วิจัยกรุงศรี เผยไทยปรับแผนเปิดประเทศเร็วขึ้น แม้โควิด-19 จะระบาดอยู่ คาดกลางเดือน ส.ค. จะเห็นคนติดเชื้อต่ำกว่าหลักร้อย พร้อมประเมินแบงก์ชาติจะตรึงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องตลอดถึงสิ้นปี 65
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 64 ฝ่ายวิจัยกรุงศรี ประเมินไว้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมาว่า หากฉีดวัคซีนได้ตามคาดจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงต่ำกว่า 100 ได้ภายในกลางเดือน ส.ค. 64 ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศเป้าหมายจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยนับจากวันแรก (1 ก.ค. 64) ที่เริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นต้นแบบในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ตามที่เคยรายงานไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ จากแบบจำลองสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่ประเมินโดยวิจัยกรุงศรี โดยใช้ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อถึง ณ วันที่ 12 มิ.ย. พบว่าในกรณีฐาน การระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ ยังไม่สามารถควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังคงสูงกว่า 2,000 รายจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. และจากแผนการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 หากมีการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 250,000-270,000 โดสต่อวัน (เทียบกับค่าเฉลี่ยปัจจุบันที่ 247,212 รายต่อวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-20 มิ.ย.) จะทำให้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งสิ้น 55 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าว
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจทยอยลดลงหลังเดือน ก.ค. และมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 รายต่อวันได้ในราวกลางเดือน ส.ค. จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ปลายเดือน ส.ค. ซึ่งการฉีดวัคซีนที่เร่งขึ้นกว่าหลายเดือนก่อน ช่วยลดความเสี่ยงด้านขาลงต่อเศรษฐกิจ แต่วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตที่ 2% เนื่องจากหลายปัจจัยยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั่วโลก ความเพียงพอและการกระจายวัคซีน รวมทั้งความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่อาจไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาการปรับประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ในสัปดาห์นี้ ขณะที่วิจัยกรุงศรีคาด กนง. จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อเนื่องในปีนี้และปีถัดไป การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. 64 นี้ ซึ่งจะเป็นรอบที่มีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 2564
โดยครั้งล่าสุด ธปท. คาดการณ์ GDP บนสมมติฐานการจัดหาและการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยกรณีจัดหาวัคซีนและฉีดได้ที่ 100 ล้านโดส (สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 1/2565) GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 2.0% และกรณีมีการฉีดวัคซีนได้ที่ 64.6 ล้านโดส (ไตรมาส 3/65) GDP จะขยายตัวเหลือเพียง 1.5%
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่สม่ำเสมอ ทางการจึงมีแนวโน้มมุ่งเน้นการผ่อนคลายทางการเงินแบบเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ล่าสุด ธปท. ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือ SMEs และสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้
รวมทั้งรัฐบาลกำลังหารือกับ ธปท. เพื่อหาแนวทางช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชน เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยอาจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศสำคัญ เช่น เกาหลีใต้ อาจส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากต่างประเทศจึงยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เนื่องจากความรวดเร็วในการฟื้นตัวมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในวงกว้างอาจใช้เวลานาน เนื่องจากมีการพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
ดังนั้น จึงคาดว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดย กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 และปี 2565.