สนช.ไฟเขียวปฏิรูปภาษี ชงเพิ่มแวต 1% เก็บอัตราแตกต่างตามประเภทสินค้า

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สนช.ไฟเขียวปฏิรูปภาษี ชงเพิ่มแวต 1% เก็บอัตราแตกต่างตามประเภทสินค้า

Date Time: 18 พ.ค. 2560 16:48 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • สนช.เห็นชอบปฏิรูปโครงสร้างภาษี ตามที่ กมธ.เสนอ ไม่ให้บริษัท-ห้างหุ้นส่วนรวมบัญชีเดียวกันเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ชงเก็บแวตเพิ่มอีก 1% ผุดภาษีลาภลอย รับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดันที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น เสนอ ครม.พิจารณา...

Latest


สนช.เห็นชอบปฏิรูปโครงสร้างภาษี ตามที่ กมธ.เสนอ ไม่ให้บริษัท-ห้างหุ้นส่วนรวมบัญชีเดียวกันเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ชงเก็บแวตเพิ่มอีก 1% ผุดภาษีลาภลอย รับลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดันที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น เสนอ ครม.พิจารณา...

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณารายงานเรื่องแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สนช.เป็นผู้เสนอ โดยนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ รายงานสาระสำคัญว่า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้มีการปฏิรูประบบภาษีอากรมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี 2535 ที่เปลี่ยนจากการใช้ภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ผ่านมาการปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากรส่วนใหญ่จะดำเนินการเป็นส่วนๆ เช่น การปรับขั้นและอัตราภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มเพดานและอัตราภาษีสรรพสามิต และการปรับโครงสร้างอากรขาเข้าเป็นกลุ่มสินค้า เป็นต้น ซึ่งไม่ได้พิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากรในภาพรวมทั้งระบบ อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลมีภาระด้านรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการดำเนินการตามนโยบายในโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนได้

ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะบางประเด็น อาทิ 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายเดียวกันที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่างๆ หลายแห่งจะต้องทำการแยกบัญชีรายได้และรายจ่ายของสาขาแต่ละแห่งแยกออกจากกัน เพื่อเสียภาษีในเขตพื้นที่ที่สาขานั้นๆ ตั้งอยู่โดยตรง โดยไม่ให้มีการรวมบัญชีเดียวกันเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป
       
 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีศุลกากรลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีศุลกากร ส่วนกรณีของประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในรูปแบบอัตราเดียว ย่อมอาจจะไม่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศ จากกรณีดังกล่าวจึงเห็นว่าควรมีการจัดเก็บในรูปแบบที่มีหลายอัตรา โดยพิจารณากำหนดจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า ว่าสินค้าประเภทใดมีความจำเป็นในการนำเข้าส่งออกและบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมอีกร้อยละ 1 โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท
       
3. ภาษีลาภลอย ปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้ ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังควรมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษีในต่างประเทศและควรเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
       
ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.เห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าวโดยไม่มีการลงมติ จากนั้นจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ