ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์แทบจะตลอดเวลา วันนี้เห็นเทรนด์เป็นแบบนี้ แต่วันพรุ่งนี้ก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อยู่ที่ว่าใครปรับตัวได้ไวที่สุด เช่นเดียวกับธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะสาย Fintech ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินจนทำให้ทุกอย่างง่ายไปหมด
ถ้าถามว่าง่ายแค่ไหน คุณลองหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาแล้วลองโอนเงิน หรือสแกน QR Code จ่ายเงินร้านค้าบริการต่างๆ หรือจะเทรดหุ้น เทรดทอง เทรด Cryptocurrency ซื้อกองทุนก็ยังได้ นี่ยังไม่รวมถึงการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมด้วยกันทั้งนั้น
รอบนี้เรามีโอกาสได้คุยกับเจ้าของฟินเทค สัญชาติไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจากแบงก์ชาติให้เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank เป็นรายแรกของไทยจะมาเล่าถึงธุรกิจการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีค่าธรรมเนียมแสนถูก และเขาทำได้อย่างไรกัน
อัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท ดี มันนี่ จำกัด หรือ DeeMoney บอกกับเราว่า จริงๆ ธุรกิจเราเป็นที่รู้จักดีในหมู่ แรงงานต่างชาติ ผู้ประกอบการ SME หรือคนที่ต้องใช้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จะรู้จักดี มันนี่ กันหมดเพราะค่าธรรมเนียมการโอนเงินเริ่มต้นเพียง 250 บาท ต่อหนึ่งธุรกรรม และ ช่วงนี้เราลดราคาค่าโอนเหลือ 50% ที่สำคัญโอนวันนี้พรุ่งนี้เงินถึงปลายทางเลย ใน 29 ประเทศ เราจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
"ข้อกังวลของคนส่วนใหญ่เวลาจะโอนเงินระหว่างประเทศ คือเรตอัตราแลกเปลี่ยน หลายคนก็อยากได้เรตราคาที่ไม่แพงเกินไป และได้ราคาที่แน่นอน นี่คือจุดเริ่มต้นของเราที่มองเห็นโอกาส ที่สำคัญเราโลดแล่นอยู่วงการโทรคมนาคมมา 20 ปี จึงมีความรู้ ความเข้าใจเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินได้"
เขาบอกอีกว่า จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหนก็ถูกท้าทายด้วย Digital Disruption ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครปรับตัวได้เร็ว และมองเห็นโอกาส ซึ่ง DeeMoney ถือเป็นบริการ และแบรนด์หนึ่งภายใต้ บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ที่ให้บริการบัตรโทรศัพท์โทรต่างประเทศ หรือ วอยซ์โอเวอร์ไอพี (VoIP) แต่พอมี Skype WhatsApp หรือ Line เข้ามาทำให้บริการ VoIP ได้รับความนิยมน้อยลง
"เมื่อหนึ่งในธุรกิจของเราถูก Digital Disruption เราจึงเห็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ จุดหนึ่งที่เห็นในตลาดต่างประเทศ คือ ธุรกิจโอนเงินด้วยพื้นฐานจากเทคโนโลยี เราจึงมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจฟินเทค จากนั้นก็เริ่มนำมาศึกษาและเป็นที่มาของการไปขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย แน่นอนว่าการขอใบอนุญาตนั้นเงื่อนไขค่อนข้างรัดกุม ซึ่งเราก็ผ่านมาได้"
ทั้งนี้ ดี มันนี่ ได้รับใบอนุญาตจากแบงก์ชาติให้เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) เป็นรายแรกของประเทศไทย และสวัสดีช้อปยังได้รับใบอนุญาตประเภทสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เพื่อให้บริการส่งเงินข้ามพรมแดน (Non-Bank International Money Remittance Service License)
รวมถึงใบอนุญาตให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment Service License) และใบอนุญาตให้แลกเงินที่ได้รับอนุญาต (Authorized Money Changer License) และใบอนุญาตชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเร็วๆ นี้เรากำลังขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้บริการด้านการเงินของดี มันนี่ ครบวงจรมากขึ้น
พัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง เพราะเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนถูกลง
อัศวิน บอกอีกว่า ดี มันนี่ ใช้แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเอง ชื่อว่า แกรนด์เซ็นทรัล หรือ Grand Central ซึ่งเป็นตัวประมวลผลการชำระเงินไป-กลับ ระหว่างประเทศกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งง่ายต่อการพัฒนาและต่อยอดบริการที่เกี่ยวข้องกับฟินเทค การที่เราพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาโซลูชั่นต่างๆ เอง ก็ทำให้ต้นทุนถูกลง
ปัจจุบันเรามีลูกค้า 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ กลุ่ม Consumer ที่เป็นแรงงานต่างชาติต้องการโอนเงินกลับบ้าน 2.กลุ่มผู้ประกอบการ SME จนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และ 3.การให้บริการเทคโนโลยีกับคู่ค้า เช่น ธนาคารในต่างประเทศ และฟินเทคในต่างประเทศ ซึ่งความต้องการในการโอนเงิน หรือการทำธุรกรรมทางการเงินก็จะไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ เรามีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัทคู่ค้าใหม่ๆ และทำงานร่วมกับคู่ค้าปัจจุบันกว่า 40 บริษัททั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่าการโอนเงินเข้าและออกจากประเทศไทยจะเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยที่สุด
ขยายกลุ่ม B2B ด้วยค่าธรรมเนียมหลักร้อย
อัศวิน บอกว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME ถึง 45% ของ GDP หรืดคิดเป็นเม็ดเงินมากกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้ประกอบการ SME กลับเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการที่เหมาะสมจากธนาคาร โดยเฉพาะบริการด้านธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ปกติผู้ประกอบการ SME ใช้บริการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศโดยระบบ SWIFT ผ่านธนาคารต่อธนาคาร
โดยความเสี่ยงที่ SME เหล่านี้ต้องเจอ คือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความล่าช้าในการโอนเงิน รวมไปถึงค่าธรรมเนียมส่งเงินและรับเงิน อุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ทำให้ลูกค้ากลุ่ม SME ไม่สามารถบริหารกระแสเงินสดได้ อันนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก อีกอย่างเราจะเห็นได้ว่าธนาคารยังมีช่องว่างในการให้บริการลูกค้ากลุ่ม SME ให้ทัดเทียมกับลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรของธนาคารเอง
เราจึงออกแบบดี มันนี่ ในแคมเปญ DeeMoney for Business เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว โปร่งใส โดยเฉพาะการรับประกันอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนระหว่างการโอน และค่าธรรมเนียมคงที่อัตราเดียว และรับเงินเต็มก้อนในสกุลเงินท้องถิ่นที่ปลายทาง จึงช่วยให้ลูกค้าประหยัดได้มากกว่า 8% เมื่อเทียบกับการโอนเงินผ่านธนาคาร
"ลูกค้าเราสามารถโอนเงิน หรือชำระเงินไปยังสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย ฮ่องกง และอีก 25 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญได้เงินเร็ว และค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดเพียง 499 บาทต่อครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้า การโอนเงินให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ หรือการจ่ายเงินเดือนไปยังพนักงานที่ต่างประเทศก็สามารถทำได้ผ่านแพลตฟอร์มของดีมันนี่"
อยากทำ Infrastructure ให้เติบโต แต่นักพัฒนา Tech ขาดแคลน
อัศวิน เปรยว่า สิ่งที่อยากทำต่อจากนี้คือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มให้เติบโตมากกว่านี้ เรายังเห็นว่า ฟินเทค ยังพัฒนาได้อีกมากหากเทียบกับต่างประเทศจะเห็นได้ว่า ฟินเทค เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้น ตัวผมเองก็อยากพัฒนาตัวดี มันนี่ ให้ดีกว่าเดิม และแข็งแรง เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ใน อนาคต
"คุณรู้ไหม แรงงานด้าน Tech โดยเฉพาะสาย FinTech หายากมาก สมมติว่ามีนักศึกษาจบจากสายนี้ประมาณ 300 คน พวกเขาเหล่านั้นมีงานทำตั้งแต่ยังไม่ก้าวออกจากมหาวิทยาลัย เรียกง่ายๆ ว่าโดนจองตัวไปหมดแล้ว กว่าจะมาถึง Start up แบบพวกเราก็เหลือไม่กี่คน ผมว่าถ้าเราสามารถผลิตแรงงานด้าน Tech ได้มากขึ้นน่าจะส่งผลดีกับประเทศไทยในอนาคตแน่ๆ".
ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun