โควิดระบาดรุนแรงและยาวนาน พาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ในไตรมาส 3/64

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โควิดระบาดรุนแรงและยาวนาน พาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ในไตรมาส 3/64

Date Time: 3 ส.ค. 2564 17:20 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • วิจัยกรุงศรี เผย เศรษฐกิจในไตรมาส 2/64 อ่อนแอลงจากไตรมาส 1/64 ประเมินภาพรวมจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3/64 หลังโควิดระบาดรุนแรงและยาวนาน

Latest


วิจัยกรุงศรี เผย เศรษฐกิจในไตรมาส 2/64 อ่อนแอลงจากไตรมาส 1/64 ประเมินภาพรวมจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3/64 หลังโควิดระบาดรุนแรงและยาวนาน

วันที่ 3 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ระบุว่า อุปสงค์ในประเทศเดือน มิ.ย. 64 ยังคงซบเซา แต่เศรษฐกิจยังพอได้แรงหนุนจากการส่งออก ส่วนภาคการผลิตในไตรมาส 3 อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการระบาด ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือน มิ.ย. แม้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนบ้างเล็กน้อย (+1.2% MoM sa) แต่โดยรวมยังอ่อนแอ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน (+0.2%) โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางการส่งออก ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงเล็กน้อย จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่เติบโตในอัตราสูง (46.1%YoY) ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้การส่งออกเติบโตกระจายตัวทั้งในตลาดและหมวดสินค้า ช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้บ้างในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 2 อ่อนแอลงจากไตรมาสแรก ผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 ที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ในไตรมาส 2 อาจหดตัวจากไตรมาสแรกที่ -0.6% QoQ sa แต่หากเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนอาจขยายตัวได้ 7% YoY ซึ่งเป็นผลของฐานที่ติดลบหนักเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจยังเผชิญกับการระบาดที่รุนแรงขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มาตรการควบคุมการระบาดจึงเข้มงวดขึ้น ทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักมากขึ้น อีกทั้งการระบาดที่เริ่มแผ่ลามถึงภาคการผลิตและอาจกระทบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ เศรษฐกิจในไตรมาส 3 จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ และอาจจะติดลบมากกว่าในไตรมาส 2

ทั้งนี้ คลังประเมินเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 1.3% และจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 4-5% ในปีหน้า ด้านวิจัยกรุงศรีชี้ในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เหลือขยายตัว 1.3% จากเดิมคาด 2.3% ผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาไทยลดลงจากเดิม

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก นอกจากนี้ สศค. ยังชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 4-5% ในปี 2565 แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น กอปรกับการส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง

โดยวิจัยกรุงศรี คาดการณ์ GDP ปีนี้จะขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 2.0%) ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด และจากแบบจำลองชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงต่ำกว่า 1,000 ราย ในเดือน พ.ย. 64 สะท้อนมาตรการควบคุมยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือน ต.ค. 64 กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจึงยังคงซบเซา ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะมีเพียง 2.1 แสนคน (เดิมคาด 3.3 แสนคน)

นอกจากนี้ อานิสงส์จากการกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ หนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยในปีนี้เติบเติบโตถึง 15% แม้ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกอาจชะลอลงบ้าง

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นในช่วงปลายไตรมาส 4 ปีนี้ ตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้นและการฉีดวัคซีนจำนวนมาก กอปรกับการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ

"ความไม่แน่นอนจากการจัดหาและการกระจายวัคซีนของไทย รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์ นับเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามในระยะข้างหน้า".


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ