บริษัท โตโยต้าฯ จับมือองค์การระหว่างประเทศ เปิดเสวนา ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชน อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความตระหนักต่อสาธารณชน ต่อวิกฤติการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
วันที่ 23 พ.ค. 60 ที่โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท 24 นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดการเสวนา THE ROAO AHEAD : TOYOTA and THE IUCN RED LIST OF THREATENED SPECIES เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงวิกฤติการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นการร่วมมือระหว่าง โตโยต้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)
สำหรับความท้าทายของโตโยต้าในครั้งนี้ คือการร่วมมือกับ IUCN ซึ่งเริ่มต้นสนับสนุนงบประมาณ ราว 41 ล้านบาท สำหรับวิเคราะห์แนวโน้มและสถานภาพการถูกคุกคามของสิ่งมีชีวิต ภายใต้โครงการ บัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ดร.เจน สมาร์ท ผู้อำนวยการกลุ่มงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและแผนงานชนิดพันธุ์ขององค์การระหว่างประเทศ เผยว่า การจัดบัญชีแดง หรือ IUCN Red List เพื่อรายงานข้อมูลถึงการคุกคามของชนิดพันธุ์ต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายของชีวภาพ โดยเชื่อว่าบัญชีแดงของ IUCN จะเป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่สมบูรณ์แบบสามารถช่วยคนได้ และช่วยเหลือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงสามารถดูการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านั้นได้
"จากการประเมินสถานภาพของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน พบกว่า 85,600 ชนิด ซึ่งถูกคุกคามมากถึง 24,300 ชนิด ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์กลุ่มปรง 63% กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 42% กลุ่มไม้จำพวกสน 34% กลุ่มปะการังในเขตน้ำอุ่น 33% กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 26% และกลุ่มสัตว์ปีก 13%"
ด้าน นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผย หวังว่างานครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนชาวไทย
นอกจากการสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว โตโยต้า ยังคงเดินหน้าเพื่อสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการ โตโยต้าเมืองสีเขียว เป็นกิจกรรมสำคัญคือจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ในชื่อ ชีวพนาเวศ สำหรับเผยแพร่การเรียนรู้ระบบนิเวศ รวมทั้งได้สัมผัสประสบการณ์จริงในห้องเรียนธรรมชาติ โดยมีนักเรียนเข้าเรียนรู้แล้วกว่า 15,000 คนต่อปี.