ถ้าใครเป็นคอซีรีส์เกาหลี แล้วดูเรื่อง “สตาร์ต อัพ” สามารถอธิบายคำว่า “แซนด์บ็อกซ์” ให้เข้าใจง่ายๆ และเห็นเป็น “ภาพจำ” ได้อย่างดี
ความหมายตรงตัวของ Sandbox คือ กระบะทราย นิยมเอามาใช้กับสตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เมื่อเป็นการเริ่มต้น ยังไม่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ จึงต้องมีพื้นที่ให้ทดลองความสำเร็จ ที่เรียกว่า “แซนด์บ็อกซ์” นั่นเอง
ในซีรีส์เรื่องนี้อธิบายว่า ถ้าพลาดและล้มลงใน “แซนด์บ็อกซ์” จะได้ไม่เจ็บตัว เพราะมีพื้นทรายรองรับ ไม่เหมือนพื้นซีเมนต์ ถ้าลองล้มลงเป็นต้องเจ็บตัวแน่
เฉกเช่นเดียวกัน การเปิดประเทศไทยเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 กลายเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทดลอง จึงต้องมีพื้นที่ “แซนด์บ็อกซ์” เป็นจุดเริ่มต้น
ประเทศไทยจึงเลือกใช้พื้นที่ภูเก็ต ด้วยเหตุผลที่เป็น “เกาะ” สามารถควบคุมการเข้าออกได้ง่าย และเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้ชื่อโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”
พื้นที่นี้จะทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาในประเทศ ไทยโดยไม่ต้องถูกกักตัว สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปได้ทั่วภูเก็ต และเกาะต่างๆที่อยู่ในอาณาบริเวณของภูเก็ต โดยจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 ก.ค.2564 เป็นต้นไป
ถ้าทดลองแล้ว “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ไม่สำเร็จ มีการนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาระบาดในพื้นที่ ก็จะเป็นการระบาดภายในเกาะภูเก็ต ไม่ต้องเจ็บตัวกันไปทั้งประเทศ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าในช่วงระหว่าง 3 เดือน ก.ค.-ก.ย.2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 100,000 คน นำรายได้เข้าสู่ภูเก็ต 8,900 ล้านบาท ตัวเลขยังห่างไกลนักเมื่อนำไปเทียบกับในอดีต ที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึงเดือนละกว่า 3 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” มีข้อกำหนดมากมาย ในช่วงแรกอาจจะมึนๆ งงๆ กันว่า คนต่างชาติ คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ คนไทยในประเทศ จะเข้าภูเก็ตกันอย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ” จะฉายภาพทั้งหมดให้ ณ ตรงนี้
ทั้งนี้ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ถือเป็นการทดลองในพื้นที่จริง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขควบคู่กันไป เพราะแม้การนำพาธุรกิจในภูเก็ตให้กลับมาเดินได้ เศรษฐกิจ ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่นัยทางด้านสาธารณสุข การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยามนี้ก็สำคัญอย่างยิ่งยวด
“ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” จึงตั้งเงื่อนไขด้านสาธารณสุขไว้แต่แรก ว่า หากมีผู้ติดเชื้อภายในเกาะ 13 รายต่อวัน และรวมแล้วเกิน 90 รายต่อสัปดาห์ มีลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ ประกอบกับการพิจารณาความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย กรณีมีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ 80%ของศักยภาพจังหวัดรับได้
จะต้องกลับมานั่งทบทวนกันว่าจะไปอย่างไรต่อ โดยวางมาตรการปรับเปลี่ยนไว้ 4 ระดับ
เริ่มตั้งแต่ปรับลดกิจกรรม เปลี่ยนจากการปล่อยอิสระให้นักท่องเที่ยวไปได้ทั่วทั้งเกาะเป็นท่องเที่ยวเฉพาะเส้นทางที่จำกัด (Sealed route) ระดับเข้มขึ้นไปอีกคือ Hotel Quarantine ให้อยู่เฉพาะในบริเวณโรงแรม และเข้มข้นสูงสุดคือ ทบทวนยุติภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ขณะเดียวกัน ก่อนการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ได้มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ไปแล้วใกล้ 70% และพนักงานในสถานประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ในระดับ 100%
สิ่งสำคัญที่สุดของ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” คือ มาตรการสำหรับคนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนไทยที่อยากกลับเข้าประเทศโดยไม่ถูกกักตัว และได้แวะเที่ยวภูเก็ต 14 วัน ก่อนกลับไปภูมิลำเนา ประกอบด้วยเงื่อนไข ดังนี้
1.ต้องเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือความเสี่ยงปานกลาง ตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขและการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ กรณีเดินทางจากประเทศอื่น ต้องพำนักอยู่ในประเทศที่กำหนดข้างต้นอย่างน้อย 21 วัน ก่อนการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ณ ขณะนี้มี 66 ประเทศ
2.ต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry-COE) ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศให้ลงทะเบียนขอรับได้ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 เวล 12.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะต้องรอให้ประกาศหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน
3.ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบกำหนด 2 เข็ม หรือตามประเภทวัคซีน อย่างน้อย 14 วัน ก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) กรณีเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สามารถเดินทางเข้ามาพร้อมกับผู้ปกครองได้
4.มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID-19 is not detected) โดยวิธีการ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
5.กรณีเคยติดเชื้อต้องได้รับวัคซีนตามกำหนด 2 เข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน
6.มีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล หรือหลักประกันอื่นใด ซึ่งรวมถึงโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักร ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
7.ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (day 0) ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยพักรอในห้องพักของโรงแรม เพื่อรอรับแจ้งผลการตรวจ เมื่อผลตรวจเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อจึงออกนอกห้องพักได้ ครั้งที่ 2 วันที่ 6-7 ณ โรงแรมที่พักอาศัย หรือห้องปฏิบัติการ (Lab นอก) โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา และครั้งที่ 3 วันที่ 12-13 ณ โรงแรมที่พักอาศัยหรือห้องปฏิบัติการ (Lab นอก) โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา
8.ต้องเข้าพำนัก ณ สถานประกอบการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในจังหวัดภูเก็ต เป็นระยะเวลา 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกนอกจังหวัดภูเก็ตเพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นได้ กรณีพำนักไม่ถึง 14 คืน ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
9.ผู้เดินทางสามารถเดินทางในจังหวัดภูเก็ตและดำเนินกิจกรรมทางการท่องเที่ยว และใช้บริการสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ภายใต้มาตรการ D-M-H-T-T-A (เว้นระยะห่าง ใส่แมสก์ ล้างมือ วัดอุณหภูมิ ไทยชนะ)
10.ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และ Tracing Application : Morchana และยินยอมให้ระบบติดตามพิกัดตามภูมิศาสตร์ (GPS) ผ่านแอปพลิเคชัน ตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย
เมื่อนักท่องเที่ยวที่พำนักในจังหวัดภูเก็ตครบกำหนด 14 คืน จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตไม่ว่าทางบก ทางอากาศ ทางเรือ ต้องแสดงเอกสารหลักฐานหนังสือเดินทางและวีซ่าที่ตรวจลงตราโดย ตม.ท่าอากาศยานภูเก็ตขาเข้า (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย) เอกสารที่แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 14 คืน ที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต และหลักฐานการเข้าพักในโรงแรมหรือที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ครบ 14 คืนแล้ว
ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตจังหวัดภูเก็ตได้ทุกกรณี ยกเว้นจะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ตเพื่อออกจากราชอาณาจักรไทยทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตเท่านั้น
กรณีมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม สำหรับคนต่างด้าวผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร อาจมีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ตามมาตรา 51 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และมาตรา 52 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้งอาจเป็นเหตุแห่งการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอีก
ส่วนคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าทางภูเก็ต ก็ต้องพำนักให้ครบ 14 คืนเช่นกัน การฝ่าฝืนอาจมีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ตามมาตรา 51 และมาตรา 52 เช่นกัน
ส่วนคนไทยในประเทศที่จะเข้าภูเก็ต มีการวางระบบเข้มงวดลดลงมา ไม่จำเป็นต้องอยู่จนครบ 14 วันหรือ 14 คืน ก็สามารถเดินทางออกได้ทั้งทางบก น้ำ อากาศ
แต่ต้องเดินทางเข้า มีหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติ คือ ผู้เดินทาง ยกเว้นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครอง ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด และต้องถือปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1.ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิด AstraZeneca จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือ
2.เป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน หรือ 3.ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการตรวจ
4.ต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟน และยินยอมเปิดแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต 5.แสดงเอกสารหลักฐานข้างต้น ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต และ6.ให้สังเกตติดตามอาการตนเอง (Self Monitoring) ตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค หากพบอาการป่วยหรือสงสัยว่ามีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้พบแพทย์โดยด่วน
กว่าจะมาถึงวันนี้ การเตรียมการเปิดประเทศครั้งแรกผ่าน“ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เป็นไปแบบทุลักทุเลในแต่ละขั้นการเตรียมการตามที่มีข่าวออกมาโดยตลอด แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็จะเป็น “แม่แบบ”ในการเปิดพื้นที่อื่นตามเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วันของนายกรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ต่อจากภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 15 ก.ค.นี้จะมีการเปิดเกาะสมุย รับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วตามมา แต่เป็นรูปแบบแตกต่างออกไป คือ การเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ (Sealed route) โดย 3 วันแรกออกจากห้องพักได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่โรงแรม จากนั้นวันที่ 4-7 ไปเที่ยวได้ทั่วเกาะสมุย และวันที่ 8-14 ให้นั่งเรือข้ามไปยังเกาะพะงันและเกาะเต่าได้
ถ้าไม่มีอะไรสะดุด เดือน ส.ค.จะเห็นการเที่ยวแบบเชื่อมโยงข้ามจังหวัด อาทิ จากเกาะภูเก็ต ไปยังเกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล ของ จ.กระบี่ และเขาหลัก เกาะยาว จ.พังงา และเดือน ก.ย. ถ้าวัคซีนมาทันท่วงที จะเห็นการเปิดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี อีกเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่มีอีกโมเดลของการท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่เปิด ไม่ใช่เกาะ
ทั้งหมดนี้ เป็นความท้าทายที่จะทำให้การฟื้นชีพของท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมา ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่บรรเทาลงได้เลย.
ทีมเศรษฐกิจ