ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีการนำระบบบล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์และให้บริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ
โดยหนึ่งในนั้นที่กำลังเป็นที่นิยมคือ Decentralized Finance หรือ "DeFi" หลายคนอาจเคยได้ยิน หรือเคยเข้าไปทำธุรกรรมกับโครงการ DeFi กันบ้าง
แม้ DeFi จะเป็นเรื่องใหม่ แต่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีโครงการ DeFi เกิดขึ้นมากมาย ทั้งโครงการที่ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และบางโครงการก็มีผู้ที่ถูกหลอกลวงและเกิดความเสียหาย
ดังนั้น ประชาชนและผู้สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนเข้าทำธุรกรรม มาดูกันว่า DeFi คืออะไร มีการกำกับดูแลอย่างไรตามกฎหมายไทย รวมทั้งข้อพิจารณาก่อนทำธุรกรรม DeFi สำหรับผู้ประกอบธุรกิจและผู้ซื้อขาย
DeFi คืออะไร
DeFi เป็นบริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์บนระบบบล็อกเชน ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract)
ดังนั้น จุดสำคัญของโครงการ DeFi จึงอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ การทำงานอย่างถูกต้อง และความปลอดภัยของเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริการทางการเงินรูปแบบดั้งเดิมที่ความสำคัญจะอยู่ที่การปฏิบัติงานของผู้ให้บริการอย่างสถาบันการเงิน
ปัจจุบันโครงการ DeFi ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ มีกิจกรรมที่ครอบคลุมการให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล (lending & borrowing) ซึ่งผู้ทำธุรกรรมสามารถฝากสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งจากการให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (decentralized exchange) ซึ่งเป็นการให้บริการแบบกระจายศูนย์
นอกจากนี้ จะไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดยผู้ทำธุรกรรมจะทำการเชื่อมต่อกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ wallet ของตนกับเว็บไซต์ผู้ให้บริการเมื่อต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการสินทรัพย์ หรือ asset management โดยให้บริการผ่านแพล็ตฟอร์มแบบกระจายศูนย์
นอกจากนี้ ยังมีการออกโทเคนดิจิทัล เช่น Liquidity Provider (LP) token, governance token หรือ token ต่างๆ ให้แก่ผู้ที่ทำธุรกรรมในโครงการ DeFi ตลอดจนการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ให้รางวัล ชิงโชค และหลายโครงการยังมีการต่อยอดกิจกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรมและส่งเสริมให้มีการใช้งาน token ของโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ
DeFi และการกำกับดูแล
ทั้งนี้ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการเสนอขายและการให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย คริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล
โดยกำหนดให้การออกโทเคนดิจิทัลต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดและเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
รวมทั้งยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่
1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset exchange)
2. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset broker)
3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset dealer)
4. ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset fund manager)
5. ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor)
ทั้งหมดนี้ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจตามประเภทที่ได้รับอนุญาต
หากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโครงการ DeFi ในประเทศมีการออกโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้บริการ อาจเข้าข่ายการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาต
หากลักษณะหรือรูปแบบการให้บริการเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็จะต้องได้รับใบอนุญาตและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดตามที่กล่าวมาข้างต้น
รวมทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและจดทะเบียน (Listing rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. นอกจากนี้กิจกรรมอื่นๆ เช่น การให้ยืม การให้รางวัล หรือชิงโชคต่างๆ อาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย
ข้อควรรู้ก่อนทำธุรกรรม DeFi
เนื่องจากปัจจุบัน DeFi ยังเป็นเรื่องใหม่และยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่จะดำเนินการเกี่ยวกับ DeFi ในประเทศ ควรพิจารณาก่อนดำเนินการว่าธุรกรรมดังกล่าวนั้นเข้าข่ายการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะต้องได้รับอนุญาตหรือไม่
หากฝ่าฝืนจะเป็นการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมทั้งศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ผู้ทำธุรกรรมฝากสินทรัพย์ดิจิทัลอาจประสบผลขาดทุนจากราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไปฝากเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับราคาขณะที่ได้ทำการฝาก หรือ impermanent loss
นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีบางโครงการ DeFi ถูกแฮก smart contract เกิดปัญหา มีช่องโหว่ หรือทำงานผิดพลาด ทำให้ผู้ซื้อขายเกิดความเสียหายและสูญเสียทรัพย์สิน และมีบางโครงการ DeFi ที่ปิดตัวและหลอกลวงทรัพย์สินของผู้ซื้อขายไป ซึ่งหากเป็นโครงการ DeFi ในต่างประเทศก็อาจไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายของไทย
ดังนั้น ผู้ซื้อขายควรศึกษาโครงการ DeFi ก่อนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในทางเทคนิคด้านความปลอดภัย รวมถึงข้อกำหนด เงื่อนไข และฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ที่เขียนขึ้นบนระบบความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
และควรตรวจสอบว่าโครงการนั้นได้ผ่านการตรวจสอบ หรือ audit จากบริษัทตรวจสอบที่เชื่อถือได้ และผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายอื่นหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้จากแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือเว็บไซต์ www.sec.or.th หัวข้อ สินทรัพย์ดิจิทัล และสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207
บทความโดย
นภนวลพรรณ ภวสันต์
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน
สำนักงาน ก.ล.ต.