ท่ามกลางการแพร่ระบาดร้ายแรง ของไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อวันละเกือบสองหมื่น เสียชีวิตวันละกว่าร้อยคน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยมีความสุขลดลง ตามการสำรวจของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ร่วมกับบริษัทโซซิอัส พบว่าดัชนีความสุขคนไทยลดลง 2% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน
ผลการสำรวจพบว่า การแพร่ ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น กทม. และจังหวัดปริมณฑล ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง คนส่วนใหญ่เน้นการใช้จ่ายที่จำเป็น โควิดที่ระบาดรุนแรงทำให้คนต่างจังหวัดชอบออกนอกบ้าน
ผลการสำรวจของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ พบว่าคนไทยมีความสุขลดลง มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง คนส่วนใหญ่เน้นใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็น โควิดที่ระบาดรุนแรง ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน โดยเฉพาะ กทม.และจังหวัดปริมณฑล นายแพทย์คนหนึ่งเปิดเผยว่า มีคนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 3% แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุเดือนละกี่ราย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการล็อกดาวน์ 13 จังหวัด ทำให้เศรษฐกิจเสียหายเดือนละ 2-3 แสนล้านบาท เมื่อล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด จะเสียหายเพิ่มขึ้น 3-4 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 5-7 แสนล้านบาท ถ้าล็อกดาวน์ 2 เดือน จะทำให้จีดีพีติดลบ 3%
ดร.ธนวรรธน์ชี้แจงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจาก 43.1% มาอยู่ที่ 40.9% ต่ำสุดใน 274 เดือน หรือ 22 ปี 5 เดือน ความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 47.6% ต่ำสุดใน 22 ปี 10 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 35.3% ลดลงจาก 37.3% ลดลงทั้งความเชื่อมั่นในการหางานทำในอนาคต
ขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนก็พุ่งขึ้นเป็น 90% ของจีดีพี รวมเป็นเงินกว่า 14 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ภาครัฐกำลังจ่อเพดาน 60% ที่กฎหมายกำหนดไม่ให้เกิน แต่อาจารย์ธนวรรธน์ชี้ว่า รัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท รวมเป็น 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐต้องขยายเพดานเงินกู้
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจนับวันจะตกต่ำ ถ้ารัฐบาลยังยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้ ขณะนี้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง น่าสงสัยว่ารัฐบาลจะสามารถเปิดประเทศได้ ภายในกลางเดือนตุลาคม ตามที่นายกรัฐมนตรีลั่นวาจาได้หรือไม่ เปรียบเทียบกับหลักอริยสัจ 4 ยังมองไม่เห็น “มรรค” หรือแนวทางที่ถูกต้อง.