การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ครองอันดับ 2 ของภูมิภาคด้วยมูลค่าตลาดที่ทะลุ 1 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2030 ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคไทยใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada สูงถึง 50% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด แต่การเติบโตนี้มาพร้อมความท้าทาย ทั้งการแข่งขันที่ดุเดือดจากผู้ค้าทั่วโลก พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแรงกดดันด้านต้นทุน ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีคอมเมิร์ซยุคใหม่
ล่าสุด Priceza ได้จัดงานสัมมนาประจำปี Thailand E-Commerce Trends 2025 ภายใต้ธีม "Fearless for the Future" แบ่งปัน Insights สำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มอีคอมเมิร์ซไทย โดยเผย 5 เทรนด์สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดเตรียมความพร้อมสู่อนาคตของอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
The Rise of Affiliate Commerce
E-commerce รูปแบบใหม่ขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทยปี 2025 อ้างอิงจากผลสำรวจของ Google e-Conomy SEA Report 2024 กล่าวว่า ผู้บริโภคไทยนั้นซื้อสินค้าตามการรีวิวของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์มากกว่า 83% หากมีกระแสว่าสินค้าตัวไหนใช้ดี คนก็จะแห่กันไปซื้อตาม ดังนั้น Affiliate Commerce ในปี 2025 จึงต้องพึ่งพา 3C ได้แก่ Creators (ผู้สร้างสรรค์), Content (คอนเทนต์ เนื้อหาของสื่อ) และ Commerce (การค้าขาย)
หรือก็คือ เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่สร้างคอนเทนต์นั้นมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้นอีคอมเมิร์ซไทยปี 2025 จึงมีแนวโน้มว่าธุรกิจควรจะจับมือร่วมกับ Content creator เพื่อผลลัพธ์ทางการตลาดที่ดีมากขึ้น
Competition in Thailand E-Commerce is Heating Up
ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะเปิดทางให้มีการแข่งขันแบบเสรีมากขึ้นจากผู้ขายทั่วโลก และเมื่อมีการแข่งขันที่สูงนั้นหมายความว่าธุรกิจต่าง ๆ จะต้องมีกลยุทธ์ในการขายที่แตกต่างจากร้านอื่น โดยเฉพาะราคาคุ้มค่าในมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นรู้ดีว่าคนไทยชอบส่วนลดและสินค้าที่มีราคาถูก จึงทำให้เกิดการแย่งกันสร้างสินค้าและตั้งราคาถูกมากเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่นเดียวกับประเทศจีนยังคงผลิตสินค้าออกมาได้มากและส่งให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนจนทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น
แม้ว่าผู้บริโภคจะได้ผลประโยชน์จากสินค้าราคาถูกแต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเล็ก ๆ ในประเทศเพราะสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาเติบโตมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรมีการปรับตัวเพื่อที่จะไม่ถูกธุรกิจต่างประเทศกลืนกิน แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจตามมา เช่น การลดราคามากเกินไปจนทำให้ขาดทุนในตอนท้าย
E-Commerce Listening
คือการทำธุรกิจออนไลน์แบบ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อเสริมธุรกิจไทยแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซที่การแข่งขันสูง โดยเริ่มจากทำความรู้จัก 3C ได้แก่ Customers (ลูกค้า), Competitors (คู่แข่ง) และ Company (บริษัทของเราเอง) เราต้องเจาะข้อมูลเชิงลึกเพื่อที่จะเข้าใจว่าลูกค้าซื้ออะไรจากคู่แข่ง วิธีการขายหรือแม้แต่จำนวนชิ้นที่เขาขายได้ เราต้องควรจะต้องรู้จักคู่แข่งให้มากพอกับที่เราพยายามทำความรู้จักลูกค้า และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนว่าจะทำยังไงให้สินค้าเราขายดีด้วย E-commerce Listening ยิ่งรู้ลึกมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนากลยุทธ์การขายของบริษัทเราได้มากยิ่งขึ้น
E-Commerce Business Model Evolution
การตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดทำให้เหล่าเจ้าของธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อหาช่องว่างโตในปีนี้ สืบเนื่องจาก Temu ได้สร้างกระแสให้เกิดโมเดลธุรกิจ “ฝากขาย” ผู้ประกอบการที่มีการค้าขายในแพลตฟอร์ม เช่น Shopee, Lazada และ TikTok จะเริ่มเข้าสู่ Consignment model (สินค้าราคาโรงงาน) และค่าธรรมเนียมการขายสินค้าต่าง ๆ จะเริ่มสูงขึ้นเพราะการแข่งขันดุเดือด หากเราจะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมจะทำให้เราได้ส่วนลดจากแพลตฟอร์มที่น้อยลง และนั่นจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เพราะไม่ว่าใครก็เลือกร้านที่มีส่วนลดมากกว่าเพราะมองว่าคุ้มค่า หากร้านใดที่ไม่มีส่วนลด ผู้บริโภคก็พร้อมที่จะเทใจไปหาเลือกร้านอื่นมากกว่า
ดังนั้นในปี 2025 จึงมีแนวโน้มว่าหลายธุรกิจจึงเลือกที่จะไม่พึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านั้นอีกต่อไป แต่ออกมาเปิดเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เป็นของตัวแบรนด์นั้น ๆ เองโดยตรง เพราะถือเป็นการลดต้นทุนและได้เน้นขายผ่านบ้านหลักของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใครเติบโต หรือที่เรียกว่า Refocus on Own Retail Channel
Fast Delivery Like a Devil!
การจัดส่งที่ว่องไวเหมือนปีศาจคือจุดดึงดูดลูกค้าในปี 2025 เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ชอบการรอนาน ผู้ขายรายไหนส่งเร็วยิ่งได้ใจลูกค้าไปครอบครอง และหากร้านไหนส่งช้าลูกค้าก็พร้อมย้ายเจ้า ดังนั้นผู้ขายจึงต้องรีบแพ็กของและส่งของอย่างรวดเร็วแต่ก็ยังต้องคงไว้ซึ่งคุณภาพ เพราะหากของได้รับความเสียหายอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและคะแนนรีวิวที่ผู้บริโภคที่จะบ่งบอกถึงความประทับใจของลูกค้าที่มีต่อร้าน หรือหากส่งช้ากว่ากำหนดจะถูกตัวแพลตฟอร์มที่เราใช้กดดัน และในกรณีที่แย่ที่สุดอาจถูกระงับการขายรวมถึงถูกปิดร้านได้
ฉะนั้นการปรับตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซคือต้องว่องไวและมีคุณภาพ จึงจะได้ครองใจลูกค้าท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด
ทั้งนี้ในปี 2025 คือปีที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตมากขึ้น และนั่นหมายความว่าความเสี่ยงที่สูงก็จะตามมาเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับตลาดอีคอมเมิร์ซยุคใหม่มากขึ้น รวมถึงต้องมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อตั้งรับกับเทรนด์การตลาดใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน และไม่ใช่เพียงธุรกิจใหญ่ที่มีความท้าทาย แต่ธุรกิจ SME ก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่กระเป๋าเงินของลูกค้านั้นเล็กลง ดังนั้นการขายต้องมีกลยุทธ์ปรับตัวหลายอย่างเช่น Affiliate หรือการฝากขาย เพราะนอกจากเราต้องใช้อิทธิพลของอินฟลูเอนเซอร์ในการช่วยขายสินค้ายังต้องพัฒนามากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวเพื่อที่จะไม่ถูกธุรกิจจีนเข้ามาแทนที่เราได้ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์รอบข้าง และไม่ต้องลืมตัวว่าธุรกิจของเราเป็นอย่างไรเพื่อป้องกันการขาดทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่รอดในยุคที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันดุเดือดเช่นตอนนี้