ปัจจุบัน ธุรกิจขายของออนไลน์ ไม่ได้เป็นแค่อาชีพเสริม แต่ได้กลายเป็น “อาชีพหลัก” ของใครหลายๆ คน ตลาดเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ มีช่องทางการขายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, Facebook, Line Shopping, Instagram เรื่อยไปจนถึง TikTok Shop ที่กำลังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับนักขายหน้าใหม่ หรือสร้างเศรษฐีเงินล้านมาแล้วนักต่อนัก
ธุรกิจขายของออนไลน์ ยังถูกระบุว่าเป็นธุรกิจที่สามารถเริ่มต้นได้ง่าย เพราะใครที่อยากขายก็สามารถทำได้ทันที ต่อให้ไม่มีหน้าร้าน เพียงแค่เรียนรู้ มีเทคนิคการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อลงสินค้าซื้อขายให้ถูกต้องน่าสนใจเท่านั้น ก็สามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ของตัวเองได้แล้ว แต่ทว่า อาจไม่ง่ายเสมอไป ถ้ายังไม่รู้เรื่องเหล่านี้
ข้อมูลแนะนำจากหอการค้าไทย ระบุว่า เบื้องต้นมีข้อควรรู้สำหรับผู้อยากขายของออนไลน์ ดังนี้
1. รู้จักสินค้าและกลุ่มเป้าหมาย
- ต้องการขายสินค้าแบบไหน
- ต้องสั่งซื้อหรือผลิตอย่างไร
- สามารถเก็บสินค้าไว้ที่บ้านหรือโกดังได้เท่าไหร่
- ขายราคาเท่าไหร่จึงจะได้กำไร ถ้าหากแบ่งกับทางแพลตฟอร์ม
- รู้เท่าทันกระแสนิยมของสินค้า
2. แหล่งขายสินค้าต้องสัมพันธ์กับต้นทุน
- รู้จักแหล่งขาย/แหล่งผลิตสินค้าดีๆ
- ค่าน้ำมันในการเดินทางหรือค่าขนส่ง
- ต้นทุนต่างๆ จะได้คืนมาเมื่อไหร่
- ทุนสำรองต้องมี
3. ชื่อร้านคือสิ่งแรกที่ลูกค้าจะจดจำ
- เป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย
- มีความเกี่ยวโยงกับสินค้า
- สามารถค้นหาได้ง่าย
4. รู้ทิศทาง/การตลาดออนไลน์ของตัวเอง
- แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะขาย มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ขายรายใหม่หรือไม่
- ถ้ามี จะเอาเงินส่วนนี้ไปทำอะไรต่อ
5. รู้จักแพลตฟอร์ม E-Commerce ต่างๆ
- ข้อดี/ข้อเสีย ของแต่ละแพลตฟอร์ม
- จะเปิดที่ช่องทาง เปิดมากคนเห็นมาก แต่ก็บริหารจัดการยากขึ้น
1. Shopee แพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับต้น ๆ ในไทย ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะเข้ามาหาของจิปาถะทั่วไป และมีราคาถูกเป็นหลัก ถ้าอยากขายของออนไลน์ให้ได้มาก ๆ ช่องทางนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี
2. Lazada เป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่อยู่มานานกว่า Shopee จึงมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างเหนียวแน่น การกำหนดราคาต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มนี้ ก็ไม่ถือว่าเชือดเฉือนกดราคากันเกินไปนัก
3. TikTok ปัจจุบันสามารถขายของออนไลน์บน TikTok ได้แล้ว อีกทั้งยังมีพื้นที่ให้ทำคอนเทนต์ และไลฟ์สดเรียกลูกค้าได้อย่างง่ายดายกว่าแพลตฟอร์มอื่น ค่อนข้างเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสำหรับผู้ขายที่ต้องการเจาะตลาดหรือมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ในช่วงวัย 13–25 ปี
4. Facebook Marketplace ด้วยระบบ Facebook Marketplace ทำให้ทุกคนสามารถโพสต์ขายสินค้าต่าง ๆ ได้ในหน้าเฟสบุ๊กส่วนตัว รวมไปถึงหน้าเพจต่าง ๆ ซึ่งผู้ขายสามารถพูดคุยกับผู้ซื้อได้ทันทีแบบเรียลไทม์
5. Line Shopping นอกจาก Line จะเป็นแพลตฟอร์มส่งข้อความอันดับหนึ่งของชาวไทยแล้ว ระบบ Line Shopping ยังทำให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถเปิดร้านเพื่อขายสินค้ากันได้อย่างง่ายดาย พร้อมเครื่องมือและระบบต่าง ๆ ที่จะทำให้ปิดการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา: หอการค้าไทย
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney