หลังจากประเทศจีนได้มีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นบนกลุ่มธุรกิจ Internet และ Non-Internet ในช่วง 1-3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มทวีความรุนแรงและครอบคลุมหลายบริษัทมากขึ้น โดย SCB Chief Investment Office หรือ SCB CIO ประเมินว่า ทิศทางการออกกฎระเบียบและการคุมเข้มบริษัทจากทางการจีนในอนาคต โดยเฉพาะบนกลุ่มบริษัท platform ขนาดใหญ่ ยังมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงที่เหลือของปี 2021
โดยภาพรวมของการคุมเข้มบริษัทของทางการจีน อยู่ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การเพิ่มเสถียรภาพและลดความเสี่ยงในภาคการเงินโดยเฉพาะกลุ่ม Fintech หรือ Financial de-risking มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก
2. การตรวจสอบการผูกขาดทางธุรกิจ หรือ Anti-trust investigation มีความคืบหน้าปานกลาง
3. การปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลและผู้บริโภค หรือ Data Security & Consumer Protection อยู่ในช่วงเริ่มต้น
นอกจากนี้ จีนยังมีการออกกฎระเบียบด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการลดภาระทางการเงินของครัวเรือน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านอื่นๆ เช่น การออกแนวทางและกฎระเบียบกับกลุ่ม Internet platform ที่มีโมเดลธุรกิจเกี่ยวกับ food delivery, on-demand delivery และบริการเรียกรถ
ทั้งนี้ SCB CIO ประเมินว่า กลุ่มที่อาจเผชิญแรงกดดันประเด็นการลดภาระทางการเงินของครัวเรือนในระยะถัดไป คือ กลุ่ม online gaming ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ online digital entertainment ขณะที่ยังมีโอกาสค่อนข้างต่ำที่ทางการจีนจะห้ามระดมทุนผ่าน VIE หรือ Variable Interest Enterprise กับกลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม มีโอกาสค่อนข้างต่ำที่ดัชนี MSCI China จะปรับฐานลงอย่างมากต่อจากระดับปัจจุบัน แม้ดัชนี MSCI China ปรับฐานราว -13.5% ขณะที่ CSI300 -7.8% นับตั้งแต่ทางการจีนได้ออกมาตรการคุมเข้มกับธุรกิจกลุ่มโรงเรียนกวดวิชา
แต่ความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น (Regulatory risk) กับกลุ่ม internet platform โดยเฉพาะหุ้นจีนฝั่ง Offshore ยังคงมีอยู่ จะส่งผลให้ดัชนี MSCI China ซึ่งมีสัดส่วนของกลุ่ม internet platform ค่อนข้างสูง ยังมีแนวโน้มผันผวนสูง และ underperform ดัชนีหุ้นจีนฝั่ง Onshore ในช่วงที่เหลือของปี 2021
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนฝั่ง Onshore ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเพิ่มเติม ในช่วงที่เหลือของปี และหุ้นกลุ่มที่สอดรับกับมาตรการสนับสนุนของทางการจีน เช่น Green Energy, EV, Tech Hardware และ Semiconductor จะยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี
แม้ว่า Valuation ของหุ้นกลุ่ม internet platform ของจีนจะมีความน่าสนใจมากขึ้น เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่ม internet platform ของสหรัฐฯ แต่ความเสี่ยงในการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดจากทางการจีน โดยเฉพาะนัยต่อหุ้นจีนฝั่ง Offshore ที่ยังมีแนวโน้มดำเนินต่อเนื่อง จะสามารถกดดันให้ Valuation ของกลุ่มฯ ยังปรับลดลงได้อีก
ด้านการลงทุน ยังคงแนะนำ Neutral สำหรับการลงทุนในหุ้นจีน สถานการณ์การลงทุนหุ้นจีนในปัจจุบัน เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว หรือ ถือครอง 1 ปี ขึ้นไปเท่านั้น และไม่เหมาะสำหรับกรอบการลงทุนระยะสั้น โดยแนะนำถือ หรือ ไม่ซื้อ ไม่ขาย โดยเฉพาะกรอบการลงทุนระยะสั้น หรือ น้อยกว่า 1 ปี หากมีการลงทุนอยู่แล้วยังสามารถถือลงทุนต่อไปได้ แต่หากยังไม่มีสถานะการลงทุนและเป็นกรอบการลงทุนระยะยาว หรือ มากกว่า 1 ปี สามารถทยอยสะสมสำหรับหุ้นจีน A-shares เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ และการตรวจสอบของทางการจีนที่น้อยกว่าหุ้นจีน H-Shares / ADR