ประมูลคลื่น 5 จี สุดคึกคัก 5 ค่ายโทรคมนาคมร่วมวงชิง โกยรายได้เข้ารัฐทะลักกว่า 1 แสนล้านบาท โดย “เอไอเอส” ควัก 42,060 ล้านบาท กวาด 23 ใบอนุญาต ถือครองคลื่นมากที่สุดกว่า 1,420 เมกะเฮิรตซ์ ด้านทรูมูฟ 17 ใบอนุญาต วงเงิน 21,448 ล้านบาท ตามมาเป็นรายที่ 2 ส่วนแคท 2 ใบอนุญาต 34,306 ล้านบาท ทีโอที 4 ใบอนุญาต วงเงิน 1,795 ล้านบาท ดีแทค 2 ใบอนุญาต วงเงิน 910 ล้านบาท กสทช.ชงบอร์ดเคาะออกใบอนุญาต 19 ก.พ.นี้
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำไปให้บริการ 5 จี จำนวน 49 ใบอนุญาต แบ่งเป็นคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จำนวน 3 ใบอนุญาต คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จำนวน 19 ใบอนุญาต และ 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) จำนวน 27 ใบอนุญาต ในวันที่ 16 ก.พ. มีผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็กเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งซีอีโอ แต่ละบริษัทเป็นผู้นำทีม ทยอยเดินทางมาสำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 ท่ามกลางกองเชียร์คึกคัก โดยแคทเป็นทีมแรกที่มาถึงในเวลา 07.00 น. ตามมาด้วยทีโอที ดีแทค ทรูมูฟ และเอไอเอส เป็นรายสุดท้ายมาถึงในเวลา 08.00 น.
ทั้งนี้ การประมูลเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น.กสทช.เริ่มการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ มีผู้เข้าประมูล 3 ราย คือ บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือแคท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยใช้เวลาประมูล 2 ชั่วโมง 30 นาที ถือว่ามีการแข่งขันกันรุนแรง มีเคาะราคารวม 20 ครั้ง ครั้งละ 440 ล้านบาท โดยราคาสุดท้ายต่อใบอนุญาตอยู่ที่ 17,153 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท ผลปรากฏว่า แคทคว้าไป 2 ใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 34,306 ล้านบาท เอไอเอสจำนวน 1 ใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 17,154 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 51,460 ล้านบาท ส่วนทรูมูฟยอมถอนตัว หยุดการเคาะราคาไปในครั้งที่ 20
ต่อมาเมื่อเวลา 12.50 น.เริ่มต้นประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาต ละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ใช้เวลาประมูล 40 นาที ผู้เข้าประมูลมี 3 ราย คือ เอไอเอส ทรูมูฟ และแคท มีการเคาะราคา 2 รอบ ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 1,956 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ผลปรากฏว่า เอไอเอสคว้าไป 10 ใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 19,561 ล้านบาท ส่วนทรูมูฟคว้าไป 9 ใบอนุญาต คิดเป็นเงิน 17,872 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 37,434 ล้านบาท ส่วนแคทหมอบไปหลังการผ่านเคาะครั้งแรก
จากนั้นในเวลา 14.30 น. จัดประมูลคลื่นสุดท้าย คือ คลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ มีผู้เข้าร่วมประมูล 4 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ทรูมูฟ, ทีโอที และดีแทค ใช้เวลาประมูลเพียง 20 นาที สิ้นสุดในราคาที่ 445 ล้านบาท จากราคาเริ่มต้น 443 ล้านบาท มีผู้ประมูลไป 26 ใบอนุญาต รวม 11,627 ล้านบาท เหลือ 1 ใบอนุญาตที่ไม่มีผู้ใดต้องการ การประมูลคลื่นนี้ จึงมีการเคาะราคาเพียงครั้งเดียวแล้วจบ
ผลปรากฏว่าเอไอเอสได้ไป 12 ใบอนุญาต ราคา 5,345 ล้านบาท ทรูมูฟ 8 ใบอนุญาต ราคา 3,576.80 ล้านบาท ทีโอทีจำนวน 4 ใบอนุญาต ราคา 1,795 ล้านบาท ดีแทค 2 ใบอนุญาต ราคา 910.4 ล้านบาท ทำให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำไปให้บริการ 5 จี จำนวน 49 ใบอนุญาตในครั้งนี้ มีประมูลไปทั้งหมด 48 ใบอนุญาต รวมเป็นเงินทั้งหมด 100,521.17 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เอไอเอสต้องการคงสถานะเบอร์ 1 ค่ายมือถือในประเทศไทย โดยไล่กวาดใบอนุญาตไปสูงสุดจำนวน 23 ใบอนุญาต คิดเป็นจำนวนคลื่น 1,310 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้ขณะนี้เอไอเอสถือครองคลื่นทั้งเก่าและใหม่ รวมประมาณ 1,420 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนทรูมูฟ มีคลื่นราว 990 เมกะเฮิรตซ์ และดีแทค 270 เมกะเฮิรตซ์ (จากการรวบรวมข้อมูลของ กสทช.)
ด้าน พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. กล่าวภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นว่า การประมูล 5 จี ครั้งนี้ใช้เวลา 5 ชั่วโมง 35 นาที โดยเริ่มเคาะราคาตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ถือเป็นการเสร็จสิ้นการประมูล และเตรียมนำเสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช. ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เพื่อรับรองผลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การใช้งานคลื่นความถี่นั้น คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จะใช้งานได้ในเดือน เม.ย.2564 ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อผู้ชนะประมูลมาชำระเงินงวดแรก ก็สามารถนำไป ใช้งานได้ทันที ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้จัดประมูลคลื่นความถี่ทั้งกิจการโทรคมนาคม และกิจการโทรทัศน์ คิดเป็นเงินรายได้นำส่งรัฐวงเงิน 560,713 ล้านบาท