น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือน ก.ค. และแนวโน้มเดือน ส.ค. 64 ว่า ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ มาตรการควบคุมการระบาดและการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค.ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า
“ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจะเริ่มลดลง ปริมาณผู้ฉีดวัคซีนมีสูงขึ้น รวมทั้งรัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจจะปรับตัวอย่างไร ยังต้องติดตาม 4-5 ประเด็น คือ ความเชื่อมั่นของประชาชนว่าเมื่อผ่อนคลายมาตรการจะกลับมาใช้จ่ายจริงมากหรือน้อยเพียงใด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งการให้เงินเยียวยาโดยตรง และโครงการกระตุ้นใช้จ่าย เช่น คนละครึ่งว่าคนได้เงินจากรัฐบาลแล้วจะนำมาใช้จ่าย หรือจะเก็บไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต”
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ต้องทบทวนใหม่ คือ แนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไป โดยในเดือน ก.ค.เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชะลอตัวลง โดยลดลง 0.8% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 63 จากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออก โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ การแพร่ระบาดในโรงงานที่มีเพิ่มขึ้น และแนวโน้มการระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในบางประเทศ ซึ่งทำให้การบริโภคในประเทศดังกล่าวลดลง ส่งผลต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งติดตามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่โควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมทั้งแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การเริ่มลดลงของผู้ติดเชื้อ และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 นี้นั้นยังเป็นไปตามสมมติฐานในกรณีฐานของ ธปท.โดยหากเป็นไปตามนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 0.7% ในปีนี้ แต่เมื่อมีข้อมูลและปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระทบ ธปท.จะเร่งประเมินภาพใหม่ โดยจะมีการรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 29 ก.ย.นี้ก่อนปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้อีกครั้ง.