นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยในงาน Sustainable Thailand 2021 รวมพลังนักลงทุนสถาบันและภาคธนาคาร ร่วมกันประกาศเจตจำนงร่วมสร้างประเทศไทยยั่งยืนว่า ขณะนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าหลังโควิดจบแล้วเศรษฐกิจไทยจะเดินไปทิศทางใด ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 จะออกมาเร็วๆนี้ เพื่อเป็นแนวทางของประเทศ ส่วนกระทรวงการคลัง พยายามสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการฟื้นตัว โดยการรับมือกับโควิด เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้วางรากฐานที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนแล้ว ซึ่งรัฐพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการ 2-3 โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม จัดกิจกรรมเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น และวางนโยบายการคลัง เพื่อช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน
“เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหลายระลอก รัฐนำมาตรการทางการเงินและการคลังมาช่วยเหลือธุรกิจและประชาชน เชื่อว่าปี 64 เศรษฐกิจจะโตได้ 1.3% ค่อนข้างดี และปีหน้าจะรักษาแรงส่งต่อไป เพื่อให้เติบโตได้ 4-5%”
ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงานประชุมสามัญประจำปี 64 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด” ว่า วิกฤติโควิดส่งผลกระทบในวงกว้างและแรง ทั้งต่อธุรกิจและครัวเรือน โดยผู้ประกอบการโรงแรมจำนวนมากมีสภาพคล่องทำธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หลายรายปิดกิจการชั่วคราว และบางส่วนขายกิจการ มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน 3.5 ล้านคน ภาคการผลิตได้รับผลหนัก ผู้ประกอบการแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการป้องกันการระบาด
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ช่วยให้ระบบการเงินและสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติเพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ปีนี้ที่เศรษฐกิจโตจะไม่ถึง 1% แต่สินเชื่อเดือน ก.ค.ยังขยายตัวได้ 4% ใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด คิดเป็นสินเชื่อใหม่กว่า 500,000 ล้านบาท “วิกฤติครั้งนี้ แม้การปล่อยสินเชื่อธนาคารทำได้ดี แต่ยังไม่พอและไม่ทั่วถึง ธปท.จึงออกโครงการสินเชื่อฟื้นฟู รวมทั้งประสานปล่อยสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ เพื่ออุดช่องว่างผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้เดือน ก.ค.64 สินเชื่อเอสเอ็มอีโต 1% เทียบกับไม่มีมาตรการ สินเชื่อเอสเอ็มอีติดลบ 1% แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ธปท.พร้อมออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติมบรรเทาผลกระทบอีก”.