'อนุสรณ์' ชี้ผลกระทบ ก.ม.แรงงานต่างด้าว ฉุดจีดีพีไตรมาส 3 โตต่ำกว่า 3%

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

'อนุสรณ์' ชี้ผลกระทบ ก.ม.แรงงานต่างด้าว ฉุดจีดีพีไตรมาส 3 โตต่ำกว่า 3%

Date Time: 2 ก.ค. 2560 14:46 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • “อนุสรณ์” หนุนออก ก.ม.จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ชี้กำหนดโทษสูงอาจก่อให้เกิดทุจริต แนะปฏิรูปทั้งระบบ เปิดเสรีตลาดแรงงานสาขาที่ขาดแคลน เห็นด้วยชะลอบังคับใช้มาตรา 44 อย่างน้อย 6 เดือน ลดผลกระทบ หวั่นเศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะงัก...

Latest


“อนุสรณ์” หนุนออก ก.ม.จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ชี้กำหนดโทษสูงอาจก่อให้เกิดทุจริต แนะปฏิรูปทั้งระบบ เปิดเสรีตลาดแรงงานสาขาที่ขาดแคลน เห็นด้วยชะลอบังคับใช้มาตรา 44 อย่างน้อย 6 เดือน ลดผลกระทบ หวั่นเศรษฐกิจไตรมาส 3 ชะงัก...

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง การผ่านพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในการจัดระเบียบการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เนื่องจากมีจำนวนเกือบ 4 ล้านคน และในจำนวนนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งการจัดระเบียบนี้จะช่วยก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว การบริหารระบบแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดูแลสวัสดิการแรงงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวได้ดีขึ้น จัดการระบบกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาสลงได้ ควบคุมดูแลโรคติดต่อ การจัดการศึกษาให้กับลูกของคนงานต่างด้าวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การจัดการในมิติความมั่นคงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายออกมาบังคับใช้โดยไม่ได้ให้ระยะเวลาการปรับตัวและเตรียมการน้อยเกินไป ประกอบกับมีแรงงานจำนวนมากเกือบ 1 ล้านคนที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย สะท้อนว่า ไทยมีภาวะการขาดแคลนแรงงานระดับล่างขั้นรุนแรง ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหาสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานและการปิดดำเนินงานชั่วคราวของกิจการต่างๆ ที่อาศัยแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการบรรเทาลง หากมีการใช้มาตรา 44 ในการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวไปก่อน

ส่วนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และมีแรงงานจำนวนมากได้กลับประเทศ และส่วนหนึ่งคงจะไม่กลับมาทำงานที่เมืองไทย การกลับมาทำงานอาจมีต้นทุนสูงเกินไปสำหรับแรงงานบางส่วน ภาระนี้อาจเกิดขึ้นกับนายจ้างที่ต้องการแรงงานและไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานจากตลาดแรงงานในไทยได้ คาดว่าผลกระทบ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวน่าจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ชะลอตัวลง อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3% ได้ในไตรมาส 3 เกิดการชะงักงันในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังเร่งรัด

ขณะเดียวกัน เมื่อกฎหมายออกมาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน มีโทษสูงและขึ้นอยู่กับอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ จึงอาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างแพร่หลายและเป็นการยากที่จะควบคุม และในระยะยาวแล้ว พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวจะทำให้แรงงานต้องขึ้นทะเบียนและเข้ามาอยู่ในระบบ จะลดปัญหาการทุจริตติดสินบนได้อย่างเป็นระบบ แต่ พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการปัญหาทุจริตติดสินบนในตลาดแรงงาน เมื่อทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีต้นทุนต่ำกว่าการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ หากการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีขั้นตอนความยุ่งยากใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

พร้อมระบุจะเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอุตสาหกรรมและงานบางลักษณะ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะกรรมกรก่อสร้าง ช่างประเภทต่างๆ และวิศวกร อุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว พนักงานบริการในร้านอาหารและโรงแรม คนขายของตามตลาดสด อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ งานแม่บ้าน และกิจการดูแลผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น มีแรงงานไทยจำนวนมากขึ้นตามลำดับที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ การไหลออกของแรงงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคต่างๆ ทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทักษะต่ำไม่สามารถทดแทนได้ เกิดความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน การปรับค่าแรงตามมาตรฐานแรงงานฝีมือแรงงานจึงมีความจำเป็นต่อการรักษาแรงงานทักษะและช่างเทคนิคให้ทำงานในระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป

อย่างไรก็ตามภาวะการเลิกจ้างยังคงมีอยู่ในกิจการอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น กิจการบริการสถานบันเทิงมีการเลิกจ้างสูงในช่วงที่ผ่านมา กิจการก่อสร้างขนาดเล็ก กิจการสื่อสารมวลชน (กระทบหนัก คือ สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิทัลและธุรกิจโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม) กิจการทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลัง การเลิกจ้างน่าจะมีแนวโน้มลดลง แม้อัตราว่างงานจะสูงที่สุดในรอบ 7 ปี แต่อัตราการว่างงานยังคงต่ำกว่า 2% และตลาดแรงงานยังค่อนข้างตึงตัวในหลายส่วน และแรงงานในบางประเภทยังคงขาดแคลน รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีการเปิดกว้างอนุญาตให้แรงงานบางประเภทเข้ามาทำงานได้เพิ่มขึ้น หรือพิจารณาให้มีการเปิดเสรีตลาดแรงงานในส่วนที่ขาดแคลนอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบจาก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว และปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ดังนี้ 1.เสนอแนะให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน และให้มีศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและขอใบอนุญาตทำงานตามสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่ให้กลับไปที่ชายแดน ส่วนพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและต้องพิสูจน์สัญชาติจึงให้ไปขึ้นทะเบียนที่ชายแดน

2.เสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ และจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ พ.ศ. 2561 แทน พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และให้เกิดการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติของแรงงานวิชาชีพชั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ชาวต่างชาติ มิติทางด้านการศึกษาวิจัยและ การถ่ายทอดเทคโนโลยี มิติด้านสวัสดิการและความเป็นธรรมในการจ้างงาน มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง มิติด้านสาธารณสุขและสุขอนามัย มิติด้านการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาส มิติด้านโครงสร้างประชากร, สังคมสูงวัยและกระบวนการให้สัญชาติไทย มิติด้านความสมดุลการเปิดเสรีตลาดแรงงานและการปกป้องตลาดแรงงานของคนไทยหรือการสงวนอาชีพ มิติความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิติผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต มิติภาระทางการคลัง เป็นต้น

3.เนื้อหาของพระราชบัญญัติการปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ควรครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน เตรียมกลไกและระบบรองรับสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก ประเด็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประเด็นความเป็นธรรมและสวัสดิการในการจ้างงานให้ชัดเจน

4.รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และอำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย และแรงงานต่างชาติในไทยควรได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกันอันเป็นมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ 5.รัฐควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและโรงงานที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นซึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก นำเทคโนโลยี Automation และหุ่นยนต์มาทำงานแทนสำหรับการผลิตแบบซ้ำๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายกลับประเทศในอนาคตของแรงงานต่างด้าว

และ 6.รัฐและเอกชนต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับคนงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงานเพื่อให้แรงงานรวมทั้งครอบครัวเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งเป็นพลเมืองต่างชาติที่มีคุณภาพในสังคมไทย อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยและความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อยที่สุด ควรให้การศึกษาเรื่องภาษาไทย ความปลอดภัยในการทำงานและกฎหมายพื้นฐานของไทย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ