พาไปดูความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม เน็ตเร็ว และเตียงที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

พาไปดูความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม เน็ตเร็ว และเตียงที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล

Date Time: 17 เม.ย. 2564 09:00 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย.64 นี้ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะโควิดรอบนี้ติดง่าย และกระจายวงค่อนข้างกว้าง สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนคงคิดตรงกัน

Latest


  • ภาคเอกชนร่วมใจส่งสิ่งของจำเป็นไปยังโรงพยาบาลสนาม 
  • นวัตกรรมที่น่าสนใจที่โรงพยาบาลสนาม คือ เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี
  • ทำไมโรงพยาบาลสนามจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย.64 นี้ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะโควิดรอบนี้ติดง่าย และกระจายวงค่อนข้างกว้าง สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนคงคิดตรงกัน พวกเราอยู่กับโควิด-19 มาครบ 1 ปีพอดิบพอดี แต่ทำไมการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะช้าเกินไป และไม่ทันเวลา เรื่องนี้ "เศรษฐินีศรีราชา" ก็คงตอบไม่ได้ คงได้แต่ร้องเพลง "อยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ บอกให้เธอฟังไม่ได้สักคำ"

ทิ้งเรื่องราวเหล่านั้นไปก่อน สิ่งที่เราต้องทำช่วยกันคนละไม้คนละมือ นอกจากจะส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว โรงพยาบาลหลายแห่งตอนนี้ต้องการสิ่งของจำเป็นเพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด หากใครช่วยเหลือตรงไหนก็ช่วยเหลือกันไปก่อน (สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา เราจะคุ้นเคยกับคำว่า โรงพยาบาลสนาม กระจายตัวในหลายจังหวัด ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนัก หรือไม่แสดงอาการใดๆ และมีแนวโน้มที่จะรักษาหาย สิ่งที่สะดุดตามากที่สุด คือ เตียงนอนขนาดเล็กกะทัดรัดที่ดูน้ำหนักเบา และขนย้ายไม่ยาก 



โดยเตียงนอนที่ว่านี้ ผลิตโดยบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG รวมถึงมูลนิธิ SCG เป็นผู้ส่งมอบ และเป็นผู้ออกแบบเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี หรือ SCGP Paper Field Hospital Bed โดยจุดเด่นของเตียงดังกล่าว มีดังนี้

- ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100%

- ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ เพื่อรองรับการใช้งานของสรีระของคนเอเชีย

- น้ำหนักเบา ประหยัดพื้นที่ขนส่งและการจัดเก็บ

- ประกอบง่ายใน 8 นาที โดยไม่ต้องใช้กาว ใช้ได้นาน 3 เดือน หากไม่โดนน้ำ

- รับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมในแนวราบ

ล่าสุด ทาง SCG เองได้มีการส่งมอบเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี ให้แก่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศแล้ว 4,000 ชุด และมีกำหนดส่งมอบต่อเนื่องอีก 8,000 ชุด เพื่อช่วยยกระดับความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด ได้ทันต่อสถานการณ์

นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมน่าสนใจ ที่สำคัญนำมาปรับใช้ในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับหน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุน เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี สามารถติดต่อคุณนพภัสสร โทร. 092-536-3539 หรือส่งเอกสารการแจ้งความประสงค์มาที่อีเมล nopphass@scg.com โดยการพิจารณาให้การสนับสนุนดังกล่าว SCGP จะพิจารณาจัดสรรตามความเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ในปัจจุบันให้ได้เต็มกำลังความสามารถที่สุด

ทำไมโรงพยาบาลสนามจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องมีเน็ตเร็วๆ มีไว้เพื่อให้ผู้ป่วยติดโควิดใช้หรือ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทีมแพทย์ ทีมพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตเพื่อมอนิเตอร์ผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งผ่านกล้อง CCTV รวมถึงการรายงานอาการป่วยผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ หากมีความผิดปกติทีมแพทย์จะเข้าไปดูแลได้ทันท่วงที ที่สำคัญบริการเหล่านี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า บริษัทได้เข้าไปสนับสนุนระบบสื่อสารบริเวณโรงพยาบาลสนามใน 2 เป้าหมายหลัก คือ 1. สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการเก็บและสื่อสารข้อมูล 2. อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารักษา ได้สื่อสารติดต่อกับโลกภายนอก

ล่าสุด AIS ได้เข้าติดตั้งอินเทอร์เน็ตที่โรงพยาบาลสนามทั้งหมด ดังนี้ เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1. รพ.สนามเอราวัณ-1 สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน 2. รพ.สนามเอราวัณ-2 ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก 3. รพ.สนามศูนย์ผู้สูงอายุ บางขุนเทียน 4. รพ.สนามราชพิพัฒน์ 5. รพ. สนามของ รพ. จุฬาลงกรณ์ ที่อาคารจันทนยิ่งยง ศูนย์กีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6. รพ. สนาม อาคารกีฬา รพ.บำราศนราดูร นนทบุรี 7. รพ. สนาม อาคารหอพักแพทย์ รพ.กลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ส่วนที่ต่างจังหวัดมีดังนี้ 8. รพ.สนาม ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ 9. รพ.สนาม อาคารชาติชายฮอลล์ และอาคารลิปตพัลลภ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา 10. รพ.สนาม ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 11. รพ.สนาม ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่


12. รพ.สนาม ในพื้นที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มทบ.33 จ.เชียงใหม่ 13. รพ.สนาม ศูนย์การแพทย์แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย 14. รพ.สนามลำพูน จ.ลำพูน 15. รพ.สนาม ศูนย์พัฒนาสตรี จ.ลำปาง และ 16. รพ.สนาม สนามกีฬากลาง จ.นครสวรรค์

ส่วนดีแทคก็เพิ่มสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในโรงพยาบาลสนาม เพื่อสนับสนุนภาครัฐ หน่วยงานสาธารณสุข พร้อมขยายสัญญาณหลักและสำรอง รวมทั้งรถโมบายล์ด้วยคลื่น 700 MHz ที่โรงพยาบาลสนาม เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

ปตท.อัดงบ 30 ล้านช่วยโรงพยาบาลสนาม 

ขณะเดียวกันภาคเอกชนหลายๆ แห่งได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลายโรงพยาบาลขาดแคลน เช่น อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า บริษัทได้จัดงบประมาณกว่า 30 ล้านสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์และสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 เช่น ชุดป้องกันการติดเชื้อ หรือ PE Gown แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย

รวมถึง กล่องอนามัยสู้ภัย COVID-19 ที่ภายในประกอบด้วยเครื่องอุปโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แชมพู สำลีก้าน กระดาษทิชชู สเปรย์แอลกอฮอล์กลิ่นสตรอว์เบอร์รี Harumiki ที่ปลูกโดยใช้ความเย็นจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบประมาณสำหรับอุปกรณ์และสิ่งของที่จำเป็น ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี ฯลฯ เช่น แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบมีกล้อง ชุดป้องกันการติดเชื้อ เครื่องจ่ายแอลกอฮอล์

พร้อมทั้งให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC สนับสนุนชุดกาวน์จากเม็ดพลาสติกจีซีแก่จังหวัดระยอง ส่วน บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR สนับสนุนโรงพยาบาลสนาม จ.เชียงใหม่ ด้วยการมอบกาแฟดริป Café Amazon และเบเกอรี พร้อมสนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาท เป็นต้น


ส่วน บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ กฟผ. ระบุว่า เราได้มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อก่อน โดยเฉพาะตู้ตรวจโควิดซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองจำนวนมาก ล่าสุดได้สนับสนุนตู้ตรวจโควิด, เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ขนาดต่างๆ เสากดแอลกอฮอล์เจลแบบเท้าเหยียบ, ผ้าห่ม ENGY, น้ำดื่ม กฟผ., พัดลม และ ชุด PPE มอบให้กับโรงพยาบาลสนามในหลายจังหวัด 

"เศรษฐินีศรีราชา" ได้เห็นความตั้งใจของภาคเอกชนที่มีทั้งเอ่ยนาม และไม่ได้เอ่ยนามร่วมใจส่งสิ่งของจำเป็นไปยังโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นบุคคลด่านหน้าในการกรำศึกครั้งนี้ โดยสิ่งของเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ และจำเป็นต้องมีเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงหยุดการแพร่ระบาดนี้ให้เล็กลงเรื่อยๆ...เอาเป็นว่า ถ้าหากรอภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่ทันกาล... 

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th 

กราฟิก : Varanya Phae-araya


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ