เราอาจจะเคยได้ยินเเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI มาบ้าง และในยุค 2021 นี้เจ้า AI ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์อย่างเรามากขึ้น เวลาพูดถึง AI ทุกคนจะนึกถึงแต่หุ่นยนต์ แต่จริงๆ แล้ว AI นั้นแฝงตัวอยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิตเรา เรียกได้ว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนเราเข้านอนอีกครั้ง
เมื่อเราพัฒนา AI ให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเราได้มากขึ้น มนุษย์จึงนำ AI มาต่อยอดเพื่ออุดช่องโหว่ในหลายๆ จุด อย่างเช่น วงการสุขภาพที่ AI ได้เข้ามาช่วยในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะวิเคราะห์โรคต่างๆ ที่ช่วยทุ่นเวลาคุณหมอ และคัดแยกผู้ป่วยได้ง่ายและเร็วขึ้น
โดย มรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET กล่าวกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า AI-CXR Screening เป็นแอปพลิเคชันที่เราได้ร่วมพัฒนากับ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ด้วยการนำเทคโนโลยี IBM Visual Insights ซึ่งเป็น AI มาวิเคราะห์ภาพนิ่ง และไฟล์วิดีโอ ในการแปลผลภาพเอกซเรย์เพื่อช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจหาวัณโรคจากภาพเอกซเรย์ทรวงอก
การทำงานของ CXR Screening เริ่มต้มด้วยการล็อกอินเข้าสู่ระบบ Upload file เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อเริ่มวิเคราะห์ผลในภาพถ่าย จากนั้นระบบจะทำการค้นหาผลวิเคราะห์ย้อนหลัง พร้อม Download file ออกมาใช้งานนั่นเอง ซึ่งเราได้มีการฝึกสอนระบบ AI โดยรังสีแพทย์ และแพทย์สาขาต่างๆ ด้วยภาพกว่า 40,000 ภาพจากโรงพยาบาล และโมเดลภาพถ่ายรังสีทรวงอก พบว่าแอปพลิเคชัน AI-CXR Screening สามารถตรวจพบวัณโรคด้วยอัตราความแม่นยำสูงถึง 96%
ทั้งนี้ AI CXR Screening นี้ สามารถรองรับการตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอกของผู้ป่วยในแต่ละวันได้มากขึ้น ช่วยวิเคราะห์จุดที่มีความเสี่ยงต่อโรคให้แพทย์นำไปวินิจฉัยได้เด่นชัด เพิ่มความยืดหยุ่น และลดระยะเวลาการดำเนินการของคุณหมอ ปัจจุบัน CXR Screening สามารถตรวจหาอาการอื่นๆ จากภาพเอกซเรย์ทรวงอกอีก 14 อาการ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และภาวะปอดรั่ว อีกด้วย
มรกต บอกอีกว่า แอปพลิเคชัน AI-CXR Screening ที่พัฒนาโดยไอเน็ตจะใช้ IBM Visual Insights ซึ่งเป็นโซลูชันด้านการรู้จำภาพ หรือ visual recognition ซึ่งทำงานบนระบบ IBM Power Systems ทำให้ไอเน็ตสามารถสร้างโมเดลภาพ จากนั้นจึงจำแนกประเภทวัตถุที่ตรวจพบในภาพเอกซเรย์ทรวงอก
โดยไม่ต้องมีการเขียนโค้ด (Code) หรือ อาศัยความเชี่ยวชาญด้าน deep learning โดยระบบ Storage และการใช้ Colud หรือ คลาวด์เป็นแบบเฉพาะทางสำหรับเฮลท์แคร์โดยเฉพาะ พร้อมการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ใน Data Center ของประเทศ ซึ่งมีระบบการป้องกัน และควบคุมความปลอดภัยระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
ปัจจุบันมีโรงพยาบาล สถานพยาบาลชุมชน และทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์มากกว่า 75 แห่งทั่วประเทศใช้แอปพลิเคชัน AI-CXR Screening เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยโรคปอดได้มากขึ้น ทำให้คุณหมอหลายๆ ท่านประหยัดเวลาในการหาอาการป่วยของคนไข้ และคัดแยกคนไข้ที่ป่วยจากการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ช่วยหมอคัดกรองคนไข้โรคทรวงอกได้ง่ายขึ้น
นายแพทย์อิทธิพล อุดตมะปัญญา โรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรังสีแพทย์ค่อนข้างน้อย ทำให้เวลาการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับทรวงอกนั้นใช้เวลานาน เช่น ถ้าเราต้องตรวจคนไข้หลายพันคน กว่าคุณหมอจะมีเวลาอ่านเอกซเรย์ได้หมดก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน หรือนานกว่านั้น
ทั้งนี้ จึงเป็นเหตุสำคัญทำให้กว่าหมอจะตรวจพบว่าคนไข้ไม่สบาย และเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคล่าช้าออกไปอีก พอมีเทคโนโลยี และการใช้ AI เข้ามาช่วยคัดกรอง ทำให้เราร่นระยะในการตรวจพบโรค และรีบแยกตัวคนไข้ไปตรวจเพิ่มเติม ก่อนที่จะไปนั่งรวมกับคนอื่นๆ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อไปได้อีก
ด้านนายแพทย์ศิลา จิรวิกรานต์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า คุณหมอส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลจะเป็นคุณหมอหมุนเวียน 2 ปีครั้ง ฉะนั้นความเชี่ยวชาญในการคัดกรองคนไข้ในแต่ละโรคค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเวลาคนไข้มากๆ ทำให้คุณหมอเราไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด เมื่อการคัดกรองค่อนข้างยาก และอาจมีผิดพลาด หรือว่าหลุดได้ง่าย
"การใช้ AI โดยเฉพาะ AI CXR Screening ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ ความไว และความจำเพาะ หรือ Sensitivity ของ AI จะมีความไวมากกว่าที่เราคิด คือ มีความผิดปกติอะไร ก็จะรายงานให้เห็น มากน้อยแค่ไหน ตอบโจทย์เรื่องของการค้นหาโรคมากๆ"
แอปพลิเคชัน One chat ของคนไทยเพื่อคนไทย
นอกจากเหนือจากการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้การแพทย์แล้ว ปกติ INET จะให้บริการคลาวด์ โซลูชันส์ หรือ Cloud Solutions แก่ลูกค้าภาครัฐและเอกชน ธุรกิจบริการเชื่อมอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Access เพื่อให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าธุรกิจด้วยความเร็วที่หลากหลายและครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด และบริการ Co–Location โดยศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลไอเน็ตจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการแก่หน่วยงานหรือภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำเสนอข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ตอีกด้วย
แต่ มรกต บอกอีกว่า จริงๆ INET ยังให้พัฒนาแอปพลิเคชัน Onechat ที่เป็นมากกว่าแชต เพราะสามารถใช้ Digital Identity ระบบการระบุและยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ Certificate Authority การออกใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์ BOX พื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย และ Mail ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวใช้งานได้ทั้งบุคคลทั่วไป องค์กร และหน่วยงานของรัฐ
"ปัจจุบัน Onechat ถูกนำไปใช้ในโครงการ Local Life Platform ที่อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เรียกได้ว่ามีคนใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักศึกษา เพราะสามารถใช้งานได้ทั้ง สั่งอาหาร ค้นหาที่พัก ค้นหาร้านค้าออนไลน์ และบริการเรียกรถรับส่งได้ โดยในอนาคตเราก็จะขยายโครงการไปอีกเรื่อยๆ เราอยากให้คนไทยได้ใช้แอปพลิเคชันที่คนไทยเป็นผู้พัฒนา อยู่บน Data center และ Cloud ของคนไทยด้วยกันเอง"