ดราม่า “Subway” ปมสิ้นสุดแฟรนไชส์ ลูกค้าโวยคุณภาพหด แบรนด์พัง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ดราม่า “Subway” ปมสิ้นสุดแฟรนไชส์ ลูกค้าโวยคุณภาพหด แบรนด์พัง

Date Time: 6 พ.ย. 2567 12:01 น.

Video

นักลงทุนรุ่นใหม่ ยังเป็น VI ได้ไหมในยุคนี้กับ “เซียนมี่ ทิวา” และ ”นิ้วโป้ง อธิป“ | Money Issue

Summary

  • สรุปดราม่า "Subway" เกิดอะไรขึ้น? หลังสิ้นสุดแฟรนไชส์ 105 สาขา ผู้บริโภคโวยคุณภาพหด แบรนด์พัง ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบขาด, กระดาษห่อไม่มีพิมพ์ลาย สีกระดาษลอกติดมือ ก่อให้เกิดประเด็นร้อนบนโลกโซเชียลส่งตรงไปยังแบรนด์ ล่าสุด Subway Thailand ออกมาชี้แจง แต่ก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าใครเป็น ‘มาสเตอร์แฟรนไชส์’ กันแน่? จับตาสงครามภายใน Subway จะไปทางใด และผู้บริโภคจะได้อะไรต่อจากนี้

Latest


กลายเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบเมื่อผู้บริโภคสังเกตว่า “Subway” แบรนด์แซนด์วิชชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา คุณภาพไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่วัตถุดิบยันแพ็กเกจจิ้ง จนกลายเป็นกระแสดราม่าบนโลกออนไลน์

แต่แล้วคำถามทั้งหมดก็กระจ่างเมื่อ Subway Thailand โพสต์ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า “เนื่องจากตอนนี้เราได้รับข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหาร, วัตถุดิบขาด, กระดาษห่อไม่มีพิมพ์ลาย Subway, กระดาษห่อลาย Subway สีเลอะติดอาหาร ขนมปังไม่ใช่ของ Subway และอื่น ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก

“จากการตรวจสอบพบว่าลูกค้าไปใช้บริการจากร้าน Subway ที่ถูกยกเลิกสิทธิ์แฟรนไชส์ไปตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2567 ไปแล้ว เช่น Food generation สาขา CP ทาวเวอร์ สีลม, ปตท. บางแสน, ปตท. สุขสวัสดิ์, เชลล์ ลาดพร้าว, ทองหล่อ, เชลล์ ท่าพระ, คาลเท็กซ์ ประชานุกูล, ดิ อัพ พระราม 3, บางจาก ราชพฤกษ์ และอื่นๆ ดังนั้น หากลูกค้าประสงค์ที่จะสั่งหรือซื้อ Subway สามารถสังเกตหน้าร้าน จะต้องมีเลขที่ร้านและเครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise จะเป็นแฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิโดยถูกต้องพร้อมบริการตามปกติ มีอาหารและวัตถุดิบครบทุกเมนู รวมทั้งอะโวคาโด, มะกอก และอื่นๆ ถูกต้องตามมาตรฐานของ Subway โดยบริษัทได้แนบรายชื่อสาขาที่เป็นร้านแฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิ์โดยถูกต้อง และร้านที่ถูกยกเลิกสิทธิ์แฟรนไชส์มาพร้อมกันนี้ทางบริษัทกำลังเร่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย”

นอกจากนี้ ทาง Subway ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการสังเกตสาขาที่ยังรับแฟรนไชส์อยู่ โดยสามารถสังเกตได้ที่หน้าร้าน ซึ่งจะมีเลขที่ร้านและเครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise รวมถึงมีบริการตามปกติ มีอาหาร วัตถุดิบครบทุกเมนูตามมาตรฐานของ Subway

พร้อมเปิดเผยรายชื่อสาขาที่เป็นร้านแฟรนไชส์ได้รับสิทธิ์ถูกต้องจำนวน 51 สาขา เช่น สยามพารากอน, เอ็มควอเทียร์, ฟอร์จูนทาวน์, ไทม์สแควร์ ฯลฯ และรายชื่อสาขาที่สิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์ไว้ด้วยเช่นกัน จำนวน 105 สาขา ไม่ว่าจะเป็น ซี.พี.ทาวเวอร์สีลม, เดอะมอลล์บางแค ฯลฯ

หลังจาก Subway Thailand โพสต์ชี้แจง มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก บ้างก็บอกว่า “ไม่ควรให้เค้าใช้แบรนด์ Subway ต่อนะ” “แล้วใครจะรับผิดชอบผู้บริโภคคะ”

ทำให้ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ย. 2567) มีจำนวนผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 4.2 พันครั้ง ยอดแชร์กว่า 1.4 หมื่นครั้ง และผู้กดไลก์จำนวน 1.5 หมื่นครั้ง เรียกได้ว่าสร้างกระแส Talk of the Town ให้กับวงการแซนด์วิชในเมืองไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หากดูจะพบว่ากรณีการชี้แจงของ Subway Thailand ไม่ใช่เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อเกิดปัญหา เพราะหากดูจะพบว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา Subway Thailand ได้มีการออกหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงร้านอาหาร Subway® ในประเทศไทยไว้ก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน โดยมีข้อความระบุว่า

“บริษัท โกลัค จำกัด” หรือ “โกลัคฯ” ขอประกาศต่อท่านลูกค้าและผู้ใช้บริการทั้งหลายว่า โกลัคฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิในการให้และเปิดแฟรนไชส์ร้านอาหาร Subway® โดยชอบ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย (Master Franchisee) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยโกลัคฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุม ดูแล ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ร้านอาหาร Subway® ทั้งหมดในประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิดังกล่าว

นอกจากนี้ โกลัคฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัท กู๊ด เจเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเคยเป็นผู้รับแฟรนไชส์และดำเนินกิจการร้านอาหาร Subway® นั้นได้สิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์ร้านอาหาร Subway โดยสิ้นเชิงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป”

ผู้บริโภคเสียหาย ใครรับผิดชอบ?

ซึ่งในกรณีนี้เมื่อมีการยกเลิกแฟรนไชส์ ความหมายคือ ห้ามมีการขายภายใต้ชื่อแบรนด์ แต่พบว่ายังมีสาขาที่เปิดให้บริการตามปกติ ส่งผลให้การสังเกตร้านที่ได้รับสิทธิ์หรือไม่ ต้องไปอยู่ที่ผู้บริโภค โดยหลายคนมองว่านี่คือการผลักภาระให้ผู้บริโภค ทั้งที่คือการสร้างความเสียหายให้แบรนด์ ดังนั้นแบรนด์จึงควรออกมาทำอะไรที่มีรูปธรรมมากกว่านี้

ซึ่งทาง Subway เองก็ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ในส่วนของร้านค้าแฟรนไชส์ที่ถูกยกเลิกสิทธิ์แฟรนไชส์ และยังคงฝ่าฝืนดำเนินการเปิดร้านอยู่นั้นทางบริษัทกำลังเร่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย”

พร้อมกับตั้งคำถามใหญ่ของสังคมว่า ใครเป็น ‘มาสเตอร์แฟรนไชส์’ กันแน่? ในเมื่อสัญญาของ บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ครอบคลุมไปจนถึงปี 2575 แต่ฝั่งของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ประกาศเป็นเจ้าของ Master Franchise Subway แต่เพียงผู้เดียว ผ่านบริษัท โกลัค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลทางด้านงบการเงินจะพบว่า บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น จำกัด ก่อตั้งปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท ซึ่งผู้ก่อตั้งคือ “ธนากร ธนวริทธิ์” ข้อมูลงบการเงินปีล่าสุด 2565 ระบุว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 169 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 294 ล้านบาท 

ขณะที่ บริษัท โกลัค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 29 ก.พ. 2567 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีประวัติการส่งงบการเงิน แต่ในฝั่งของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโกลัค จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อ 28 พ.ย. 2538 ด้วย ทุนจดทะเบียน 1,670 ล้านบาท รายได้รวมปี 2566 อยู่ที่ 30 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 559 ล้านบาท 

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สงครามภายในของ Subway จะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งในมุมของผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ เจ้าของ Master Franchise และที่สำคัญคือ “ผู้บริโภค” ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ไปเต็มๆ

แต่ที่แน่ๆ กระแสนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งได้เรียกผู้เข้าไปใช้บริการ Subway ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะต้องการรู้ว่าคุณภาพนั้นเป็นจริงดังโลกโซเชียลโอดหรือไม่? และสาขาใกล้บ้านของตนเป็นสาขาที่ได้รับสิทธิ์ด้วยใช่หรือเปล่า?

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ