“จีพีเอสซี” ชูยุทธศาสตร์ “จีเซลล์” โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม เทคโนโลยีเซมิโซลิด แห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และขยายได้ถึง 100 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ปักธงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน, กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ในระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์อีวี ตุ๊กๆอีวี
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Country) ในอนาคตของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางด้านพลังงาน ของประเทศอื่นๆทั่วโลก และการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อรักษาจุดยืนการเป็นผู้นำฐานการผลิตอีวีในอาเซียน
ดังนั้น จีพีเอสซีจึงได้เปิดกิจการโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานจีเซลล์ (G-Cell) หรือแบตเตอรี่ลิเทียม เทคโนโลยีเซมิโซลิด (Semisolid) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (MWh/ปี) ถือเป็นโรงงานแห่งแรกในไทยและอาเซียน เพื่อรองรับอีวี และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ฯลฯ
“จีเซลล์” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โรงงานดังกล่าวระยะแรกมีเป้าหมายผลิตจีเซลล์ (G -Cell) ที่เป็นแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนฟอสเฟต หรือแอลเอฟพี (LFP) ที่สามารถนำไปกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ระบบการผลิตยังไม่สม่ำเสมอ เพราะขึ้นอยู่กับสภาวะธรรมชาติ เช่น ปริมาณของแสงแดด ความแรงของลม เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าให้ภาคธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเป็นแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีที่อยู่ในกลุ่มรถขนส่งสาธารณะที่วิ่งระยะทางไม่ไกลมากนัก
“จุดเด่นของจีเซลล์ แบตเตอรี่แอลเอฟพีคือมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่ประเภทอื่นๆ”
นอกจากนี้ แบตเตอรี่แอลเอฟพียังสามารถพัฒนาโปรแกรมที่อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแอปพลิเคชันในการเป็นระบบโครงข่าย การให้บริการ ทั้งรถอีวี สถานีอัดประจุไฟฟ้า ระบบบริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ เป็นการนำจุดแข็งของแบตเตอรี่มาผนึกกับคุณสมบัติโซลิด สเตรต (Solid State) ที่จะดึงไฟฟ้าและชาร์จไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว
กระบวนการผลิตดังกล่าวไม่ได้ใช้แร่โลหะ เช่น ทองแดง หรืออะลูมิเนียม ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ปลอดภัย และแบตเตอรี่จีเซลล์ที่ผลิตได้ยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่าย เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ราคาจำหน่ายขึ้นกับขนาดใช้งาน
นายวรวัฒน์ กล่าวว่า จีพีเอสซีได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวของบริษัท 24 เอ็มเทคโนโลยี จำกัด (24M Technologies Inc.) จากสหรัฐฯที่ได้สิทธิไลเซนส์ในการผลิตและจัดจำหน่าย โดยการผลิตแบตเตอรี่แอลเอฟพีที่มีคุณสมบัติที่เป็นแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Solid State) ที่มีกระบวนการผลิตที่สั้นลง แต่มีประสิทธิภาพในการชาร์จได้ 4,000 ครั้ง เมื่อเทียบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน แบบดั้งเดิม (Conventional Battery) ที่ต้องนำมาเคลือบและเป่าให้แห้ง จากนั้นจึงเอาอิเล็กโทรไลต์ใส่ลงไปและสามารถใช้งานชาร์จได้เพียง 1,000 ครั้ง
ดังนั้น ด้วยประสิทธิภาพที่ดีกว่าจึงสามารถที่จะนำไปพัฒนาในรถอีวีที่เป็นรถสาธารณะในรถเมล์ไฟฟ้า รถตุ๊กๆไฟฟ้า และยานพาหนะขนาดเล็ก ประเภทจักรยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับราคาแบตเตอรี่แอลเอฟพีที่ผลิตได้ถือเป็นราคาที่สามารถแข่งขันกับเทคโนโลยีอื่นๆได้ ด้วยสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน เพราะการผลิตแบตเตอรี่แต่ละชนิด จะออกมาตามขนาดและประเภทธุรกิจของการใช้งานของผู้บริโภค
“ในส่วนของการพัฒนาแบตเตอรี่ สำหรับรถอีวีที่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (EV Passenger Car) ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้น จากปัจจุบันที่นิยมใช้แบตเตอรี่ลิเทียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) เพราะต้องตอบสนองต่อการวิ่งระยะไกลในระยะแรก จีพีเอสซีก็สามารถนำเข้าจากบริษัทอันฮุย นิว เอ็นเนอร์จี้ เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศจีน เนื่องจากจีพีเอสซีได้เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทดังกล่าวและเป็นเทคโนโลยี ของบริษัท 24 เอ็มเทคโนโลยีฯ”
พร้อมขยายกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มยานยนต์เข้ามาเจรจาซื้อแบตเตอรี่ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนหลายราย กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี หากนำไปใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถตุ๊กๆสามารถใช้ได้รวม 3,000 คัน รถบัสไฟฟ้าได้ 150 คัน ทำให้มีโอกาสในการขยายกำลังการผลิตตามแผนที่วางไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ ของโรงงานแห่งนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตจากแบบลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ไปสู่การผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียม นิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ได้ในทันที เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่บริษัท 24 เอ็มเทคโนโลยีฯได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเช่นเดียวกับการผลิตแบตเตอรี่ในจีน ซึ่งการพัฒนาโรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) และพลังงานหมุนเวียนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“เมื่อเทรนด์ของโลกกำลังมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งแสงแดด พลังงานน้ำ พลังงานลม แบตเตอรี่ชนิดนี้จะเข้าไปเป็นตัวเสริมและเติมเต็ม เพื่อเป็นการสำรองพลังงานไว้ให้มีใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีปัญหา เพื่อเสริมเสถียรภาพของพลังงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจอื่นๆในอนาคต”.