อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ MICE ย่อมาจาก Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions ซึ่งเป็นการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ การจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการจัดแสดงสินค้า และการประชุมสำคัญระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้าน
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ซบเซาลง เนื่องจากการจัดงานดังกล่าวต้องงดไปโดยปริยาย ซึ่งจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ให้ข้อมูลว่า ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 - ก.ย. 62 ประเทศไทยมีรายได้จากนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 93,971 ล้านบาท และจากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 107,046 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 62 - ก.ย. 63 เราได้รายได้จากนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศลดลงเหลือ 29,843 ล้านบาท หรือ 68.24% และจากนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 32,872 ล้านบาท ลดลง 69.29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ส่วนครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 63 - ก.ย. 64 ทั้งจำนวนและรายได้ของนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ ลดลง 90% จากช่วงเดียวกันปี 2563 และจำนวนนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศ ลดลง 60% รายได้ลดลง 70% เมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ที่ต่ำกว่าปีปกติอยู่แล้วด้วย โดยในปีงบประมาณ 2564 มีงานไมซ์ต่างประเทศ ที่ยกเลิกการจัดงาน 14 งาน รวมจำนวนคนที่ไม่ได้มา 30,700 คน ถูกเลื่อนการจัดงาน 38 งาน รวมจำนวน คนเข้าร่วมงาน 1.06 ล้านคน
ทั้งนี้ ทีเส็บได้ประสานขอให้กลับมาจัดในปีถัดไป และมีงานไมซ์ต่างประเทศที่ยืนยันจัดตามแผน 44 งาน เป็นการจัดงานเดือน ก.ค. - ต.ค. รวมคน 218,000 คน ด้านงานไมซ์ในประเทศที่ยกเลิกการจัดงาน 14 งาน ถูกเลื่อน 44 งาน และยืนยันจัดตามแผน 33 งาน
สำหรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ จิรุตถ์ มองว่า จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 25% ส่วนปี 2566 จะอยู่ที่ 50% ปี 2567 จะอยู่ที่ 70% และปี 2568 จะกลับสู่ภาวะปกติ 80% ซึ่งทีเส็บจะเน้นเจาะกลุ่มตลาดที่เป็นระยะใกล้และมีความพร้อมก่อน เช่น สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน และจะพยายามหาโอกาสทางการตลาด ส่วนตลาดไมซ์ในประเทศ คาดว่าปี 64 จะกลับมาที่ 35% ปี 2565 ที่ 60% ปี 2566 ที่ 80% ปี 2567 กลับสู่ปกติที่ 100% และปี 2568 เติบโตเป็น 110%
นำร่อง 4 จังหวัดจัดอีเวนต์ รับการเปิดประเทศ
ขณะที่ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็บ กล่าวว่า ก่อนโควิด-19 ระบาดอุตสาหกรรมไมซ์ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจปีละกว่า 500,000 ล้านบาท โดยเกือบ 300,000 ล้านบาท เป็นไมซ์ในประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล ทีเส็บจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมุ่งเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก
ทีเส็บจึงจัดโครงการเปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐาน ในแคมเปญเปิดเมืองไมซ์ ร่วมใจช่วยชาติ กระตุ้นให้เมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 แห่ง จัดงานเพื่อฟื้นฟูตลาด ได้แก่ แคมเปญ Regional Best Show สำหรับงานแสดงสินค้าที่เป็นเป้าหมายหลักของภูมิภาค และแคมเปญ Gear Up Exhibition สำหรับงานแสดงสินค้าทั่วไป
ทั้งนี้ ได้เลือกจังหวัดขอนแก่น จัดงานต่างๆ เช่น การประชุมนานาชาติไหมไมซ์, การจัด Business Forum ร่วมกับกลุ่มประเทศทางยุโรป และการขับเคลื่อนขอนแก่นเป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่สู่สากลภายใต้ชื่องาน มัดหมี่เบียนนาเล่ 2021 ถักทอเส้นใยอีสาน สู่สายใยโลก ที่จะจัดภายในปลายปี 64
ส่วนจังหวัดชลบุรี ที่เมืองพัทยานั้นก็จะมีงานประชุมสัมมนาของไลออนส์โลก, งาน Air Show ที่ดำเนินการร่วมกับทีเส็บ โดยปลายปี 64 ด้วยก็จะมีงาน Pattaya Festival, งาน Pattaya International Fireworks, งาน Pattaya Countdown และงาน Coffee Festival
ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือได้เตรียมจัดงานใหญ่ FTI Expo 2022 วันที่ 2 - 6 ก.พ. 65 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ โดยภายในงานจะมีทั้งการจัดประชุมนานาชาติ การประชุมองค์กรของสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่มีสมาชิกมากกว่า 12,000 คน การเยี่ยมชมโรงงาน สถานประกอบการ และการสัมมนาวิชาการในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจอีกด้วย
ทิ้งท้ายที่ภูเก็ต เตรียมทำยุทธศาสาตร์ GEMMSS Strategy คือ G-Gastronomy, E-Education, M-Marina, M-Medical, S-Sport City, S-Smart City เนื่องจากเห็นว่าไมซ์สามารถที่จะผนวกเข้าไปไว้กับทุกเรื่องได้ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจของภูเก็ตจากเดิมที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
"อุตสาหกรรมไมซ์" ในสิงคโปร์ ใช้ Hybridization Event ดึงเงินกลับประเทศ
ลองมาดูตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์กันบ้าง ในช่วงที่ผ่านมาเรามักจะได้เห็นอีเวนต์สำคัญๆ จัดขึ้นที่เกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ โดยในแต่ละปีอุตสาหกรรมไมซ์นั้นสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศนี้ โดย โจ ชู ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ประจำประเทศไทย หรือ STB ชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินดังกล่าวว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด MICE ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศมากถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 9.3 หมื่นล้านบาทต่อปีเกิดการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมกว่า 34,000 อัตรา
แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศได้ลดลงตามมาตรการความปลอดภัย นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจงานอีเวนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกด้วยมีผลให้การจัดงานอีเวนต์ในประเทศสิงคโปร์ลดลงกว่า 95%
โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์จับมือทำงานร่วมกับเจ้าของธุรกิจโดยตรงเพื่อรับฟังปัญหาและต่อยอดไปสู่แนวทางแก้ไขให้อุตสาหกรรมไมซ์กลับมาคึกคักอีกครั้งและวางแผนให้ธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป
ทั้งนี้ Singapore Tourism Board ร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสิงคโปร์ หรือ Enterprise Singapore วางโรดแมปการปรับตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ ได้แก่ 1. กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการจัดงานอีเวนต์ หรือ SG Safe Event Standard
2. ส่งเสริมและผลักดันการจัดงานในรูปแบบไฮบริด หรือ Hybridization Event จากผลสำรวจของการท่องเที่ยวสิงคโปร์พบว่า 60% ของผู้เข้าร่วมงานอีเวนต์ ยังรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องเข้าร่วมงานที่มีคนมากกว่า 300 คน เพราะยังกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเฉพาะ Hybridization Event ที่สิงคโปร์เร่งผลักดันเต็มรูปแบบ โดยผสมผสานการจัดงานทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ จำกัดจำนวนผู้เดินทางมาร่วมงาน แต่เพิ่มจำนวนผู้ร่วมงานผ่านออนไลน์ โดยดึงนวัตกรรมการสื่อสารผนวกกับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อผลักดันให้ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ปรับตัวสู่การจัดไฮบริดอีเวนต์ที่ทั้งมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ภาครัฐได้ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ หรือ Emerge Stronger Taskforce เพื่อให้ความรู้ในด้านนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ หรือ Business Model Innovation ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งวิเคราะห์ความเสี่ยงและหาโอกาสทางธุรกิจ
รวมถึงสร้างเครือข่ายชุมชนผู้จัดงานอีเวนต์ (Event Community Network) ซึ่งการปรับตัวสู่การจัดอีเวนต์ไฮบริดช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เจ้าของธุรกิจ เพราะมีผู้เข้าร่วมงานได้มากขึ้นกว่าการจัดงานแบบเดิม (Physical Event) ที่ถูกจำกัดจำนวนผู้ร่วมงานด้วยพื้นที่ และจากผลสำรวจพบว่า 81% ของออร์แกไนเซอร์ต้องการเรียนรู้และพร้อมที่จะจัดงานในรูปแบบใหม่ๆ
ยกตัวอย่างเช่น การประชุม Singapore International Energy Week Conference 2020 ที่จัดขึ้น ณ ไฮบริด บรอดคาสตท์ สตูดิโอ ภายในงานมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น เวทีสามมิติ โฮโลแกรม โดยผสมผสานเทคโนโลยีโลกเสมือนรูปแบบ AR VR และ XR เข้าด้วยกันก้าวข้ามขีดจำกัดด้านสถานที่และเวลา ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกก็สามารถเข้าร่วมงานได้เสมือนจริง
รวมทั้งทริปท่องเที่ยวเสมือนจริงไปกับแอร์บีเอ็นบี (Online Experience Singapore with Airbnb) งานฟรี ไฟเออร์ เวิลด์ ซีรีส์ 2021 (Free Fire World Series 2021) งานเทศกาลศิลปะนานาชาติสิงคโปร์ ครั้งที่ 21 (SIFA 2021) และ นิทรรศการประติมากรรมเป่าแก้ว Glass in Bloom by Dale Chihuly ซึ่งงานเหล่านี้ล้วนใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อให้การจัดงานไฮบริดประสบความสำเร็จและดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกเข้าชมงานแทบทั้งสิ้น โดยโปรเจกต์ดังกล่าวถือเป็นการเดินหน้าสู่การใช้ชีวิตปกติ ด้วยการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้โควิดยังระบาดทั่วโลกก็ตาม.