ปิดหลุมรายได้คนไทยที่หายไป ขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปิดหลุมรายได้คนไทยที่หายไป ขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70%

Date Time: 27 ก.ย. 2564 05:39 น.

Summary

  • ในที่สุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” เห็นชอบการขยายเพดานหนี้สาธารณะของไทยจากเพดานเดิม 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เป็น 70%

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ในที่สุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ซึ่งมีนายก รัฐมนตรี เป็นประธาน รมว.คลัง เป็นรองประธาน

โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการ ได้ร่วมกันเห็นชอบการขยายเพดานหนี้สาธารณะของไทยจากเพดานเดิม 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เป็น 70% เป็นการชั่วคราว

เพื่อให้การบริหารจัดการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิดสามารถทำได้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากมีการประเมินจาก ธปท.ว่า “หลุมลึก” ที่ประเทศไทยได้รับจากวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้จะกระทบต่อรายได้ของคนไทยอย่างน้อย 3 ปี ตั้งแต่ปี 63-65 ส่งผลให้รายได้ของคนไทยหายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท และการฟื้นฟูเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลายาวออกไป โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญที่เหลืออยู่เพียงเครื่องยนต์เดียวคือ “เม็ดเงินจากภาครัฐ”

ดังนั้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนจากโควิด-19 แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และครั้งที่สอง 500,000 ล้านบาท โดยล่าสุดยังมีเงินที่กู้มาแล้วเหลือประมาณ 350,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับ “ถมหลุมลึก” ของความเสียหายให้เต็มได้

และทางออกที่ทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนเสนอคือ การกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านล้านบาท แต่การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะ ล่าสุด ณ สิ้น ก.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 8,909,063.78 ล้านบาท หรือ 55.59% ของจีดีพี สูงขึ้นทะลุเพดานหนี้เดิมที่ 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นที่มาของการตัดสินใจขยายเพดานหนี้ในครั้งนี้

และการขยายเพดานหนี้ดังกล่าว สอดคล้องกับการดำเนินการของรัฐบาลทั่วโลก และปัจจุบันหลายประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่าไทยมาก โดยกลุ่มประเทศพัฒนามีสัดส่วนอยู่ประมาณ 120% และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียอยู่ที่ 70% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญ และควรให้ความสนใจมากกว่า คือ เม็ดเงินที่กู้มาแล้วและกำลังจะกู้เพิ่มเติมนั้น ได้ลงไปตรงจุดเปราะบางของเศรษฐกิจหรือไม่ มีผลสัมฤทธิ์ในการถมหลุมรายได้ให้ตื้นขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือเป็นมาตรการแบบ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ที่ทำแล้วหายไป ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีแนวทางหรือมาตรการใดๆตามมาอีกบ้าง โดยเฉพาะการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น การรักษาการจ้างงานและลดจำนวนคนตกงาน และผู้เดือดร้อนลง

นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึง “การรักษาวินัยทางการคลัง” โดยมีแนวทางการใช้หนี้คืนที่ชัดเจน เพื่อที่กลับมาใช้เพดานหนี้เดิมที่ 60% ซึ่งเป็นเส้นเสถียรภาพของการเป็นหนี้โดยเร็วที่สุด และทั้งหมดนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” รวบรวมมุมมองของภาคผู้เชี่ยวชาญ และภาคเอกชน มาให้อ่านกัน...

อมรเทพ จาวะลา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

เห็นด้วยในหลักการเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60% เป็น 70% เพราะหากมองระยะสั้น เศรษฐกิจไทยโตช้าสุดในภูมิภาค นโยบายการคลังจึงต้องเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสามารถกู้ได้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 2 ปีจากนี้ ส่วนตัวมองว่าเงินที่กู้ควรแบ่งสัดส่วนการใช้เงินออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยแบ่งเป็นเงินที่แจกให้ประชาชนแบบแจกแล้วจบ 40% เงินที่นำไปใช้ให้เกิดการจ้างงาน 40% และเงินกระตุ้นการบริโภค 20%

สำหรับหนี้สาธารณะที่ขึ้นมา 70% ไม่ถึงขั้นทำให้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลง เพราะประเทศที่หนี้สาธารณะใกล้เคียงไทย ยังมีอันดับความน่าเชื่อถือยังดี เพราะสามารถนำหนี้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ประเทศไทย หากไม่กู้เงินแล้วปล่อยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง มีโอกาสเสี่ยงซึมยาว โตช้า จีดีพีปีนี้มีโอกาสโต 0% ปีหน้าโต 3% กว่า ในความสามารถโตราว 3% กว่าๆนี้ ถ้าจะใช้การกู้เงิน รอบนี้ ไม่ให้เสียเปล่าแล้ว การขับเคลื่อนจีดีพีโตได้เร็วจะทำให้หนี้ต่อจีดีพีลดลงมาได้ในอนาคต

การขยายเพดานหนี้สาธารณะ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือรัฐบาลจะสามารถกู้เงินอีกล้านล้านบาท เพื่อประคองการบริโภค โดยแจกให้คนจน กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ประกันสังคมและอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยยับยั้งไม่ให้คนเสี่ยงติดเชื้อจากการไปทำงานนอกบ้าน อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลจ่ายแล้วจบก็เป็นเพียงการประคองเศรษฐกิจระยะสั้น เป็นการซื้อเวลาเปิดเมืองไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ ระยะยาว

และจะดียิ่งกว่า หากรัฐนำเงินคลังไปสนับสนุนการจ้างงานในชนบท กระจายอำนาจทางการคลังให้ท้องถิ่นเลือกใช้โครงการเอง เพื่อบริหารจัดการน้ำหรือสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ คู่ขนานไปกับกระตุ้นการบริโภค เช่น การเติมเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกระเป๋าให้ใช้จ่ายหรือท่องเที่ยว แต่ควรกระจายช่วยร้านค้าเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก

ข้อดีอีกข้อ คือ หากภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และยังช่วยนักลงทุนน่าจะคลายความกังวลอีกด้วย แต่จะมีผลข้างเคียงบ้าง ตรงที่การระดมกู้เงินของภาครัฐ จะไปทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น กระทบต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถตัดตอน ไม่ให้การกู้ภาครัฐกระทบตลาดการเงินได้ โดย ธปท.ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ทำมาตรการ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบ

ส่วนข้อเสียของการขยายเพดานหนี้นั้น ผลกระทบระยะยาวคืออาจได้เห็นการเก็บภาษีเพิ่มเติม เช่น ขึ้นภาษี VAT, ภาษีมรดก, ภาษีที่ดิน และอื่นๆ แต่การขึ้นภาษีล้วนมีแรงกดดันทางการเมือง จึงมักทำได้ยากและทำได้น้อย

ด้านมองเสถียรภาพทางการคลัง เชื่อมั่นว่า รมว.คลัง มีความเป็นห่วงวินัยการคลังและระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่แล้ว การขยายเพดานหนี้คงเป็นเพียงการเตรียมพร้อมหากต้องกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ กรณีการระบาดลากยาว เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง ยิ่งจีดีพีไทยในอนาคตยังเสี่ยงโตช้าจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงอายุ ศักยภาพการเติบโตอาจต่ำ 3% แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น ก็ยังไม่น่ากระทบอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะหนี้ที่ว่ายังต่ำกว่าประเทศอื่น เว้นแต่รัฐบาลในอนาคตจะประสบปัญหาอีกครั้ง เพราะวิกฤติเศรษฐกิจนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

มองหนี้รัฐบาลแล้วต้องมองหนี้ครัวเรือนต่อ วันนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ทะลุ 90% หากเศรษฐกิจไทยโตช้าต่อเนื่อง แต่คนยังต้องการสินเชื่อเพื่อใช้จ่าย ซื้อรถยนต์ ลงทุนซื้อบ้าน อีกไม่เกิน 5 ปี หนี้ครัวเรือนไทยจะทะลุ 100% ของจีดีพี ถึงตอนนั้นมาคุยกันใหม่ว่ายังเหลือใครเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยดอกเบี้ยยังอยู่ในขาขึ้นด้วย

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ปลดล็อกเพดานหนี้ครั้งนี้ มีความจำเป็น สำหรับประเทศไทย เพราะ รัฐบาลทั่วโลกหากเผชิญวิกฤติเช่นนี้ ก็ต้องทำ เพดานหนี้ 70% ไม่ถือว่าสูงเกินไป และหนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินบาทเกือบทั้งหมด โดยประเมินความเสี่ยงต่างๆก็ยังถือว่าต่ำ เพราะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและพื้นที่ทางการคลัง เพื่อความคล่องตัว ให้กับการดำเนินนโยบาย ที่รองรับกับวิกฤติโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้กู้เงินเพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบดังกล่าว ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และกู้เงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท โดยหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 8.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 55.9% และยังคาดการณ์ว่า ในเดือน ก.ย.นี้ หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 58.96% ต่อจีดีพี ที่ 16 ล้านล้านบาท

ทำให้ในปีหน้า อาจหลุดกรอบ 60% ตามที่ตั้งไว้ การปลดล็อกเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในสถานการณ์ฉุกเฉินจากเดิม 60% เป็น 70% ไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น แต่เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้รัฐบาล สามารถเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง ผ่านการกู้เงินได้อีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท (จากเดิมที่รัฐได้กู้เงินไปแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท) เพื่อเป็นเม็ดเงินใหม่ ที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อจุดติดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้กลับมามีกำลังอีกครั้ง และเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในปี 2565

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการการเยียวยาที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 จนถึงขณะนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบคิดเป็นเงินประมาณ 2.5-2.6 ล้านล้านบาท

นายเกรียงไกรกล่าวต่อไปว่า การใช้เงินกู้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจต้องแบ่งเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นระยะๆตามจำนวนสัดส่วนของการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม คือระยะแรก เมื่อปริมาณการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศถึง 25-30% ของประชากร

ระยะที่สอง เมื่อปริมาณการฉีดวัคซีนในประเทศถึง 40-50% และระยะที่สาม เมื่อปริมาณการฉีดวัคซีนในประเทศถึง 60-70% วิธีนี้จะทำให้การใช้เม็ดเงินมีประสิทธิภาพ สอดคล้องความเป็นจริง ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาค่อยๆฟื้นตัวได้ และส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ที่หยุดทำงานมาเกือบ 2 ปี กลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้งหนึ่ง

“การดำเนินนโยบายดังกล่าวผ่านมาตรการต่างๆจะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด โปร่งใส ตรงจุด ฉับไว สอดคล้องกับสถานการณ์”

ที่สำคัญเงื่อนไขการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ก็จะต้องเป็นการขยายแบบชั่วคราวเท่านั้น โดยหนี้สาธารณะต้องกลับมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 60% ของจีดีพี ภายใน 10 ปี โดยรัฐบาลต้องมีแผนการจัดหารายได้เพิ่มเติม เพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ภาษี ที่อาจจะต้องหาฐานภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีจากฐานทรัพย์สิน เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องบริหารสินทรัพย์ของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รัฐวิสาหกิจใหญ่ๆของรัฐบาล จะต้องเร่งให้สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อส่งเงินเข้ารัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การบริหารการจัดการสัมปทานของรัฐเพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้มีเม็ดเงินเพียงพอ ต่อการลดขนาดการขาดดุลการคลัง ตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้งรักษาวินัยทางการคลังควบคู่ไปด้วย เพราะการทุ่มเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ย่อมจะสร้างความเสี่ยงให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า

“การทุ่มเงินต้องทำควบคู่ไป ทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข คือ การกระจายและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากร จนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ มิเช่นนั้นแล้ว เงินที่ถมลงไป จะเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศ”

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เราจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาเหมือนเดิม เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 63 เม็ดเงินหายไปราว 4 ล้านล้านบาท จากการล็อกดาวน์ในประเทศหลายครั้ง กระทบต่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ที่สร้างรายได้ปีละราว 3 ล้านล้านบาท

เมื่อเม็ดเงินหายไปมหาศาล รัฐต้องใช้เงินกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนเท่ากับที่สูญเสียไป แต่ที่ผ่านมา รัฐออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ครั้งรวม 1.5 ล้านล้านบาท และมีเงินจากการขาดดุลงบประมาณ 2 ปี อีกราว 1 ล้านล้านบาท รวม 2.5 ล้านล้านบาทมาใช้เยียวยา ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เพียงพอรัฐต้องกู้เพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านบาท แต่การกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทเดิม กำลังจะชนเพดานหนี้สาธารณะ 60% ของจีดีพีแล้ว จำเป็นต้องขยายเพดานเป็น 70% ให้สามารถกู้เงินก้อนใหม่เพิ่มได้อีก เพื่อมาอุดรูรั่วของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะและการใช้เงินกู้เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วที่จะทำให้เกิดการจ้างงานนั้น จะเป็นผลบวกมาก เพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทั้งระบบ “ถ้ารัฐใช้เงินเพิ่มเติมได้เร็ว และมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตได้ 1-2% หรือใกล้เคียงกรอบ 1.5-2% จากเดิมที่คาดโต 0-1% และยังสร้างหลักประกันได้อีกว่าปีหน้ามีโอกาสโตได้ถึง 5% ถ้าทำได้ ถือว่าเงินกู้มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพเพราะเศรษฐกิจไทยหลายปีที่ผ่านมา หลุดกรอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการให้โตปีละ 5%”

อย่างไรก็ตาม การขยายเพดานหนี้สาธารณะ ไม่ได้หมายความว่า รัฐจะกู้เงินก้อนใหม่ทันที เป็นเพียงเตรียมการให้พร้อมถ้าจะกู้เพิ่ม โดยหากรัฐจำเป็นต้องกู้เพิ่มเห็นว่าควรกู้ 500,000-750,000 ล้านบาทก็พอแล้ว เพราะยังมีเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่ยังใช้ไม่หมดอีกส่วนหนึ่ง

แต่แม้การขยายเพดานหนี้สาธารณะจะมีผลดี แต่มีผลเสียด้วย โดยมีความเสี่ยงของความล้มเหลวด้านการคลัง เพราะหนี้สูงขึ้น อาจทำให้ไทยถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำลง ส่งผลให้รัฐออกหุ้นกู้ต่างประเทศมีดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ถ้ารัฐทำให้จีดีพีเป็นบวกได้ สัดส่วนหนี้ก็จะลดลง “ถ้าปีหน้า เงินกู้ที่เข้ามาอัดฉีดในระบบ ทำให้จีดีพีโตได้ 5% ขึ้นไป จะทำให้หนี้อยู่ในกรอบ 60% ได้ ซึ่งการกู้เงิน ดีกว่าไม่กู้ เพราะถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจโตต่ำและขาดแรงกระตุ้น เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า รัฐไม่กล้าใช้งบเกินดุล จะปิดหีบไม่ลง เท่ากับรัฐบาลถังแตก”

สำหรับเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ที่อัดฉีดเข้าระบบผ่านโครงการต่างๆของรัฐ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการประเมินโดยรัฐว่า สำเร็จคุ้มค่าหรือไม่ แต่จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ความเชื่อมั่นของประชาชนยังต่ำลง แสดงว่าโครงการต่างๆยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ