กกร. หนุน ก.ม.แรงงานต่างด้าว ชี้ต้องจัดการค้ามนุษย์จริงจัง พร้อมขยับประมาณการส่งออกปี 60 โต 3.5-4.5% ใกล้เป้าพาณิชย์ที่ 5% คาดช่วงเหลือของปีชะลอตัว จากราคาน้ำมันโลก เงินบาทผันผวน พร้อมจับตามาตรการทางการค้าสหรัฐฯ...
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กรณีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รับทราบและเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาแรงงานทาสของภาครัฐ โดยเห็นว่าต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง และเข้าใจว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กำลังเสนอแนวแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ ครม.พิจารณา
ทั้งนี้การที่คสช.ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 180 วัน จากเดิม 120 วัน เป็นเรื่องที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนได้ทัน มองว่าพ.ร.ก.ดังกล่าวจะทำให้การจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นไปตามระเบียบ และลดปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยให้ลดลง และทำให้ไทยขยับขึ้นจาก Tier 2 ได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ กกร.ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 60 มาที่ 3.5-4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.0-3.5% เนื่องจากภาวะการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ขยายตัวได้ดี และน่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ อาจเข้าใกล้เป้าหมายที่ 5% ของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้การส่งออกอาจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากแรงหนุนด้านราคาที่น่าจะลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท โดยคงต้องติดตามมาตรการทางการค้าต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป
ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศยังอาจเผชิญความท้าทายจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่เริ่มลดลง และการเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องใช้เวลา กกร.จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 60 ไว้ที่ 3.5-4.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ได้ปรับลดประมาณการมาที่ 0.5-1.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1.0-2.0% หลังอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และอาจจะไม่เร่งขึ้นมากในช่วงครึ่งปี หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ขาดปัจจัยสนับสนุน
สำหรับภาพรวมตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนจากหลายปัจจัย แม้ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ พร้อมกับการเริ่มกระบวนการปรับลดงบดุลลงก่อนสิ้นปี ขณะเดียวกันธนาคารกลางอื่นๆ หลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณที่อาจจะลดการผ่อนคลายทางการเงินหากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนยังคงมีความผันผวน.