คนไทย 81% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม-เน็ตไม่ดี-อุปกรณ์ล้าสมัย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทย 81% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม-เน็ตไม่ดี-อุปกรณ์ล้าสมัย

Date Time: 15 ก.ย. 2564 07:20 น.

Summary

  • สำนักงานสถิติสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ 81.5% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน ขณะที่ 14.7% มีลูกหลานวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนออนไลน์เพราะไม่เข้าใจ ต้องใช้เงินเพิ่ม

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

สำนักงานสถิติสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ 81.5% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน ขณะที่ 14.7% มีลูกหลานวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนออนไลน์เพราะไม่เข้าใจ ต้องใช้เงินเพิ่ม ไม่มีสมาธิ เน็ตไม่ดี ขอรัฐจัดไวไฟฟรี สนับสนุนเน็ต-อุปกรณ์ราคาถูกและให้มีพื้นที่กลางเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนขาดแคลน ด้านเอไอเอสเผยโควิดทำคนใช้เน็ตบ้านโต 40%

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้านการปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.-6 ก.ค. 2564 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 81.5 % ไม่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะอาชีพไม่เหมาะสมกับการทำงานที่บ้าน ส่วนปัญหาที่ประชาชนประสบในการทำงานที่บ้าน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี

ส่วนการเรียนออนไลน์ พบว่า 42% มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่เรียนออนไลน์ และ 14.7% มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนออนไลน์ โดยปัญหาที่ประสบจากการเรียนออนไลน์ 5 อันดับแรก ได้แก่ ไม่ค่อยเข้าใจในวิชาที่เรียน, ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, ไม่มีสมาธิ, สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี และอุปกรณ์ไม่ทันสมัย

สำหรับแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับโควิด-19 พบว่า 3 อันดับแรกคือ 95.4% ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อ ออกจากบ้านทุกครั้งและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่จำเป็น, 32.6% นำเงินออมออกมาใช้จ่าย โดยพบในกลุ่มอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น และ 22.8% กู้ยืมเงินหรือจำนำ ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยพบกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง กรรมกร ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น

สำหรับเรื่องที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จัดหาไวไฟ (WIFI) ฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 66.7%, จัดหาอินเตอร์เน็ตให้ประชาชนในราคาถูก 60%, จัดหาอินเตอร์เน็ตให้นักเรียน นักศึกษาฟรี 47.6%, จัดหาอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนในราคาถูก 42.2% และจัดให้มีสถานที่กลางในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน 33%

ส่วนเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ลดภาระค่าสาธารณูปโภค 67.3% จ่ายเงินชดเชย เยียวยา 60.7% และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ 58.7%

ด้านนายกิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมลูกค้าที่ใช้บริการเน็ตบ้าน โดยระหว่างการแพร่ระบาดทั้ง 3 ระลอก ลูกค้าเอไอเอสไฟเบอร์ มีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยเฉพาะในระลอก 3 จนปัจจุบันการใช้งานเติบโตสูงมากที่สุด ทำเครือข่ายหนาแน่นทุกวันจากในช่วงก่อนโควิดที่การใช้งานมักหนาแน่นในช่วงวีกเอนด์ รวมทั้งจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อก็เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยสูงสุดอยู่ที่ครัวเรือนละ 20-24 เครื่อง

โดยแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นแอปเพื่อความบันเทิง รองลงมาเป็นแอปเพื่อการประชุม อีคอมเมิร์ซ ขณะที่เกมออนไลน์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยแอปเพื่อความบันเทิงที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรกสำหรับลูกค้าเอไอเอสไฟเบอร์ได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ติ๊กต่อกและเน็ตฟลิกซ์นายกิตติกล่าวว่า ปัจจุบันเอไอเอสไฟเบอร์มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 1.53 ล้านครัวเรือน ส่วนรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 3,900 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 21%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ