เปิดปรากฏการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกยุคโควิด นักลงทุนรุ่นใหม่เฮละโลหาผลตอบแทน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดปรากฏการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกยุคโควิด นักลงทุนรุ่นใหม่เฮละโลหาผลตอบแทน

Date Time: 14 มิ.ย. 2564 05:05 น.

Summary

  • ปรากฏการณ์นักลงทุนหน้าใหม่ แห่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น กระโจนเข้าสู่สังเวียนการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างคึกคักในช่วง 1-2 ปีนี้ ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด–19 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตาและติดตาม

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์นักลงทุนหน้าใหม่ แห่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น กระโจนเข้าสู่สังเวียนการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างคึกคักในช่วง 1-2 ปีนี้ ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด–19 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตาและติดตาม

โดยเฉพาะเมื่อตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดเผยยอดผู้เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นรายใหม่ พบว่า เฉพาะ 4 เดือนแรกปีนี้ รวมกันมากถึง 870,337 บัญชี (รวม ณ สิ้น เม.ย.64 มีบัญชีซื้อขายหุ้นนักลงทุนบุคคล 4,384,334 บัญชี) มากกว่าทั้งปี 63 ที่เปิดบัญชีใหม่รวม 747,063 บัญชี ซึ่งถือว่าเป็นปีที่เปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดแล้ว เพราะหากย้อนไปปีก่อนๆ ยอดเปิดบัญชีใหม่แต่ละปี เฉลี่ยราว 1-3 แสนบัญชีเท่านั้น ที่สำคัญยังพบว่า ผู้เปิดบัญชีใหม่ มีช่วงอายุน้อยลงมาก ส่วนใหญ่อายุ 20–30 ปีเท่านั้น!!

นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทยยังสูงขึ้นมาก โดยเดือน พ.ค. มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai รวมกันสูงถึง 109,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,859 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าการซื้อขายที่สูงมาก!!

“นักลงทุนรุ่นโควิด-19” มีพฤติกรรมการลงทุนอย่างไร จะสามารถหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างยั่งยืนระยะยาว หรือจะอยู่รอดในตลาดหุ้นได้หรือไม่ อะไรเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักลงทุนหน้าใหม่ กระโจนเข้าสู่โลกการลงทุน ทำไมนักลงทุนหน้าเดิมที่เคยร้างรา ต้องหวนกลับสู่สังเวียนลงทุนอีกครั้ง!!

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้พูดคุยกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และบรรดากูรู รวมทั้งเซียนหุ้นระดับตำนาน และนักลงทุนละอ่อนหน้าใหม่ เพื่อหาคำตอบและสะท้อนมุมมอง หลักคิด ความเห็น ข้อกังวลและคำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจ...

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

กล่าวว่า หนึ่งใน New Normal ที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ จำนวนรายย่อยและปริมาณการซื้อขายของรายย่อยในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ อย่าง อินโดนีเซีย มีนักลงทุนบุคคลเพิ่มขึ้นถึง 70% นับจากปลายปี 62 และในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 30 ปี ถึง 70% ส่วนเวียดนามมีนักลงทุนบุคคลเพิ่มขึ้น 35% มาเลเซียเพิ่มขึ้นเกือบ 20% และมากกว่า 60% มีอายุระหว่าง 26-45 ปี

ส่วนประเทศที่มีฐานนักลงทุนรายย่อยสูงมากอยู่แล้ว อัตราการขยายตัวของนักลงทุน อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แต่มีการเข้ามาสู่ตลาดทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี ในเกือบทุกประเทศ ปริมาณการซื้อขายของรายย่อยก็เพิ่มขึ้นมาก เช่นที่เกาหลีใต้ เพียง 5 เดือนแรกปีนี้ ปริมาณซื้อขายของรายย่อยสูงกว่ายอดรวมทั้งปี 63 แม้กระทั่งสหรัฐฯ ในช่วง 1-2 ปีนี้ ปริมาณการซื้อขายของรายย่อยเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด จนมีสัดส่วนถึง 25% ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเกือบเท่าสัดส่วนการซื้อขายของกองทุนรวม และเฮดจ์ฟันด์รวมกัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ New Normal นักลงทุนรายย่อยลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นมาก มาจาก 1.ดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี และหลายประเทศ ต่ำจนเกือบ 0% สร้างแรงกดดันให้คนที่มีเงินเก็บ ต้องแสวงหาผลตอบแทน 2.เศรษฐกิจที่ซบเซาจากผลกระทบการปิดเมืองและ Lockdown ทำให้รายได้หายไป 3.มาตรการ WFH ทำงานที่บ้าน ทำให้คนมีเวลาว่างมากขึ้น 4.พัฒนาการเทคโนโลยี ทำให้การเข้าถึงตลาดทุนสะดวกสบายขึ้น ทั้งขั้นตอนการเปิดบัญชีที่รวดเร็ว, ระบบซื้อขายออนไลน์, ข้อมูลการลงทุนที่หาได้ง่ายจากโซเชียลมีเดีย

“กระแสความสนใจลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ถือเป็นพัฒนาการที่ดี เราควรใช้โอกาสนี้ สร้างวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นไทยตั้งมาเกือบ 50 ปี แต่นักลงทุนบุคคลในตลาดหยุดอยู่แค่ 2 ล้านกว่าคนมานาน ถือว่าน้อยมาก น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่พลาดโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในตลาดหุ้น หากนับจากตั้งแต่ต้นปี 53 ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นแล้ว 120% เท่ากับเฉลี่ย 10% ต่อปี บวกกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend yield) อีกราว 3% ต่อปี จะเท่ากับ 13% ต่อปี ถือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีมากๆ”

แต่ที่น่าห่วง คือ รายย่อยจำนวนมาก รวมทั้งนักลงทุนรุ่นใหม่ ยังมีพฤติกรรมลงทุนแบบ Old Normal หรือเน้นซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้น มากกว่าลงทุนระยะยาว และอีกพัฒนาการที่น่าเป็นห่วง คือการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางชี้นำการลงทุน ทำให้นักลงทุนอาจถูกชักนำให้ลงทุนแบบเก็งกำไร ลงทุนในหุ้นไม่มีคุณภาพ อาจสร้างความเสียหายได้

“ไพบูลย์” แนะนำว่า นักลงทุนรุ่นใหม่ควรเข้าอบรมเรื่องการลงทุนที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ ควรเข้าฟัง Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นการจัดออนไลน์ สามารถเข้าฟังย้อนหลังได้ด้วยและควรศึกษาข้อมูลการลงทุนจากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์

ภากร ปีตธวัชชัย
ภากร ปีตธวัชชัย

ภากร ปีตธวัชชัย

กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์

มองเช่นเดียวกับ “ไพบูลย์” ถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เกิดขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะมีแรงกดดันจากดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำมายาวนาน ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินยังมีอยู่สูง สะท้อนจากเงินฝากในระบบ ที่ปัจจุบันมีกว่า 15.72 ล้านล้านบาท ทำให้คนมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่า จึงย้ายเงินมาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยี ทำให้การเปิดบัญชีง่ายขึ้น ทุกอย่างเป็นออนไลน์หมด รวมทั้งระบบการซื้อขาย ทั้งสะดวก รวดเร็ว และค่าคอมมิชชันก็ต่ำมาก ขณะที่การหาความรู้ด้านลงทุนก็ง่ายขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 63 ต่อเนื่องถึงปีนี้

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า บัญชีที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่ มีวงเงินซื้อขายค่อนข้างน้อย และคนเจนวาย (Gen Y) เน้นลงทุนหุ้นใหญ่พื้นฐานดีที่ธุรกิจมีศักยภาพสูง และเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลด้วย

ดังนั้น โจทย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องต่อยอด คือ สนับสนุนให้เขาสามารถลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีๆ ด้วยเงินจำนวนน้อยได้ เป็นการสนับสนุนให้เกิดการออมและการลงทุน เช่น มีเงิน 100 บาท ก็สามารถซื้อหุ้น ปตท. (PTT) หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) หรือหุ้น APPLE ในตลาดต่างประเทศได้ โดยจะให้บริษัทหลักทรัพย์ ออกหลักทรัพย์ที่เรียกว่า DR (Depositary Receipt) โดยผู้ออก DR จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหรือรวบรวมหุ้น ซึ่งจะเป็นหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศก็ได้ แล้วมาเสนอขายหุ้นนั้นให้กับผู้ลงทุน โดยนำหุ้นมาแตกย่อยเป็นหน่วยเล็กๆ ที่คนมีเงินน้อยก็สามารถลงทุนซื้อได้ คล้ายๆกับกองทุนรวม โดยที่ผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสมือนลงทุนในหุ้นนั้นโดยตรง

“เพื่อให้นักลงทุนกลุ่มใหม่ มีทางเลือกในการลงทุนได้มากขึ้น แม้จะมีเงินจำนวนน้อยๆ ก็สามารถลงทุนหุ้นดีๆ ทั่วโลกได้ ผ่านการซื้อขาย DR ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะได้เห็นภายในปีนี้”

“ภากร” ยังได้ฝากเตือนนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ที่เน้นเข้ามาเก็งกำไรตามข่าว ตามกระแส ว่า ขอให้ศึกษาข้อมูลพื้นฐานหุ้นที่จะลงทุน จากบทวิเคราะห์วิจัย และข่าวสารที่เป็นทางการ และเชื่อถือได้จากตลาดหลักทรัพย์ มากกว่าเชื่อข่าวลือตามสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น คึกคัก และราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวหวือหวามากๆ เกิดจากนักลงทุนขาใหญ่ หรือนักลงทุนหน้าเก่าในตลาดเป็นตัวนำทั้งนั้น ดังนั้น การจะเข้าไปเล่นตาม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และควรต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของหุ้นที่เข้าไปลงทุนด้วย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปรมาจารย์การลงทุนระดับตำนาน

กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ ตอนนี้กำลังบูมสุดๆ นักลงทุนรายย่อยที่หายไปจากตลาดเป็นสิบๆ ปี ต่างกลับมาลงทุนกันอย่างบ้าคลั่ง จนปัจจุบันการเทรดของรายย่อยในสหรัฐฯ รวมกันมากกว่านักลงทุนสถาบันและกองทุนใหญ่ๆ แล้ว เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนธรรมดาหาข้อมูลดีๆ ฟรีๆ ได้ง่ายๆ ในโลกออนไลน์ และช่วงโควิดก็ทำให้คนมีเวลาเทรดหุ้นมากขึ้น ค่าคอมฯต่ำ ระบบเทรดดี เข้าถึงง่าย ขณะที่รัฐบาลอัดฉีดเงินมหาศาล ทำให้มีสภาพคล่องมหาศาลไหลเข้าตลาดหุ้น

ขณะที่ไทยก็เช่นกัน คนมีความรู้ตกงานเยอะ ทั้งพวกสายการบิน โรงแรม ท่องเที่ยว ซึ่งมีรายได้สูง ก็เอาเงินเก็บมาเทรดหุ้น รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ อยากรวยเร็ว ก็กระโจนไปลงทุนทั้งคริปโต และตลาดหุ้น มีการรวมกลุ่มก๊วนกันในห้องไลน์ และสื่อโซเชียลต่างๆ

“ช่วงนี้ตลาดมีสภาพคล่องสูง ราคาหุ้นเล็กหุ้นน้อยกำลังวิ่งขึ้น พอลงทุนได้กำไร เห็นว่าหาเงินง่าย ก็จะเฮละโลเข้าไปซื้อ ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปอีกหลายเท่าภายในเวลารวดเร็ว หากธุรกิจดี มีกำไร ราคาก็จะอยู่ได้ แต่หากหุ้นไม่ได้มีพื้นฐานรองรับ หรือธุรกิจวิ่งตามราคาหุ้นไม่ทัน เมื่อคนหยุดซื้อและพากันเทขายทำกำไร ราคาหุ้นลง มือใหม่ ที่ไม่รู้เรื่อง เห็นราคาหุ้นลงก็คิดว่าถูกแล้ว เข้าไปซื้ออีก กลายเป็นรายย่อยพยุงราคากันเอง ยิ่งราคาลงหนัก ก็ทำใจไม่ได้ ขายไม่ลง ไม่กล้า Cut loss (ตัดขายขาดทุน) สุดท้ายพอลงเยอะมากๆ จะขาดทุนหนัก ถือว่าอันตราย”

แนะนำว่า หากจะเข้ามาลงทุนและอยู่รอดในตลาดหุ้นได้ ต้องศึกษาข้อมูล เลือกลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานรองรับ โดยกระจายการลงทุนในบริษัทใหญ่ ในกิจการที่หลากหลาย หรือลงทุนผ่านกองทุนให้มืออาชีพมาช่วย และควรแบ่งส่วนกระจายการลงทุนออกไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่เศรษฐกิจยังมีโอกาสเติบโตสูง และฟื้นเร็ว อย่างจีน เวียดนาม หรือสหรัฐฯ เพราะธุรกิจหรือหุ้นไทยเริ่มอิ่มตัว โตช้า จากเศรษฐกิจโตช้าลง การบริโภคชะลอตัว

สุดท้ายอยากให้ลงทุนโดยมองการลงทุนระยะยาว เพื่อวัยเกษียณด้วย เชื่อว่า นักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากเป็นคนเก่ง มีความรู้และความเข้าใจการลงทุน ถือเป็นเรื่องดีและมีข้อได้เปรียบ

“เสี่ยป๋อง” วัชระ แก้วสว่าง
“เสี่ยป๋อง” วัชระ แก้วสว่าง

“เสี่ยป๋อง” วัชระ แก้วสว่าง

เซียนหุ้นติดดิน LOSO BILLIONAIRE

“เสี่ยป๋อง” บอกว่า สมัยก่อนจะเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต้องมีเงิน 500,000-1 ล้านบาท สมัยนี้เปิดพอร์ตเล่นหุ้นง่าย มีเงินเพียงหลักพันบาทก็ซื้อขายหุ้นได้แล้ว เมื่อสภาพคล่องล้น ดอกเบี้ยถูก คนออมเงินก็ไม่อยากออมแล้ว มาเล่นหุ้นดีกว่า ประกอบกับ ช่วงที่ผ่านมาหุ้นไอพีโอ เมื่อเข้าซื้อขายในตลาด สร้างกำไรให้นักลงทุนได้ดี และมีหุ้นโออาร์-เงินติดล้อเข้ามาจุดพลุ สร้างกระแสให้คนเข้าตลาดหุ้นเยอะมาก ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่

ส่วนเด็กรุ่นใหม่เก่งๆ อยากรวยเร็ว ส่งผลให้เกิดคอร์สอบรมสัมมนาสอนเล่นหุ้นเต็มหน้าฟีดเฟซบุ๊ก มีทั้งกูรูจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ส่วนคนที่มีแผนรอค้าขายทำธุรกิจ ด้วยโควิด ทำให้เดินต่อไม่ได้ แถมบางคนตกงาน หรือต้อง WFH สุดท้ายจึงต้องแคะกระปุก เอาเงินเก็บออกมาลงทุนเล่นหุ้น เพื่อหากินหาใช้

“เสี่ยป๋อง” บอกว่า นักลงทุนที่จะเอาตัวรอดในตลาดหุ้นได้ โดยเฉพาะมือใหม่ ต้องหมั่นศึกษาวิเคราะห์หุ้นที่จะลงทุนด้วยตัวเอง แม้จะฟังคนอื่น ฟังกูรูบอกตัวหุ้นมา ฟังได้ แต่เงินของเรา เราต้องตัดสินใจซื้อและขายเอง จากประสบการณ์ในวงการตลาดหุ้น 20 กว่าปี ไม่มีใครทำให้เรารวยได้ นอกจากตัวเราเอง โดยศึกษาข้อมูลตัวหุ้นจากนักวิเคราะห์ และบทวิเคราะห์ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเรียนรู้เส้นกราฟและเทคนิค

“การเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ไม่มีใครเก่งอยู่คนเดียว เมื่อวานผมยังต้องยอม Cut loss อยู่เลย ไม่มีใคร perfect และไม่ผิดพลาด ผมศึกษามาทุกรูปแบบ เรียนรู้จากความผิดพลาด ศึกษาข้อมูลจากกูรู อ่านบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ จนทุกวันนี้ หาวิธีเอาตัวรอดของตัวเองได้จากการดูกราฟเทคนิค ซึ่งพอร์ตลงทุนผม มีทั้งหุ้นพื้นฐานดีที่ถือระยะยาวและที่เก็งกำไรระยะสั้น แต่ไม่ว่าจะลงทุนสั้นหรือยาว ต้องดูกราฟเพื่อหาจังหวะเข้าซื้อหรือขายออก

ถ้าถือหุ้นเพื่อหวังถือยาว ผมจะศึกษาลึกไปเลย อ่านบทวิเคราะห์หลายโบรกฯ ดูพื้นฐานธุรกิจ การทำกำไร ตัวเลขการเงิน เทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม เทียบกับอุตสาหกรรมโลก ตลอดจนตัวผู้บริหาร เมื่อตัดสินใจจะลงทุน สุดท้ายก็จะดูกราฟเพื่อหาจังหวะในการเข้าซื้อ แต่ถ้าเล่นเก็งกำไรระหว่างวัน หรือ 1-2 วัน ก็จะดูกราฟเป็นหลักล้วนๆ”

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ