ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้เคยได้ยินคำว่า Thailand 4.0 ซึ่งรัฐบาลพยายามให้ความสำคัญพัฒนาเพื่อโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value–Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในมุมนี้เองเราได้ "วัลลภา เปี่ยมนพเก้า" ผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฝ่ายแอปพลิเคชัน ออราเคิล คอปอร์เรชัน ประเทศไทย หรือ Oracle มาอธิบายภาพรวมต่างๆ เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องดังกล่าวได้มากขึ้น
วัลลภา บอกกับเราว่า จริงๆ แล้ว Thailand industry 4.0 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าต่างๆ เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ใช้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต และเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่เกี่ยวกับธุรกิจการผลิต
โดยสถานการณ์โควิด-19 เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการเร่งปรับตัวของอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงในด้าน Supply Chain ก่อให้เกิดต้นทุน และการแข่งขันอย่างสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
รวมถึงเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพสูงสุด ลดระยะเวลาในกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด หรือ Time-to-Market รวมถึงเป็นปัจจัยเร่งการตัดสินใจและปรับปรุงความพึงพอใจของลูกค้า หรือ Time-to-Value และยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการทำงาน
ทั้งนี้ หากดูผลสำรวจจาก McKinsey ที่ระบุว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องคิดทบทวนทิศทาง และกลยุทธ์การดำเนินงาน มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และทำงานได้ง่ายขึ้นกว่า 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 พบว่าตนเองกำลังถูกจำกัดความสามารถเพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในปัจจุบัน และน่าจะเริ่มใช้เทคโนโลยีก่อนที่จะมีโควิด-19
โดยสอดคล้องกับผลสำรวจของ Focus Economy for January 2021 และผลวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองคล้ายคลึงกันว่า ในอีก 2-5 ปีข้างหน้า บริษัทอุตสาหกรรมขนส่ง และซัพพลายเชนในไทยมีการฟื้นฟูธุรกิจ ถ้าโควิด-19 เวฟ 4 สามารถควบคุมได้ โดยสิ่งที่สนับสนุนและแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรม คือ การตั้งงบประมาณด้านไอทีที่เพิ่มมากขึ้นทุกอุตสาหกรรมและธุรกิจ
นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ Gartner เรื่องการจัดการงบประมาณด้านไอที Gartner 2021 CIO Agenda: Industry Perspectives Overview ที่พบว่า การจัดทำงบประมาณด้านไอทีเพิ่มขึ้นกว่า 2.5% และงบประมาณด้านไอทีที่เพิ่มขึ้น 2% ในช่วงโควิด-19 นั้น ธุรกิจเวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ค้าปลีก, ธนาคาร, ประกัน, ของใช้สำหรับผู้อุปโภค บริโภค อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และภาครัฐ ได้จัดสรรงบประมาณด้านไอทีมากขึ้น และมีการตั้งงบประมาณรองรับในอนาคต สอดคล้องกับมุมมองของการ์ทเนอร์ บริษัทต่างๆ ที่เริ่มมีการทำโปรเจกต์ Cloud Computing เพิ่มมากขึ้น และลดการติดตั้ง server เอง หรือ on-premise และเริ่มมีการใช้ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันมากขึ้น
On-Cloud ดีอย่างไร
วัลลภา บอกว่า เราต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่า การทำงานของ on-premise คือ การติดตั้ง บริหารจัดการ และวางระบบในองค์กร ต้องทำการติดตั้ง Hardware และ Software ดำเนินการเรื่อง server ไปจนถึงการบำรุงรักษา หรือ Upgrade ระบบเอง โดยไม่ได้ใช้ Public Cloud หรือจ้างคนไอทีมาดูแลเอง
ส่วน On-Cloud คือ ระบบ Server หรือการวางฐานข้อมูลไว้ในระบบ server ที่อยู่บน Cloud ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของการแชร์ และเชื่อมต่อข้อมูล โดยการลงทุนตรงนี้ค่อนข้างต่ำ เพราะผู้ใช้งานไม่ต้องลงทุนในการซื้อ Hardware หรือ Software เอง
โดยในส่วนใหญ่ผู้ให้บริการจะเป็นผู้ดูแล Hardware และ Upgrade ซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยผู้ใช้งานต้องทำการจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน และคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้
รู้จัก Smart Manufacturing บน Cloud Infrastructure
ในมุมมองของ Oracle นั้น Smart Manufacturing คือ องค์กรที่เชื่อมต่อด้านดิจิทัลได้ทั้งระบบ มีการตัดสินใจได้ทันท่วงที และทำงานได้อย่างราบรื่น โดยในอนาคตทุกองค์กรจำเป็น และจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลในทุกองค์กร Oracle จึงออกแบบ ดูแล และช่วยในเรื่องการป้องกัน เพื่อรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเราได้เพิ่มส่วนเสริม Oracle cloud Infrastructure ในซอฟต์แวร์ทุกตัวของออราเคิล ให้มาในการทำระบบครบวงจรด้าน supply chain รวมถึงขั้นตอนบำรุงรักษา
นอกจากนี้ เราได้เสริมเรื่อง Digital assistant เช่น การสร้างแชตบอตในองค์กร ทำงานร่วมกับ Machine Learning การทำงานโดยเลียนแบบเครื่องจักรต่างๆ โดยการนำ AI เข้ามาช่วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาการผลิต หรือ lead time และตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึง devices monitoring ที่เป็นการประเมินการทำงานของเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยี
ส่วนการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในสายการผลิตนั้นถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางนั้น มีการเสริมเป็นจุดๆ ไป แต่ถ้าเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะมีการทำครบวงจร
โดยส่วนนี้จะมีการทำ Digital Twin คือ การจำลองเครื่องจักรมาไว้ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ เห็นการทำงานของเครื่องจักรทั้งหมด และแชร์ได้ทั้งองค์กร ทั้งในส่วนการผลิต และการลดงบประมาณ รวมไปถึงการ reskills ของคนในองค์กรที่ต้องนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ เรียนรู้และปรับทักษะ มีเวลาให้คนไปพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองให้มากขึ้น
สำหรับ Digital Twin คือ แบบจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากการบูรณาการเทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น AI Algorithm, IoT, Cloud Computing และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างแบบจำลองฝาแฝดที่สามารถแสดงรายละเอียดและคุณสมบัติเกือบเทียบเท่าวัตถุจริง และยังสามารถแสดงคุณลักษณะในอดีตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ข้อมูล
วัลลภา มองว่า สิ่งที่องค์กร และอุตสาหกรรมในหลายๆ ที่ พยายามทำให้ระบบ supply chain ดีขึ้น ลดสินค้าคงคลัง ลดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มคุณภาพสินค้า ในปัจจุบันนี้ออราเคิลเล็งเห็นว่าไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
เราต้องมีการทำให้มีความชาญฉลาดมากขึ้น คือ การ automation ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และองค์กรจำเป็นต้องก้าวไปอีกขั้นในการปรับปรุงระบบการปฏิบัติการ ดังนั้นคนที่สามารถนำดิจิทัลไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถเป็นผู้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ระบบ Cloud ในอุตสาหกรรมซัพพลายเชน
เราจึงให้ "วัลลภา" ช่วยยกตัวอย่างภาคการผลิตที่ใช้ระบบคลาวด์ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งเธอได้ยกตัวอย่างบริษัทที่หลายคนคุ้นหูนั้นก็คือ Western Digital หรือ WD ซึ่งเป็นบริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ มีการปรับใช้ในส่วนของ supply chain ในองค์กรเกือบทั้งหมด
โดย WD สามารถลดจำนวน supplier หรือผู้จัดการวัตถุดิบได้ จากการใช้ระบบเทคโนโลยีมาประเมิน supplier และทำการจัดสรรให้เหลือแต่ supplier ที่เป็นแถวหน้า ในแง่ทั้งใครส่งของมีคุณภาพ ตรงเวลา เทคโนโลยีสามารถคัดสรรได้ ใครให้ราคาต้นทุนได้ดี สามารถลดต้นทุน ได้ของที่มีคุณภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมี Fedex ที่ได้ลงซอฟต์แวร์ของออราเคิลในองค์กรกว่า 60 สาขาทั่วโลกในด้านดิจิทัลโลจิสติกส์ และการจัดการ warehouse การนำ Oracle cloud Applications ไปปรับใช้ทำให้มองเห็นถึงสถานะการขนส่งสินค้าเป็นอย่างไร มีการจัดส่งไปถึงตรงไหน และทำให้ตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้นในช่วงโควิด
นอกจากนี้ ภาคการผลิตหลายแห่งได้พัฒนา IoT application Software หรือ Internet of Things ช่วยเรื่องไลน์การผลิต เป็นดิจิทัล เซนซิ่ง ช่วยในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่ง Oracle ได้ทำซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าไป พร้อมกับการติดตั้งแอปพลิเคชัน ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพ
โดยลูกค้าสามารถช่วยเรื่องมอนิเตอร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ จัดเก็บ วิเคราะห์ช่วยจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ในการตัดสินใจ และช่วยเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน อีกทั้ง 5G เป็นส่วนช่วยสำคัญและทำงานร่วมกับ IoT ทำให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้า และธุรกิจ ในแง่การส่งของให้ลูกค้าได้เร็วขึ้น ช่วยลดตัวสูญเสียในโรงงาน
"ในเชิงของการทำ IoT ในภาคอุตสาหกรรมนั้น เราคาดการณ์ว่าองค์กรในประเทศไทยส่วนใหญ่มากกว่า 50% นั้นเริ่มปรับใช้ IoT Monitoring และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรนั่นเอง"
สำหรับ Internet of Things หรือ IoT คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล การเชื่อมโยงนี้ง่ายจนทำให้เราสามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ไปจนถึงการเชื่อมโยงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ากับการใช้งานอื่นๆ จนเกิดเป็น Smart ต่างๆ ได้แก่ Smart Device, Smart Grid, Smart Home, Smart Network, Smart Intelligent Transportation ทั้งหลายที่เราเคยได้ยินนั่นเอง ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงสื่อกลางในการส่งและแสดงข้อมูลเท่านั้น
ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun