กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย (4) : โครงสร้างพื้นฐานทะเบียนแรงงาน คือ กุญแจสำคัญ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย (4) : โครงสร้างพื้นฐานทะเบียนแรงงาน คือ กุญแจสำคัญ

Date Time: 18 ก.ย. 2564 06:04 น.

Summary

  • ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดจนกระทั่งภาครัฐต้องประกาศล็อกดาวน์และเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ได้รับการพัฒนาให้รองรับการส่งผ่านความช่วยเหลือ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ต่อจากที่ผู้เขียนได้เสนอ “กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย” ไว้ในตอนที่แล้ว ได้แก่ 1) รับมือความท้าทาย เยียวยาผลของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบาง 2) ปรับตัวแก้จุดอ่อน ใช้ช่องทางดิจิทัลให้แรงงานพัฒนาทักษะตรงกับความต้องการของตลาด 3) ป้องกันผลกระทบ สร้างโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็งจัดสรรแรงงานอย่างยืดหยุ่น และ 4) เร่งรุกขยายผลบวก ปลดล็อกข้อจำกัดเอื้อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าเต็มที่ ล้วนต้องอาศัยปัจจัยหลัก หรือ Key Enablers ผลักดันให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาคุยกันต่อในครั้งนี้

ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดจนกระทั่งภาครัฐต้องประกาศล็อกดาวน์และเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ได้รับการพัฒนาให้รองรับการส่งผ่านความช่วยเหลือ คือ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน โดยโครงการวิจัยนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาโครงการ

ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างทะเบียนแรงงานเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูตลาดแรงงานไทย ให้การดำเนินนโยบายการดำเนิน ธุรกิจ และการดำรงชีวิต อยู่บนฐานการใช้ประโยชน์ทางข้อมูลอย่างเต็มที่ ดังนี้ (1) ภาครัฐออกแบบนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ มีกลไกความร่วมมือด้านข้อมูลทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐ และระหว่างรัฐกับเอกชน (2) ธุรกิจและแรงงานทราบสถานการณ์ปัจจุบัน ของตลาดแรงงานและสามารถเข้าถึงงาน/แรงงานที่เหมาะสมกับความต้องการ และ (3) ผู้ให้บริการพัฒนาทักษะ เช่น มหาวิทยาลัย บริษัทฝึกอบรม รับทราบข้อมูลแรงงานและให้บริการตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวพบว่า โครงสร้างทะเบียนแรงงานไทยในปัจจุบันมีการทำงานด้านข้อมูลแยกส่วนไม่เป็นเอกภาพ แต่ละหน่วยงานภาครัฐมี โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลระดับบุคคลตามบทบาทหน้าที่ของตน แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น และไม่เปิดให้เอกชนใช้งาน ภาคเอกชนเข้าถึงเพียงข้อมูลสถิติ ผู้ให้บริการพัฒนาทักษะเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านตลาดแรงงาน โดยสาเหตุหลักของปัญหาไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนเครื่องมือทางเทคโนโลยี แต่เกิดจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงและใช้งานข้อมูลระดับบุคคล

การออกแบบกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลด้านแรงงานภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็น และข่าวดี คือ หลายภาคส่วนได้ตระหนักถึงความเร่งด่วนของการฟื้นฟูตลาดแรงงานจึงร่วมแรงร่วมใจ เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลแรงงานที่มีความพร้อม โดยการทดลองดำเนินการในวงจำกัด (Sandbox) เพื่อสร้างความไว้วางใจ (Trust) ทั้งในมิติผลประโยชน์ที่แต่ละหน่วยงานได้รับ และการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลระดับบุคคลที่ปกปิดตัวตนแต่เชื่อมโยงได้ โดยในระยะต่อไปจะเริ่มเปิดให้ภาคเอกชนร่วมออกแบบการใช้งานข้อมูลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้กรอบธรรมาภิบาลข้อมูล โครงการข้างต้นจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยฟื้นฟูตลาดแรงงานไทยผ่านการเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลที่เหมาะสม ก่อนที่จะ

ขยายผลให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ต่างๆ ในวงกว้าง และอาจนำไปสู่การรวมศูนย์ข้อมูลของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเชื่อมโยงภาครัฐ สังคม และเศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ