วิกฤติโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างในชีวิตของผู้คนทั้งโลก ได้แปรเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง ยอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสร้ายโควิด และยอดผู้เสียชีวิต ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความหวั่นวิตกในอนาคตที่ไม่แน่นอน หลายธุรกิจหยุดชะงัก คนจำนวนมากต้องตกงาน
ที่ผ่านมาเมื่อปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราชนะ, คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ม.33, เรารักกัน รวมถึงลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี โทรศัพท์ฟรี เพราะต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสร้าย
โดยโครงการต่างๆที่รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ได้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจไปแล้วราว 694,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยตรง ที่พักชำระหนี้สินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ รวมถึงประชาชนที่เป็นหนี้บ้าน หนี้รถ ก็สามารถยื่นพักชำระหนี้กับธนาคารได้ เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชน
ทั้งนี้ หากจำแนกแยกย่อยมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน ผู้ได้รับสิทธิ 15.3 ล้านคน ใช้เงินไปราว 228,919 ล้านบาท โครงการเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอีก 1.164 ล้านคน ใช้เงินไปราว 3,080 ล้านบาท โครงการเยียวยาเกษตรกร 7.566 ล้านครัวเรือน ใช้เงินไปราว 113,000 ล้านบาท โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก คนชรา และผู้ป่วย ผู้พิการ ราว 140,000 คน ใช้เงิน 209 ล้านบาท
โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟสแรก ผู้ได้รับสิทธิ 13.57 ล้านคน ใช้เงิน 20,341 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 มีผู้ได้รับสิทธิ 13.34 ล้านคน ใช้เงินไปราว 20,000 ล้านบาท โครงการคนละครึ่ง รวม 2 เฟส มีผู้ใช้สิทธิ 14.79 ล้านคน ใช้เงินไปรวม 102,000 ล้านบาท และโครงการเราชนะ ผู้ได้รับสิทธิ 33.10 ล้านคน ขณะนี้ใช้เงินไปแล้ว 202,000 ล้านบาท
แต่เมื่อโควิด-19 กลับมาแผลงฤทธิ์ระลอก 3 เดือน เม.ย.2564 นี้ ดูเหมือนจะเป็นรอบที่หนักหนาสาหัส มีความรุนแรงกว่า 2 รอบที่ผ่านมา และยังไม่รู้ว่ารอบนี้จะกระทบเศรษฐกิจไทยมากเพียงใด และจะยาวนานแค่ไหน
ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ลง สศค.ปรับลดจาก 2.8% เหลือ 2.3% รวมถึงหลายๆสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ก็ได้ปรับลดจีดีพีลงแล้ว
เช่นกัน
ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้เร่งมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา แบ่งบรรเทาภาระความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดรอบ 3 นี้ เนื่องจากไม่คาดคิด ว่าสถานการณ์จะหนักหนาสาหัส ดังนั้นมาตรการต่างๆจึงยังไม่สะเด็ดน้ำ ถึงแม้จะมีเม็ดเงินเหลืออยู่ถึง 400,000 ล้านบาท แต่ก็ยังนำออกมาช่วยเหลือไม่ได้ ถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากที่รัฐบาลจะใช้มาตรการ “คนละครึ่ง” เฟส 3 เพื่อช่วยภาระรายจ่ายประชาชน และกระจายรายได้ไปยังร้านค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย และบริการอื่นๆ ทั่วประเทศ เพราะถือเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่ตรงจุด เกาถูกที่คัน และได้รับความชื่นชมจากหลายฝ่าย
หากรัฐบาลจะใช้มาตรการคนละครึ่งอีกครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ โดยรัฐบาลสามารถใช้ฐานข้อมูลที่ประชาชนได้ลงทะเบียนไว้แล้ว ผ่านโครงการเราชนะ คนละครึ่ง และอีกหลายๆ มาตรการ มาบูรณาการตรวจสอบสิทธิของประชาชน แล้วก็จ่ายเม็ดเงินให้ประชาชนไปในสิทธินั้น เช่น แอปฯ “เป๋าตัง” ก็โอนเงินเข้าไป ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เพิ่มเม็ดเงินได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชน
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง การระบาดโควิดระลอกนี้ หนักหนาสาหัส ทำให้กระทรวงการคลังขยับปรับมาตรการใหม่ ซึ่งต้องเร่งมาตรการช่วยเหลือ เพื่อช่วยแบ่งเบาบรรเทาผลกระทบ คาดว่าภายในเดือนพ.ค.นี้ จะนำมาตรการช่วยเหลือเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อ ครม.อนุมัติ กระทรวงการคลังก็พร้อมจะดำเนินการทันที อย่างช้าไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะเร่งรัดการลงทุน การใช้จ่ายของส่วนราชการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการใช้จ่าย ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนลงสู่ชุมชนโดยเร็ว
มาตรการช่วยเหลือคงไม่ได้มีเพียง “คนละครึ่ง” มาตรการเดียว แต่จะมีอีกหลายๆมาตรการทยอยออกมา กระตุ้นการบริโภคประชาชน กระตุ้นการท่องเที่ยว ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนให้ฟื้นเป็นปกติโดยเร็ว
เพื่อให้ทั้งคนไทยและประเทศไทยได้ก้าวผ่านวิกฤติโควิดไปด้วยกัน!!!
ดวงพร อุดมทิพย์