Illustrator กับโลกที่เหวี่ยงเร็วและแรง หลายโค้งวัดใจในชีวิตของ "Chubbynida"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

Illustrator กับโลกที่เหวี่ยงเร็วและแรง หลายโค้งวัดใจในชีวิตของ "Chubbynida"

Date Time: 11 ม.ค. 2568 05:00 น.

Summary

  • ชนิดา อารีวัฒนสมบัติ นักวาดภาพประกอบ (Illustrator)ในนาม Chubbynida จะโลดแล่นอยู่ในวงการ Illustration มากว่า 13 ปีแล้ว แต่เธอยังต้องหาเวลา “Reborn” หรือทำตัวเองให้เหมือน “เกิดใหม่” อยู่เสมอ

Latest

วันเด็ก ปี 2568 จูงมือ “ลูก” เที่ยวห้างไหนดี?

“ถ้าถามว่าอาชีพนักวาดภาพประกอบ (Illustrator) ทำมาหาเลี้ยงตัวได้ไหม คำตอบคือได้ แต่กำลังใจต้องดี บางช่วงเวลาอาจต้องหางานอื่นทำเพิ่ม เพราะมีรายได้ทางเดียวน่าจะเสี่ยงเกินไป แต่ถ้าตั้งใจหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นตัวตนและการขายงานเชิงพาณิชย์ให้ได้ เชื่อว่าทุกคนจะไปถึงจุดที่หาเลี้ยงตัวจากอาชีพนี้ได้ แม้จะรวยยาก”

ทุกวันนี้แม้ ชนิดา อารีวัฒนสมบัติ นักวาดภาพประกอบ (Illustrator)ในนาม Chubbynida จะโลดแล่นอยู่ในวงการ Illustration มากว่า 13 ปีแล้ว แต่เธอยังต้องหาเวลา “Reborn” หรือทำตัวเองให้เหมือน “เกิดใหม่” อยู่เสมอ

“ปัญหาของคนที่คิดจะทำรายได้จากสิ่งนี้คือ เราทำงานออกมาได้สวยจริง มีคนชอบจริง แต่ลูกค้าไม่ซื้อเพราะไม่รู้และคิดไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไร เอาไปขายอะไร บ่อยครั้งนักวาดภาพจึงมักมีอาการ “หมดไฟ” (Burn out)”

คุณนิดาในวัย 32 ปี เริ่มต้นวาดภาพประกอบอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2554 ขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร “ช่วงนั้นน้ำท่วมใหญ่ มหาวิทยาลัยหยุดยาว โซเชียลมีเดียเริ่มเบ่งบาน จึงเริ่มวาดภาพลงในเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ใช้ชื่อว่า Chubbynida ตั้งแต่นั้น ลายเซ็นของตัวเองตอนนั้น เน้นลายเส้นเยอะ วาดเส้นผมละเอียด ประณีต มีความเป็น Feminine (ผู้หญิง) ตอนนั้นคนชอบเยอะ เพจเฟซบุ๊กมีคนติดตาม 6 หมื่นกว่าคน มีคนจ้างวาดภาพ ออกแบบลายเสื้อ เคสไอโฟน เป็นการเริ่มต้นหาเงินด้วยตัวเอง ตั้งแต่ตอนนั้นก็ไม่เคยขอเงินที่บ้านอีกเลย โชคดีที่ไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย”

แม้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่พอเรียนจบคุณนิดากลับรู้สึก “ตัน” ไปต่อไม่ได้ ไม่ชอบ ไม่อินกับงานของตัวเอง จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่ Kingston University of London เอก Illustration Design ซึ่งเธออธิบายชีวิตช่วงนั้นว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด หัวโล่ง ได้กลับมาสำรวจตัวเองใหม่ เพราะระบบการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาทะลุกรอบ ค้นพบตัวเอง

ผ่านกระบวนการ Reborn คุณนิดาตัดสินใจลบภาพงานคอลเลกชันเก่าออกจากเพจเฟซบุ๊กจนหมด เพื่อลบลายเส้นแบบเดิม มีลูกค้าจ้างให้วาดภาพสไตล์เดิมก็ไม่รับ เพราะต้องการเริ่มต้นใหม่ เธอเล่าว่า หลังเรียนจบจากอังกฤษก็ยังดิ้นรนต่อสู้กับความรู้สึกตัวเอง ไม่อยากกลับเมืองไทย หาสไตล์ของตัวเองไม่เจอ แต่เมื่อต้องกลับเมืองไทยจึงลองทำงานประจำเป็นครั้งแรกกับบริษัทที่ปรึกษา ไปช่วยทำเรื่อง Design Thinking และ Virtual Thinking ทำอยู่เกือบ 2 ปี จนเรียนรู้ว่างานประจำไม่ใช่ทางของตัวเอง จึงกลับมาทำฟรีแลนซ์วาดภาพประกอบเช่นเดิม

“ตอนนั้นเริ่มใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเผยแพร่งานของตัวเองอีกครั้ง ทั้งเฟซบุ๊กและไอจี ไปงานออกบูธ ขึ้นเวทีประกวดผลงาน ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้บ้าง จนเริ่มมีคนชื่นชอบ มีลูกค้าให้โอกาส ลูกค้ารายแรกๆเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ Savvi จากนั้นโอกาสก็เข้ามาเรื่อยๆ มีงานจ้างจากสิงคโปร์ ทำ Key Visual ให้งานอีเวนต์ Public Garden และทำปฏิทินให้ Laneige สิงคโปร์”

แต่จุดเปลี่ยนผ่านจริงๆอยู่ที่โอกาสที่ได้ร่วมงานกับตั้ง-ตะวันวาด วนวิทย์ หรือ TangBadVoice ในการทำแอนิเมชันเพลงลิ้นติดไฟ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ออกกองถ่ายมิวสิกวิดีโอไม่ได้ ทีมงานของ TangBadVoice จึงริเริ่มทำเป็นแอนิเมชันแทน ปรากฏมียอดเข้าชม 24 ล้านวิว เป็นที่โจษจัน ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากนั้นลูกค้าจึงเริ่มหลั่งไหลเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น AP, แสนสิริ, ฮาตาริ, กลุ่มเซ็นทรัล, เลย์ และไอศกรีม Guss Damn Good เป็นต้น

ถึงวันนี้คุณนิดาบอกว่า เพิ่งรู้สึกว่าลืมตาอ้าปากได้ ขอบคุณตัวเองที่พยายามและไม่ถอดใจ ทั้งที่ผ่านหลายโค้งวัดใจ เกือบถอดใจไปหลายโค้ง เธอเพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดซีเอชบีวาย ดีไซน์ สตูดิโอ เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา จ้างฟรีแลนซ์เข้ามาช่วยงาน ตอนยุ่งมากๆและไม่สามารถทำงานได้เพียงคนเดียว มีรายได้ต่อปีขยับใกล้ 2 ล้านบาท และสิ่งที่น่าภูมิใจยิ่งคือคำพูดของมารดา ที่บอกว่าหมดห่วงและภูมิใจในตัวเธอ

ปัจจุบันลายเส้นใหม่ของคุณนิดา ที่เธออธิบายสไตล์ของตัวเองไว้ว่า “มีชีวิตชีวา สดใส ติดตลก เกินจริง ด้วยการวาดสรีระที่ไม่อิงตามสัดส่วนจริง ทั้งหัวโต ขา-แขนใหญ่” ได้รับความชื่นชอบจากผู้คนจำนวนมาก วัดได้จากผลงานความร่วมมือกับแบรนด์ใหญ่ โดยไตรมาสแรกของปี 2568 มีโปรเจกต์ Collaboration กับอีก 2-3 แบรนด์ที่เตรียมจะเปิดตัว

“ทุกวันนี้แม้มีอาการหมดไฟเป็นช่วงๆ แต่ภาพรวมยังสนุกอยู่ รู้ว่าต้องตั้งสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีงานต้องทำ มีลูกค้าต้องดูแล ปีนี้ยังเป็นปีที่ตั้งใจจะ Reborn อีกครั้ง กลับมาค้นหาตัวเอง อยากขยับไปเป็นศิลปิน (Artist) เพราะการเป็นนักวาดภาพประกอบ (Illustrator) คือการทำภาพประกอบเพื่อการสื่อสารผ่านช่องทางหลากหลาย แต่การเป็นศิลปินคือการเล่าเรื่องที่เราตีความออกมาให้คนได้รับรู้ มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการขยับไปออกแบบคาแรกเตอร์ (Character)”

เคล็ดลับความสำเร็จที่คุณนิดาอยากฝากถึงรุ่นน้อง คือการหาความพอดีหรือตรงกลางระหว่างสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปและความเป็นตัวของตัวเอง เปิดรับสิ่งใหม่ เพราะโลกเหวี่ยงเร็วและแรง โดยต้องยอมฝืนใจบ้าง “ถ้าได้รับโอกาส ให้ทำความเข้าใจลูกค้าให้มากที่สุด สร้างภาพประกอบให้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง ส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาควรได้รับและเท่าที่เราจะให้เขาได้” คุณนิดาปิดท้ายแบบคนวัย 32 ที่เข้าใจชีวิต.

เลดี้แจน

คลิกอ่านคอลัมน์ “Business on my way” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ