ถอดบทเรียน "ประกันโควิด" เบี้ยน้อย เคลมเยอะ ถึงคราวบริษัทแบกความเสี่ยงไม่ไหว

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดบทเรียน "ประกันโควิด" เบี้ยน้อย เคลมเยอะ ถึงคราวบริษัทแบกความเสี่ยงไม่ไหว

Date Time: 17 ก.ค. 2564 18:55 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • ยอดเคลมประกันโควิดสูงกว่าที่ประเมินไว้ และยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ว่า รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะควบคุมสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

Latest


การบอกเลิกประกันโควิด-19 ของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะประกันภัยโควิดเจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 ที่ผ่านมานั้น แม้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยไปแล้วก็ตาม

แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของทางฝั่งสินมั่นคง โดยระหว่างนี้ลูกค้าหลายคนได้รับจดหมายบอกเลิกประกันแล้ว ทาง คปภ.ก็มีคำแนะนำว่า "ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ กับจดหมายดังกล่าว บริษัทมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียน กรมธรรม์ประกันภัย จึงยังมีความคุ้มครองต่อไปตามปกติ" เอาเป็นว่าก็สบายใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะ คปภ.จะดูแลเคสนี้เป็นอย่างดี 

ส่วนคนที่ซื้อประกันโควิด-19 และประกันชีวิตจากบริษัทประกันอื่นๆ ก็ขอให้มั่นใจว่า บริษัทเหล่านั้นจะยังคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่เราได้ซื้อไว้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หลายคนคงจะสงสัย ว่าทำไมสินมั่นคงถึงตัดสินใจยกเลิกประกันโควิด ซึ่งบริษัทให้เหตุผลไว้ว่า

"การระบาดของโควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์จะพัฒนาไปสู่จุดใด การตัดสินใจบอกเลิกกรมธรรม์นี้โดยบริษัท ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด ด้วยความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจ และการใช้มาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถคุ้มครองและดูแลลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของบริษัทฯ ได้อย่างดีที่สุดและยั่งยืนในระยะยาว"

ถ้าให้ "เศรษฐินีศรีราชา" แปลความง่ายๆ ก็คือ ยอดเคลมประกันโควิดสูงกว่าที่ประเมินไว้ และยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ว่า รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะควบคุมการระบาดของโควิดได้อย่างไร ซึ่งหากตัดพอร์ตประกันโควิดออกไปจะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงได้ เพราะบริษัทมีลูกค้าในส่วนของประกันภัยอื่นๆ ด้วย

เมื่อเราย้อนไปดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นปี 64 ที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนเลยที่ยอดผู้ติดเชื้อจะลดลง และวันที่ 17 ก.ค. 64 นี้ก็นิวไฮทั้งยอดผู้ติดเชื้อที่ 10,082 ราย และผู้เสียชีวิต 127 ราย ถ้าให้คาดเดาตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังรอผลตรวจ และกำลังจะไปตรวจโควิด ที่สำคัญหลายคนที่ป่วยก็ยังไม่ได้เตียง จนเราได้เห็นข่าวเศร้าในทุกๆ ชั่วโมงว่า เจ้าหน้าที่ด่านหน้าอย่าง หมอ พยาบาลติดโควิด, มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอเตียง หรือแม้กระทั่งข่าวที่สัปเหร่อของวัดทำหน้าที่แทบไม่ได้หยุดหย่อน

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกใจเลย ทำไมบริษัทประกันภัยหลายแห่ง ต้องปรับรูปแบบการขายประกันโควิด-19 ใหม่ เลิกขายแบบ เจอ จ่าย จบ ก็เพราะว่าแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่ไหวนั่นเอง หากว่ากันตามตรง ประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบนี้ เบี้ยถูกมากเริ่มต้นเพียงฉบับละ 199 บาท แต่เงินจำนวนนี้ก็ใช่ว่าจะเข้ากระเป๋าบริษัทประกันโดยตรง เพราะต้องถูกหักค่านายหน้าอีกจำนวนหนึ่ง 

ที่สำคัญหากคิดตามหลัก "คณิตศาสตร์ประกันภัย" ประกันโควิดมีโอกาสทำให้บริษัทประกันเสี่ยงขาดทุนมากที่สุดเพราะเบี้ยประกันราคาถูก ความเสี่ยงผูกติดอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งถ้ายอดเคลมน้อยก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายอดเคลมสูงก็เหมือนกับที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นอันว่า ขาดทุน เพราะแบกรับภาระไม่ไหวนั่นเอง

หลายคนอาจมีคำถาม "อ้าวแล้วจะมาขายทำไม เมื่อรู้ว่าเสี่ยงขาดทุน" ก็ต้องบอกก่อนว่า แนวคิดเรื่องประกันโควิด หากคิดตามปี 63 ที่เริ่มมีการระบาดในระยะแรกๆ หลายคนคิดว่าน่าจะคุมอยู่ ประกันโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ จึงเริ่มด้วยเบี้ยราคาถูก คนมีเงินน้อยก็ซื้อได้ พอจะเป็นหลักสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้ แต่แนวคิดนี้ก็เริ่มสั่นคลอน เพราะโควิดคุมไม่อยู่นับตั้งแต่เดือน เม.ย.64 ที่ผ่านมา

 ควรซื้อประกันบริษัทไหนดี? 

พอมีปัญหาเช่นนี้จึงมีผู้อ่านหลายคนส่งอีเมลมาถาม "เศรษฐินีศรีราชา" เป็นจำนวนมากว่า ควรซื้อประกันบริษัทไหนดี อยากซื้อประกันชีวิตเริ่มจากตรงไหนดี และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย ก็ขออนุญาตทยอยตอบผ่านบทความนี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะได้ประโยชน์เหมือนกัน 

เทคนิคการซื้อประกันสไตล์ "เศรษฐินีศรีราชา" มีดังนี้

1. แยกให้ออกก่อนว่า อันไหนเป็น ประกันชีวิต อันไหนเป็น ประกันภัย เทคนิคที่ใช้ คือ

- ประกันชีวิต คือ ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลเอกชน ไม่ต้องสำรองจ่าย มีเงินชดเชยรายได้ระหว่างที่หยุดทำงาน, วิ่งล้มขาหัก มีดบาดมือ ก็ไปโรงพยาบาลเอกชนได้เลย, ประกันโรคร้าย, ประกันสะสมทรัพย์ ที่ส่งเงินแค่ 20 ปีแต่คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี, ประกันชีวิตควบการลงทุน แบบนี้เป็นต้น

- ประกันภัย คือ ประกันรถยนต์, ประกันโควิด-19, ประกันภัยอุบัติเหตุ, ประกันไฟไหม้, ประกันการเดินทาง, ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง, ประกันน้องหมา น้องแมว เป็นต้น

จุดสำคัญที่สุดเวลาดูชื่อบริษัทให้ดูว่า ลงชื่อด้วยคำว่า ประกันชีวิต หรือประกันภัย

2. เลือกบริษัทประกันที่เราคุ้นเคย เช่น ถ้าเป็นประกันชีวิต จะดูว่าโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทยเป็นคู่สัญญากับประกันยี่ห้อไหนบ้าง ตามไปดูรีวิวในอินเทอร์เน็ตว่า มีลูกค้าบ่นเรื่องเคลมเยอะไหม 

แต่หากเป็นประกันภัย เช่น ประกันรถยนต์ ก็จะเลือกบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับอู่รถยนต์ที่ได้คุณภาพ มีเจ้าหน้าที่มาเคลมไว หรือเลือกบริษัทประกันที่อยู่ในอันดับ 1-3 ของตลาดประกันภัย เป็นต้น

3. ไม่ซื้อประกัน เพราะเกรงใจคนรู้จัก ข้อนี้ "เศรษฐินีศรีราชา" รู้ว่าหลายคนช่วยซื้อประกัน จากญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง โดยที่เราไม่รู้จักประกัน และบริษัทประกันอย่างแท้จริง

ที่สำคัญเราก็ไม่รู้ว่าซื้อประกันอะไรมา จนมารู้ตัวอีกทีว่าไม่ใช่ประกันที่อยากได้ พอจะเคลมก็กลายเป็นว่าเสียเงิน 2 ต่อทั้งจ่ายค่าประกันไปแล้ว และต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ฉะนั้นจงเลือกตัวแทนประกันชีวิตให้ดี เลือกที่เขาดูแลเราตลอดเวลา ไม่ใช่โผล่มาแค่ตอนซื้อประกัน และต่ออายุประกัน

4. สำรวจเงินในกระเป๋าก่อนตัดสินใจซื้อประกันทุกชนิด โดยถามตัวเองก่อนว่ามีเงินพอซื้อประกันไหม แต่อย่างน้อยๆ ควรจะมีสักฉบับติดตัวไว้อุ่นใจ และประกันที่ซื้อครอบคลุมอะไรบ้าง ต้องเช็กให้ละเอียด แต่ประกันที่ต้องซื้อทุกปี ห้ามลืมเด็ดขาด ก็คือ ประกันไฟไหม้บ้าน และประกันรถยนต์

ส่วนใครอยากรู้เรื่องการซื้อประกันโควิด และการเคลมประกันโควิด โดยเฉพาะ สามารถเข้าไปดูได้รายละเอียดได้ที่บทความ ประกันโควิด ซื้อแบบไหน เคลมอย่างไร ให้ครอบคลุมไม่ต้องควักเงินมาจ่ายอีก

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ