AI กำลังถูกพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการใช้งานของมนุษย์ โดยการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยชั้นนำของโลก คาดว่าในปีนี้และอนาคตข้างหน้า เราจะได้เห็นองค์กรและผู้ใช้ไอทีต่าง ๆ นำ AI มาใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและขยายขอบเขตการควบคุม ด้วยการทำให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น
ทั้งการจัดตารางงาน การรายงาน และการติดตามผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ส่งผลต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของมนุษย์บางส่วน
โดยก่อนหน้านี้ บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) เพิ่งออกรายงานว่า เอไอจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่สายงานธนาคารมีความเสี่ยงที่จะถูกเอไอแย่งงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง ในช่วงไม่ถึง 5 ปีนับจากนี้
ด้านบิล เกตส์ เคยกล่าวไว้ว่า โลกในปี 2025 คนส่วนใหญ่จะใช้งาน AI จนเป็นเรื่องปกติ และ AI จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
แต่ความจริงแล้วเทรนด์ AI มาแรงกว่าที่คิด และไม่ได้ขับเคลื่อนมนุษย์เพียงอย่างเดียว ทว่ายังขับเคลื่อนโลกอนาคตด้วยความไวสูงอีกด้วย แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร? โดยเฉพาะคนที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดงาน และคนที่อยู่ในสายอาชีพเสี่ยง
เจาะข้อมูลของ OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) อ้างอิงหัวข้อ ทักษะและอาชีพที่ตลาดงานต้องการตามเทรนด์โลก จากรายงาน Future of Jobs 2023 ของ World Economic Forum (WEF) ชี้งาน ตำแหน่งงานที่จะเติบโตมากที่สุดยุคนี้ จะกระจุกตัวอยู่ในภาคส่วนเทคโนโลยี ราว 3 ใน 4 ภายใต้ 10 อาชีพมาแรง ดังนี้
1. ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ และการเรียนรู้ของเครื่อง
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
3. นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจ
4. นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยของข้อมูล
5. วิศวกรฟินเทค
6. นักวิเคราะห์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
7. วิศวกรหุ่นยนต์
8. วิศวกรเทคโนโลยีไฟฟ้า
9. ผู้ควบคุมอุปกรณ์การเกษตร
10. ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
ส่วนอาชีพที่จะหายไปในอนาคต ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นอาชีพที่เกี่ยวกับงานระบบอัตโนมัติ อย่างงานทำมือ หรือทำซ้ำ ๆ ตัวอย่างอาชีพ เช่น พนักงานบัญชี พนักงานบันทึกวัสดุและจัดเก็บสต็อก พนักงานคีย์ข้อมูล พนักงานแคชเชียร์ พนักงานขายตั๋ว และพนักงานธนาคารนั่นเอง
ด้านข้อมูลวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ตลาดแรงงานในไทยกำลังเปลี่ยนไป เพราะความต้องการผู้เชี่ยวชาญทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งในสาขาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เรื่อยไปจนถึงอุตสาหกรรมและภาคบริการ
แต่ความน่ากังวลอยู่ที่เยาวชนและประชากรวัยแรงงานของไทยกว่า 74.1% มีทักษะดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องการ Upskill/Reskill คนไทยเรียนคอร์สออนไลน์ เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัลและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อหวังให้ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานที่มีมากสูงขึ้น
ซึ่งจากข้อมูลในชุดเดียวกัน พบว่า จากปี 2565 มาปี 2566 คนไทยลงเรียนคอร์สออนไลน์ เพิ่มทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้นกว่า 50% โดย 5 อันดับหลักสูตรยอดนิยมของคนไทยบนแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ มีดังนี้
1. ปัญญาประดิษฐ์
2. การวิเคราะห์ข้อมูล
3. การบริหารจัดการธุรกิจ
4. การบริหารจัดการโครงการ
5. การทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัล
ทั้งนี้ OKMD สรุปว่า จากอาชีพพุ่งแรง และอาชีพที่จะเลือนหายไป เพราะถูกเอไอแทนที่ ตามทักษะที่ตลาดงานต้องการมากขึ้น
อาจไม่น่ากลัวเท่ามนุษย์ที่หยุดนิ่ง ไม่ยอมปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองให้พร้อมอยู่เสมอในยุคที่ AI และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ฉลาดและรุดหน้ามากขึ้น
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , OKMD ,บลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ,การ์ทเนอร์
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney