต (Freedom to make life choices) ความเอื้ออารีในสังคม (Generosity) และการรับรู้ต่อการทุจริตในสังคม ซึ่งหมายถึงการทุจริตทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน (Perceptions of corruption) ในส่วนของไทย เมื่อพิจารณาสาเหตุที่กำหนดระดับความสุขจากทั้ง 6 ปัจจัยในช่วงปี 2552-2563 พบว่า

  • อันดับรายได้ต่อประชากรและอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ณ แรกเกิดปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่อาจทำให้คนไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น
  • อันดับความเอื้ออารีในสังคม การได้รับการสนับสนุนทางสังคม และเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต ปรับลดลงในช่วงหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อันดับความสุขของคนไทยในภาพรวมปรับลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้อันดับความเอื้ออารีในสังคมจะปรับลดลง แต่ก็ยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สะท้อนลักษณะเด่นของสังคมไทยด้านความเอื้ออารีต่อกัน
  • ในส่วนของการรับรู้ต่อการทุจริตในสังคม แม้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในลำดับรั้งท้ายของโลก และยังแย่กว่าในช่วงปี 2552-2554 สะท้อนว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นปัจจัยฉุดความสุขในภาพรวมของคนไทย
  • นอกจากนี้ยังอาจมีปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยอื่นๆ ที่ทำให้คะแนนและอันดับความสุขของคนไทยลดลง เช่น สภาพแวดล้อมทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม หนี้ครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เป็นต้น


ทั้งนี้คงจะดีไม่น้อยหากในประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลคะแนนความสุขของประชากรเป็นประจำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนในการทำความเข้าใจว่าประชาชนกลุ่มใดที่มีระดับความสุขเท่าใด ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพราะเหตุใด และสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

โดยสรุป : ถึงแม้ว่าคะแนนความสุขเฉลี่ยของคนทั่วโลกจะสูงขึ้น แต่คะแนนความสุขของคนไทยได้มีแนวโน้มลดลง และอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสุขของคนไทยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลกประกอบด้วย ความเอื้ออารีในสังคม การสนับสนุนทางสังคม และเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตที่ปรับลดลงในช่วงหลัง อีกทั้งอาจยังมีปัจจัยเฉพาะตัวของประเทศไทยที่ทำให้คะแนนความสุขของคนไทยลดลง เช่น สภาพแวดล้อมทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม หนี้ครัวเรือน การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อมองไปข้างหน้า ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับความสุขของคนไทย ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซาจาก COVID-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตรอบที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่แย่ลง รวมถึงปัญหาคอร์รัปชันที่แพร่หลาย.


บทความโดย วิชาญ กุลาตี
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ