SCB EIC ลด GDP เหลือโต 0.7% เหตุโควิดระบาดยืดเยื้อ แนะรัฐอย่ากังวลหนี้สาธารณะ กู้เงินเพิ่มเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า EIC ลดประมาณการเศรษฐกิจ หรือ GDP ปี 64 ลงเหลือ 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.9%
โดยมีสาเหตุหลักจากโควิด-19 รอบล่าสุดระบาดรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนได้รับผลกระทบหนัก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางน้อยกว่าเดิม คาดนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 1.7 แสนคน จากเดิมที่คาดว่าจะมี 3 แสนคน
ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ปี 64 จากอัตราประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดส เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา
ด้านการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่จะชะลอลงจากฐานที่ปรับสูงขึ้น และการระบาดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิด Supply disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดโรงงานภายในประเทศ และประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของภาครัฐ มีการอัดฉีดเม็ดเงินในงบประมาณเพื่อการอุปโภคบริโภค และหลายมาตรการช่วยเหลือ แต่มาตรการที่ออกมาล่าสุดยังไม่เพียงพอทั้งในมิติเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และจำนวนเงิน คาดว่าภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมช่วงที่เหลือของปี 64 โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
ดังนั้น EIC คาดเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีแนวโน้มเติบโตที่ 3.4% จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง ที่ 4.7% ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชียที่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยราว 6.3 ล้านคน ส่วนการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับช่วงปกติ
แต่การฟื้นตัวในปี 65 จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรม ยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ผนวกกับผลของแผลเป็นเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน มีอัตราการว่างงานสูงต่อเนื่องราว 1.9% เพิ่มขึ้นเท่าตัวก่อนโควิด-19 ระบาด รายได้เฉลี่ยคนทำงานลดลง ทำให้หนี้ครัวเรือนมีภาระหนัก
นอกจากนี้ EIC ยังพบว่าแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.4% ในปี 65 และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หรือ output loss ในระดับสูง กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ที่ปี 62 ต้องรอถึงปี 66 อาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
แม้การกู้เงินเพิ่มเติมระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง
ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 64 และปี 65 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ดังนี้
1. การระบาด โควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง
2. ปัญหาด้าน Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน
3. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในวงกว้าง