โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยทรุด คนจนกระทบหนักสุด ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยทรุด คนจนกระทบหนักสุด ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

Date Time: 13 ส.ค. 2564 07:59 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 รอบนี้ ได้สร้างแผลเป็นร้าวลึกให้ระบบเศรษฐกิจไทย รัฐขาดการจัดการ และขอความร่วมมือทั้งๆ ที่มีทรัพยากร แนะรัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบันเรียกความเชื่อมั่น

Latest


วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 รอบนี้ ได้สร้างแผลเป็นร้าวลึกให้ระบบเศรษฐกิจไทย รัฐขาดการจัดการ และขอความร่วมมือทั้งๆ ที่มีทรัพยากร แนะรัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างเชิงสถาบันเรียกความเชื่อมั่น

เก็บตกจากงานเสวนาออนไลน์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี การสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ 24 ปี จากวิกฤติต้มยำกุ้ง สู่วิกฤติโควิด (2540-2564) โดยศิษย์เก่าผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนได้มองเห็นในทิศทางเดียวกัน ดังนี้  

รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงเป็นวงกว้างยิ่งกว่าสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ผู้มีรายได้น้อย ที่มีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เปรียบเสมือนคนป่วยไข้ อ่อนแอ เมื่อติดเชื้อก็จะทรุดหนักและใช้เวลาฟื้นนาน

ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ คนทำนโยบายต้องไม่เพิ่มความไม่แน่นอนเข้าไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร ขณะนี้ต้องไม่ใช้เวลายาวนานเกินไปในการเลือกนโยบาย ที่อาจกีดกันคนที่มาเอาเปรียบจากนโยบายได้ แต่กลายเป็นสายเกินไปสำหรับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ หลักพื้นฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์คือ ให้ประชาชนเห็นทางเลือก แม้จะไม่สามารถทำนโยบายที่ช่วยทุกคนได้

แต่อย่างน้อยควรแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลมีเครื่องมืออะไรบ้างอยู่ในมือ ใช้ได้เมื่อไหร่ และความคาดหวังของการใช้เครื่องมือแต่ละอย่างคืออะไร เวลานี้คนทำตัวไม่ถูก เลือดยังไม่หยุดไหลคือเงินยังไหลออกจากกระเป๋า ในขณะที่กระแสเงินสดขาเข้าหายไป

อย่างไรก็ตาม การมีหลักประกันทางสังคม หรือ Social Safety Net มีความสำคัญมาก ถือเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้คนตกหลุมลึก และควรมองไปถึงการสร้างพื้นที่ให้คนมีโอกาสดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งหลังโควิด การสร้างภาวะเศรษฐกิจที่ดี คือ ภาวะที่ไม่สร้างเงื่อนไขให้กับคนในการเลือกใช้ชีวิต อาจไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้า แต่มีทางเลือกพอที่จะทำอะไรในชีวิตให้ดีขึ้น ไทยเรามีระเบิดเวลามานานมากกว่า 30 ปีแล้ว คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง และวันนี้มันได้ระเบิดขึ้นแล้ว กลายเป็นแผลเป็นในระบบเศรษฐกิจที่จะอยู่ไปอีกยาวนานแม้โควิด-19 จบไป

ขณะที่ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ Professor of Economics, School of Global Policy and Strategy, University of California San Diego มองว่า ประเทศไทยยังคงมีทรัพยากรที่นำมากู้วิกฤติได้แต่ขาดการจัดการที่ดี ความท้าทายอย่างหนึ่งคือ เศรษฐกิจไทยมีแรงงานนอกระบบ หรือ Informal Sector ที่ใหญ่มาก เราไม่ทราบว่าคนที่ลำบากอยู่ตรงไหนกันบ้าง แต่ก็เป็นโอกาสให้นำคนเหล่านี้เข้าระบบ เพื่อวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

โดยการจัดการที่ดียังรวมไปถึงความร่วมมือกัน (Policy Coordination) ภาครัฐมีสถานะทางการเงินการคลังแข็งแกร่ง ภาคเอกชนภาคประชาสังคมมีทั้งไอเดีย ทุน ความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มเปี่ยมที่อยากยื่นมือช่วย แต่ติดเรื่องระเบียบภาครัฐทำให้เข้ามาไม่ได้

หากย้อนไปสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เราถูกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด มองในแง่ดีคือเกิดการดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกคนต้องทำตามเงื่อนไข แต่ตอนนี้เราไม่เห็นเลย ยิ่งเจอวิกฤติเศรษฐกิจซ้อนวิกฤติสาธารณสุข ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน

มิเช่นนั้น ความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจ และการศึกษาจะยิ่งถ่างออกไป หรือที่เรียกว่า K-shape Recovery คนจะกลับไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจพร้อมแบกภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น มิติการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากนี้ไม่ใช่การโตด้วยตัวเลข แต่ต้องมี 3 ด้าน คือ โตอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Productivity & Efficiency ล้มแล้วลุกให้เร็ว หรือ Resiliency และโตแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ Inclusivity

ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในยามวิกฤติตั้งแต่สมัยสงครามโลก หรือต้มยำกุ้งก็ตาม เกิดการปฏิรูปสถาบันทางกฎหมายและเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร รัฐบาลต้องออกกฎหมายฉุกเฉินเพราะกฎหมายในยามปกติใช้ช่วยเหลือคนหมู่มากในคราวเดียวไม่ได้

ในสมัยต้มยำกุ้ง ธุรกิจล้มละลายจำนวนมาก ทางออกเดียวของกฎหมายในขณะนั้น คือ ยึดทรัพย์แล้วขายทอดตลาด ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ถูกเทกระจาด จากคนที่ยังไม่ล้มก็ล้มไปด้วย จึงกลายเป็นที่มาของแนวคิดปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือคนก่อนที่จะล้มละลายและกระทบกันเป็นโดมิโน นำไปสู่ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบัน

โดยการพาประเทศให้มีอัตราการเติบโตที่มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องทุนมนุษย์ หรือทุนเทคโนโลยี มีงานวิจัยระดับโลกชี้ว่า รากฐานของเศรษฐกิจที่ดี คือ สถาบันที่แข็งแกร่ง จากเหตุการณ์ของไทยครั้งนี้เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบัน หรือ Institutional Reform โดยเฉพาะสถาบันทางการเมือง ในอดีตการปฏิรูปเกิดจากข้างบนลงมา หรือ Top Down

เช่น กระแสโลกเปลี่ยนไป ผู้บริหารประเทศกลัวจะตามไม่ทันก็ปฏิรูปบ้านเมือง ตอนนี้ปัญหา คือ ภาคเอกชนเก่งมากแต่ภาครัฐอ่อนแอ คนเก่งในภาครัฐยังมีอยู่ และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงแต่พลังไม่พอ วิกฤติครั้งนี้ยิ่งชี้ชัดว่าการจัดการทางเศรษฐกิจอยู่ในมือของภาคการเมือง ประชาชนกำลังอัดอั้นตันใจ คลางแคลงใจในความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของรัฐบาล เมื่อใดก็ตามที่เกิดการเปลี่ยนผ่านจากข้างล่างขึ้นมา หรือ Bottom Up ย่อมไม่ราบรื่น อาจเกิดการปะทะกันได้ ความกังวลที่สุดคือแม้จะจบโควิดแล้วแต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงอยู่

"ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง แบงก์ชาติเคยเป็นสถาบันที่หมดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง ถึงขั้นที่ว่า เรียกแท็กซี่ไปแบงก์ชาติ แท็กซี่ไม่ไป เพราะมองว่าเป็นผู้ร้ายทำลายเศรษฐกิจพังพินาศ แบงก์ชาติจึงต้องปฏิรูปตนเองมโหฬาร สร้างความชอบธรรมกลับมาใหม่ด้วยการทำงานอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนเข้าถึงได้ จนปัจจุบันได้รับการจัดอันดับความโปร่งใสติดอันดับท็อปของเอเชีย ในวิกฤติโควิด-19 นี้ การแสดงออก ซึ่งความรับผิดชอบ หรือ Accountability ของรัฐบาลกำลังตกต่ำอย่างมาก หากจะเรียกกลับคืนมาได้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่ดี ให้ผู้จัดการทางเศรษฐกิจมีความน่าเชื่อถือ พอจะเปลี่ยนแปลง คนก็ร่วมด้วย ยิ่งเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ